ไม่พบผลการค้นหา
"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" คว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ชูนโยบายทำงานเป็นทีม ‘อเวนเจอร์ประชาธิปัตย์’ ให้โอกาสทุกคนทำงานเพื่อพรรคและประชาชน หลักสร้างศรัทธา คว้า 200 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชนะการเลือกตั้ง ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 ด้วยคะแนนร้อยละ 50.5995 ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้คะแนนร้อยละ 37.2160 นายกรณ์ จาติกวณิช ได้คะแนนร้อยละ 8.4881 และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้คะแนนร้อยละ 3.6965 

การประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค มีสมาชิกพรรคเป็นองค์ประชุม 309 คน มาประชุม 291 คน และมีนายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ประธานดำเนินการประชุม เริ่มจากการแสดงวิสัยทัศน์ ของผู้สมัครทั้ง 4 คน ได้แก่ 



ประชาธิปัตย์
  • 4 ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้สมัครหัวหน้าพรรคหมายเลข 1 กล่าวว่า หมายเลข 1 เป็นหมายเลขที่ตนลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แต่ก้าวแรกคือการสมัครสมาชิกพรรคเมื่อ 27 ปีก่อน เพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของพรรคที่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์และทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ตนเริ่มทำงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และปี 2547 จึงได้ลงสมัครเป็นผู้ว่า กทม. โดยมุ่งหวังว่าจะใช้ประสบการณ์ทำงานในภาคเอกชนเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน และในวันนี้ทุกคนที่ฟังตนอยู่ ไม่ว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือเคยชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะสงสัยว่าตนจะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่มาลงสมัครหัวหน้าพรรค จะทำงานได้หรือไม่

"ตั้งใจจะเอาบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เอาวิกฤติมาสร้างเป็นโอกาสที่รวมพลังประชาธิปัตย์ทุกคน ใช้เวลาทั้งหมดทำงานร่วมกับ ส.ส. และสาขาพรรค เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และต่อยอด ให้เหมาะกับโลกสมัยใหม่ต่อไป พร้อมทำงานไม่ว่าจะไม่ได้เป็น ส.ส. และได้ทำแบบสอบถามกับเพื่อนสมาชิกพรรคว่าอยากเห็นอะไร 3 เรื่องจากหัวหน้าพรรค คือ 1.หัวหน้าพรรคต้องดึงพลังให้ทุกคนมีความร่วมมือร่วมใจ ไม่แบ่งภูมิภาค ไม่แบ่งเพศ 2.อยากเห็นพรรคเปลี่ยน แต่ยังยึดมั่นควบคู่ไปกับอุดมณ์ของพรรค แต่วันนี้ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยใหม่ และพรรคจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจคนเหล่านี้ และเชื่อว่ามีความสามารถที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลและสื่อสาร 3.ต้องการให้การทำงานเปิดกว้าง เชื่อมโยงเครือข่ายของพรรคและเยาวชน" นายอภิรักษ์ กล่าว

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการเปลี่ยน ไม่ใช่เพราะเปลี่ยนหัวหน้าพรรค แต่ต้องเปลี่ยนเพื่อให้ตอบโจทย์ประชาชน และตนเชื่อว่าประชาชนทุกคนอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์กลับมาชนะเลือกตั้งเหมือนในอดีต วันนี้พรรคชนะการเลือกตั้งน้อยลงมาก แต่ตนเคยนำพรรคชนะการเลือกตั้งใน กทม. และการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้พรรคกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งได้หรือไม่


จุรินทร์
  • นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ผู้สมัครหัวหน้าพรรคหมายเลข 2 กล่าวว่า ตนเคยเป็นเลขาธิการของนายชวน หลีกภัย และเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงทั้งในยุคของนายชวน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเคยเป็นประธานวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน รวมทั้งยังเป็นรองหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่ปี 2546 และตนมีวันนี้เพราะตนมีโอกาส และนี่คือสิ่งที่ตนตระหนักว่าโอกาสคือสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเราทุกคน และถ้าตนได้รับโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอนจะหยิบยื่นสิ่งนี้ให้ทุกคนที่ตั้งใจทำงานให้กับพรรคของเราโดยไม่สนว่าจะฝั่งใคร และประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อุดมการณ์ที่ทำงานให้กับประชาชนอย่างซื่อสัตย์สุจริตก็ต้องไม่เปลี่ยน นโยบาย วิสัยทัศน์ ต้องเปลี่ยน และระบบบริหารจัดการ ใช้ big data และ AI เพื่อใช้วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล

"ต้องเปลี่ยนบุคลากรทีมงาน หมดยุคซูเปอร์แมน แต่ต้องเป็นยุคอเวนเจอร์ ซูเปอร์ฮีโร่ของพรรคต้องมาร่วมกันเป็นทีมอเวนเจอร์ประชาธิปัตย์ วันนี้ประชาธิปัตย์เหลือแค่ 52 ที่นั่ง แต่หัวหน้าพรรคต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ได้ที่นั่งมากกว่า 200 ในอนาคต ประชาธิปัตย์ต้องมีเอกภาพ และตนเชื่อว่าถ้าร่วมมือร่วมใจประชาธิปัตย์จะเดินไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้ ต้นมายืนอยู่ตรงนี้เพื่อขอโอกาสเราเชื่อว่าการให้โอกาสตนคือการให้โอกาสประชาธิปัตย์ และพร้อมร่วมมือกับทุกคนที่ตั้งใจทำงานเพื่อพรรค และพาพรรคไปเป็นที่หนึ่งในหัวใจประชาชน" นายจุรินทร์ กล่าว



หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  • นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (ซ้ายสุด)

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครหัวหน้าพรรคหมายเลข 3 กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจอยู่อย่างนึงว่า ถึงแม้ทุกคนจะมีความชื่นชอบเกี่ยวกับตัวผู้สมัครที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจทุกคนที่เหมือนกันคือ ความรักความห่วงใยพรรค และความรักชาติรักแผ่นดิน ทุกคนปรารถนาให้พรรคกลับมาเป็นที่ 1 อีกครั้ง แต่ถ้าทุกคนไม่รวมกันเป็นหนึ่ง ไม่รวมพลัง จะไม่เข้มแข็งพอให้พรรคกลับมาเป็นที่หนึ่งในหัวใจของประชาชนได้ อย่าท้อถอยกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาแต่ต้องนำมาเป็นแรงผลักดันในการทำงานเพื่อประชาชนต่อไป เพื่อให้ประชาชนรับรู้ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของประชาชนพึ่งพาได้ อันดับแรกต้องปรับการบริหารจัดการพรรคที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากว่า 73 ปี

"ต้องเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน ต้องไม่ใช่รูปแบบหัวหน้ากับลูกน้อง แต่กรรมการบริหารพรรคคือคนที่ต้องมาทำงานให้กับพรรคเพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์คือเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ผู้บริหารเป็นแค่หัวโขน ถ้าไม่สามารถเอาอำนาจตรงนี้มาเปิดกว้าง พรรคประชาธิปัตย์จะไม่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งได้ เช่น หนึ่งภาคมีรองหัวหน้าคนเดียวทำงานไม่ไหว การรวมอำนาจเข้ากับหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของพรรคที่แท้จริง เพื่อให้พรรคค้ำจุน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นพรรคหลักในการบริหารประเทศต่อไป" นายพีระพันธุ์

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่เคยสนใจตำแหน่งอะไร แต่ครั้งนี้ถึงเวลาที่ต้องเอาแนวความคิดของตนมาบริหารพรรคใหม่ ไม่รวบอำนาจ ให้เพื่อนๆ เดินไปพร้อมกันเป็นหน้ากระดาน ตนตั้งใจมาทำงาน กอบกู้ ฟื้นฟูพรรค ไม่ใช่ต้องการมามีอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบชาวบ้าน พูดแบบชาวบ้าน ทำแบบชาวบ้าน ง่ายๆ สั้นๆ เข้าใจกัน เพื่อทุกคนรู้สึกว่าเป็นของประชาชน 



ประชาธิปัตย์
  • บรรยากาศการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค ผู้สมัครหัวหน้าพรรคหมายเลข 4 กล่าวว่า ตนได้รับฟังความในใจของเพื่อนสมาชิกพรรค และได้มัมผัสถึงความรักที่มีให้กัน หลายคนเสียน้ำตาเพราะเสียใจแทนเพื่อนอดีต ส.ส. ที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง ในอนาคตอุดมการณ์ของหลายคนอาจจะเปลี่ยนไป แต่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันไม่ได้ ตนจะเตรียมพื้นที่ให้ทุกคนมีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีเพื่อให้ทำงานให้กับพรรค และต้องทำให้พรรคกลับมาเป็นทางเลือกหลักของประชาชน และชนะการเลือกตั้ง ต้องทำให้การโหวตเพิ่มอย่างน้อย ร้อยละ 20 พรรคมีพื้นฐานคือประวัติที่ยาวนาน เคยกอบกู้ประเทศ และวางรากฐานนโยบายดีๆ ไว้มากหมาย เช่น การเรียนฟรี การดูแลผู้สูงอายุ เป็นทุนเดิมที่พรรคจะสามารถสร้างความเข้มแข็งโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์

"พรรคต้องมีความกล้าที่จะเดินหน้าต่อจากนี้ด้วยความชัดเจนในเป้าหมาย มีความชัดเจนที่ประชาชนสัมผัสได้ว่าเลือกแล้วได้อะไร อันดับแรกคือให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความก้าวหน้าในชีวิต ประเทศมีความทันสมัยแข่งขันกันชาติอื่นได้ สังคมมีความสงบ สถาบันมั่นคง พรรคต้องยึดหลักปฏิบัตินิยม ให้ความสำคัญกับการทำ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสุดท้ายต้องตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล แต่สุดท้ายประชาชนต้องอยู่ดีกินดี ประเทศชาติพัฒนา และสังคมต้องสงบจากการตัดสินใจของพรรค ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ของพรรค ตนเชื่อว่าประชาชนจะสนับสนุนการตัดสินใจของพรรค วันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะ พรรคต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการการสื่อสาร ต้องมีระบบการดูแลกันของ ส.ส. และดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมบริหารพรรค ตนจะนำพาทุกคนกลับมาเป็น ส.ส. และนำพาพรรคกลับมาเป็นที่พึ่งของคนทั้งประเทศ" นายกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการลงคะแนน มีความขัดข้องของเครื่องลงคะแนนจาก กกต. จึงต้องให้ผู้ที่ลงคะแนนแล้วกลับมาลงคะแนนใหม่ และมีการใช้มือถือถ่ายภาพบัตรลงคะแนนที่หย่อนบัตร จากนั้นได้ประกาศผลคะแนน เสร็จสิ้นการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่