ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนที่ไวรัสโคโรนาจะระบาดจนการเดินทางระหว่างประเทศถูกระงับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับนักท่องเที่ยวหลายล้านคนต่อปี ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ความยั่งยืนจึงควรกลายมาเป็นนโยบายหลักในการท่องเที่ยวต่อจากนี้

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การท่องเที่ยวล้นเกิน ไม่ว่าจะเป็นชายหาด วัดเก่าแก่ หรือพื้นที่ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่เปราะบาง ถึงขั้นที่คนท้องถิ่น นักสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่รัฐบาลบางประเทศ ยังออกมาแสดงความกังวล

ปี 2562 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 133 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน การรับนักท่องเที่ยวมากเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้ปะการังตาย สัตว์น้ำหายไป โบราณสถานเสียหาย ขยะพลาสติกล้น

เมื่อไวรัสโคโรนา 2019 ระบาด ส่งผลให้หลายประเทศสั่งปิดเมือง ลดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปด้วย สมาคมการท่องเที่ยวแปซิฟิกเอเชียหรือ PATA เปิดเผยข้อมูลว่า เอเชียแปซิฟิกสูญเสียรายได้ไปประมาณ 34,600 ล้านดอลลาร์หรือราว 1.08 ล้านล้านบาท โดยกัมพูชาได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้อย่างหนัก เนื่องจากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพี 

เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางแล้ว ประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงจะต้องแข่งขันกันดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจกันใหม่ การดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุดเป็นทางเลือกที่ยั่วยวนใจ แต่นักวิเคราะห์ต่างมองว่า การหยุดพักการท่องเที่ยวคราวนี้เป็นโอกาสให้ประเทศเหล่านี้ได้สำรวจว่าจะสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใหม่อย่างไรให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจและปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

จอห์น เปาโล อาร์ ริเวรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ ดร.แอรดรูว์ แอล ทาน เพื่อการท่องเที่ยวได้ยกกรณีตัวอย่างของเกาะโบราคายในฟิลิปปินส์ว่า การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทำให้ผู้ประกอบการมักมองกำไรระยะสั้นมากกว่าความยั่งยืน เมื่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็มีการสร้างอาคารใกล้ชายหาดโดยผิดกฎหมาย ท่อน้ำทิ้งหลายท่อก็เทลงไปในทะเลโดยตรง

จนเมื่อปี 2561 โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่า เกาะโบราคายได้กลายเป็น “บ่อพักน้ำเสีย” แล้วสั่งให้มีการปิดเกาะ 6 เดือน เพื่อทำความสะอาด และเปิดเกาะใหม่อีกครั้งเมื่อ ต.ค. 2561 โดยมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวลงจาก 19,000 คน เหลือเพียง 6,000 คนเท่านั้น และยังแบนการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนชายหาดอีกด้วย ขณะเดียวกัน โรงแรมจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสีย และยังขยายพื้นที่ห้ามก่อสร้างจากชายหาดออกไปเป็นระยะ 30 เมตร

แม้หลายคนจะยินดีที่เกาะสะอาดและเงียบสงบขึ้น แต่การปิดเกาะก็ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่อย่างมาก บางคนอ้างว่าบ้านและธุรกิจของพวกเขาถูกรื้อถอน “อย่างผิดกฎหมาย” และแรงงานข้ามชาติก็ถูกบีบให้ต้องไปหางานที่อื่นทำ

ซูซาน เบเคน ผู้อำนวยการสถาบันกริฟฟิธเพื่อการท่องเที่ยวในเมลเบิร์นของออสเตรเลียกล่าวว่า การปิดสถานที่ทั้งหมดเป็นการกระทำที่ “โหดเหี้ยม”  เพราะมีคนต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อโรคระบาดหายไปแล้ว รัฐบาลและผู้ประกอบการจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูและการกระจายความเสี่ยงไม่ให้ทุกอย่างพึ่งพิงการท่องเที่ยว

ในช่วงที่ปิดเมือง ธรรมชาติในไทยได้ฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัด เต่าตนุขึ้นมาวางไข่ พะยูนว่ายน้ำอยู่ใกล้ชายฝั่ง มีคนเห็นฉลามครีบดำ โลมา ฉลามวาฬ ส่วนในอุทยานแห่งชาติก็มีคนเห็นเสือต่างๆ แต่ไทยเองก็มีความพยายามจะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวลง มีการเปิดให้ไปส่องสัตว์ในอุทยานได้เพียง 2 เดือนต่อปี เกาะสิมิลันลดจำนวนเหลือเพียง 400 คนต่อวัน ลดลงจากที่เคยรับถึงครึ่งหนึ่ง

ส่วนอ่าวมาหยาก็ถูกสั่งปิดเพื่อฟื้นฟูปะการังจนถึงเดือนมิ.ย. ปี 2564 และขณะนี้มีการพัฒนาระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว เมื่อมีการเปืดให้นักท่องเที่ยวเข้า ส่วนผู้ให้บริการเช่าเรือก็จะต้องติดตั้งระบบติดตามดิจิทัล หากจ้องการเข้าไปจอดบนอ่าว

แม้ระบบจองตั๋วจะเป็นวิธีควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวในหลายสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลก แต่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นก็ยังไม่พร้อมสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในเอเชีย เช่น ในเมืองพุกามของเมียนมา นักท่องเที่ยวมุ่งหน้าไปเที่ยวพุกามกันมาก ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะสามารถตั้งรับและควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวได้ทัน 

วิลเลม นีเมเยอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน YAANA Ventures กล่าวว่า คนต้องการจะไปแค่ที่เจดีย์ที่เห็นตะวันตกดินเท่านั้น ทั้งที่ในพุกามมีเจีดีย์หลายพันแห่งอยู่ในพุกาม การแก้ไขหานักท่องเที่ยวล้นวิธีหึน่งคือการใช้เทคโนโลยีจัดการจำนวนนักท่องเที่ยว ทำแอปพลิเคชั่นจองหรือมีเส็บไซต์ให้จองก็จะช่วยจำกัดความแออัดในเจดีย์แต่ละที่ได้ คนก็จะหันไปเที่ยวเจดีย์อื่นๆ แทน กระจายรายได้ไปยังพื้นที่รอบข้างด้วย

การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีความจำเป็นต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่มาก ยูเนสโกรายงานว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมากในนครวัด เมืองเสียมเรียบของกัมพูชาทำให้มีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวเหยียบกัน และเมืองรอบข้างเสียมเรียบยังเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ รัฐบาลต้องไปขุดน้ำบาดาลขึ้นมา ทำให้ใต้ดินเป็นโพรง อาจทำให้นครวัดทรุดลงได้

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กัมพูชาขึ้นค่าตั๋วเข้าเมืองโบราณและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปดูตะวันตกดินที่พนมบาเค็ง แต่พื้นที่อื่นๆ ยังไม่มีกฎการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ นีเมเยอร์มองว่า ควรมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวไม่กระจุกตัวอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวเพียงไม่กี่แห่ง แต่เบเคนเตือนว่า ต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดการน้ำเสียให้เหมาะสมในสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะทำลายสิ่งแวดล้อมกันมากกว่าเดิม

เบเคนกล่าวต่อว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฟ้อขึ้นมา เพราะค่าตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง แต่หลังจากนี้ควรตั้งคำถามว่ายังต้องการนักท่องเที่ยวแบบประหยัดที่จะมาเที่ยวแค่ไม่กี่วัน ไม่ใช้จ่ายเงินมากนัก หรือจะวิเคราะห์ใหม่ว่าประเทศต้องการอะไรจากการท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ตาม เบเคนย้ำว่า มาตรการลดจำนวนนักท่องเที่ยวจะต้องทำไปพร้อมๆ กับโครงการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวด้วย เช่น ส่งเสริมโครงการอนุรักษ์ ธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงชุมชนกับนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจแบ่งปันเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับไกด์ท้องถิ่น หรือโรงแรมที่รับผิดชอบต่อชุมชนมากขึ้น สร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO ประกาศแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ว่า ความยั่งยืนไม่ควรเป็นการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่ควรเป็นค่านิยมใหม่ในทุกส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว