ไม่พบผลการค้นหา
'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้ ไม่มีสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม หากประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แนะแก้รัฐธรรมนูญ ด้าน 'สมชาย หอมลออ' ชี้ทางออกของไทยต้องเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ขณะที่เลขาธิการ ครป.แนะเร่งแก้ ศก. ควบคู่แก้ รธนง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. ร่วมกับ 30 องค์กรประชาธิปไตยและภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ "รัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน และการเมืองในฝันของประชาชน" เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากลและวันรัฐธรรมนูญไทย วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี โดยนายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. ระบุว่า ทั้งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในความฝันของประชาชนจะเป็นจริงได้ สิ่งสำคัญคือ "อุดมการของรัฐ" ที่ควรเป็นไปในแนวแนวเดียวกัน พร้อมเสนออุดมการณ์รัฐแบบ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" หรือ"รัฐสวัสดิการ" ซึ่งมีรูปแบบรัฐเป็นได้ทั้งสาธารณรัฐและระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อย่างประเทศสวีเดนและเดนมาร์ก แม้มีบางประเทศที่เป็นสังคมนิยมแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถือเป็น 2 แพ่งของนักสังคมนิยมว่าจะเป็นสังคมนิยมหรืออำนาจนิยม 

นายสมชาย ยืนยันว่า ไทยเดินมาถึงจุดที่สังคมนิยมประชาธิปไตยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เป็น"รัฐสวัสดิการ" บนพื้นฐานรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนไม่ใช่ "ระบบสังคมสงเคราะห์" และต้องปฏิเสธ"ลัทธิคุณพ่อรู้ดี"หรือผู้นำรู้ดีทุกอย่าง ที่ประชาชนต้องเชื่อใจและทำตามเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกระจายความมั่งคั่ง ลดการผูกขาดทรัพยากรและเศรษฐกิจ, ออกแบบเพื่อสร้างสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้ความแตกต่าง กลายเป็นความขัดแย้งและนำสู่ความรุนแรงในที่สุด ต้องทำให้รัฐเคารพและปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมรวมถึงออกแบบเพื่อลดอำนาจนอกระบบที่จะเข้ามาแทรกแซงและกำหนดนโยบายสาธารณะ ขณะเดียวกันต้องสร้างขบวนการภาคประชาสังคม ที่นายสมชายมองว่า ปัจจุบันยังไม่เข้มแข็งพอให้นักการเมืองใส่ใจ โดยยกตัวอย่างการไม่ทำตามนโยบายหาเสียงโดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล 

ด้านนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง "เสรีนิยมประชาธิปไตย" กับ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" โดยยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา คือ พรรคเดโมเครต ที่มีลักษณะสังคมนิยม กับ พรรครีพับลิกัน ที่เป็นเสรีนิยมสุดโต่ง ซึ่งแนวทางการดำเนินนโยบายและต่อสู้ทางการเมืองของ 2 พรรคนี้ มีอิทธิพลต่อยุโรปและเอเชีย รวมถึงไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วย 

นายกษิต ยังระบุถึงประเทศจีนในปัจจุบันที่ปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวว่า ทางการและนักการทูตจีนเชิดชูว่า มีเสถียรภาพและพัฒนาเศรษฐกิจให้ผู้คนอิ่มท้องได้ แต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้พูดอีกประโยคหนึ่งคือ "แล้วเราจะได้กดขี่ประชาชนกันต่อไป" ดังนั้น ถ้าไปอยู่ในระบบของประเทศจีนนั้น "จะไม่ได้ผุดได้เกิด" ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคการเมือง, ผู้นำไทยและผู้ที่ทำมาหากินกับประเทศจีน ต้องมาคบคิดว่าต้องการที่จะมีสังคมที่ "อิ่มท้องสมองตีบ" หรือไม่

นายกษิต ยืนยันว่า ระบบเสรีประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา ถูกขโมยโดยกองทัพพรรคการเมืองและกลุ่มทุน ที่เห็นแก่อำนาจและประโยชน์ส่วนตัว การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมๆกับการเสริมสร้างทัศนคติใหม่ให้คนในสังคมเพื่อสลัดทิ้งหรือขจัดลัทธิพึ่งพาบารมี ให้รู้จักการพึ่งตนเอง โดยทางออกของสังคมไทยคือ จะต้องทำให้สังคมเสรีประชาธิปไตยมีความคิดความอ่านที่เกี่ยวกับส่วนรวมให้มากขึ้น และต้องร่วมกันปฏิเสธอุดมการณ์พรรคเดียว, ผู้นำหรือคนกลุ่มเดียวเป็นใหญ่ 

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุสรณ์ ธรรมใจ จากภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวว่า ประชาธิปไตยมีศูนย์กลางอยู่ประชาชน ที่เป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง ขณะที่สิทธิมนุษยชน มีศูนย์กลางอยู่ที่ความเป็นมนุษย์ ซึ่งล้วนมีความเป็นสากลที่ไม่มีใครพรากสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ในโลกและความเป็นประชาชนในรัฐไปได้ และสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น โดยเบื้องต้นต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก่อน พร้อมเสนอข้อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในเบื้องต้นที่สำคัญคือ

1.ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งการมี ส.ว. 250 เสียงจากการแต่งตั้ง เป็นการยืนยันว่าประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์เลือกอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องแก้ไขประเด็นนี้เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ที่จะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

2.การควบคุมรัฐบาล ซึ่งการที่สภาผู้แทนราษฎรคว่ำญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบมาตรา 44 เป็นการพิสูจน์ว่า ไม่สามารถใช้กลไกสภาฯตรวจสอบรัฐบาลได้ และต้องเป็นบทบาทของภาคประชาชนต้องผลักดันต่อไป รวมถึงการตั้ง กมธ.ศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ภาคประชาชนยังต้องมีบทบาทในการผลักดันด้วย

สำหรับเป็นแนวทางพัฒนาประเทศว่าต้องการระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองแบบไหนนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุสรณ์ มองว่า ไทยมีทางออกเดียวที่ดีที่สุดคือ ต้องการระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและต้องการระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและแข่งขันได้ด้วย และถึงที่สุดแล้ว ไม่เพียงสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่การออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าระบบการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.ยืนยันว่า เรื่องเร่งด่วนที่สังคมเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลควรดำเนินการ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสามารถจัดสรรอำนาจและทรัพยากรใหม่ ซึ่งสามารถดำเนินการควบคู่กันได้ โดยย้ำถึงข้อเสนอเบื้องต้นของ ครป.ถึงบทบาทและที่มาของ ส.ว.และการลงมติในสภาฯที่ผ่านมาในภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้เห็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนความเป็นอำนาจนิยมในระบบรัฐสภาและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย จึงไม่ควรปล่อยเป็นเผด็จการรัฐสภานี้เหมือนในอดีต ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการปฏิรูปด้านต่างๆโดยเฉพาะการปฏิรูปกองทัพ ไม่ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งควรจะทำตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 แต่ไม่ได้ดำเรินการหรือยังทำไม่สำเร็จ