ไม่พบผลการค้นหา
โครงการขยายผล “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ” สู่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนภาคเหนือ

รัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดเวทีนำเสนอผลการวิจัยโครงการขยายผล “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ” สู่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนภาคเหนือ ว่า ความปลอดภัยทางถนนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในแต่ละปีคนไทยต้องเสียชีวิตเสียทรัพย์สินจากอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก และมีหลายภาคส่วนที่มีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ยังขาดการบูรณาการ ถ้านำมาดำเนินงานร่วมกันได้ จะช่วยลดความสูญเสียดังกล่าว

รัฐพล กล่าวว่า สร้างแนวคิดพื้นฐาน ให้กับเยาวชน ต้องสอนให้เด็กๆ รู้ว่าเวลาออกไปถนนแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่เมาแล้วขับ ที่ผ่านมาได้เสียน้องชายไปด้วยเหตุบนถนนเช่นกัน ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ขึ้นดับบุคคลในท้องถิ่นจะช่วยกันแก้ปัญหาจุดเสี่ยงอย่างไร ถัดมาคือการมีวินัยในการใช้รถใช้ถนน ยกตัวอย่างคนเดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย เห็นได้จากการเดินทางไปต่างประเทศพบวินัยคนชัดเจนมาก ดังนั้นการสร้างวินัยให้เด็กเรียนรู้สำคัญมาก การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้เกิดการวิจัย เรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติเป็นประโยชน์ต่อสังคม

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธาน สอจร. และ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แสดงปาฐกถา ในเวทีนำเสนอผลการวิจัยว่า เราจำเป็นต้องตื่นรู้ ทุกครั้งที่ไปฟังปาฐกถาไม่ว่าที่ใดก็ตาม โดยยกเหตุการณ์การผ่าตัดผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเวลาที่โรคเอดส์แพร่ระบาดแล้วต้องผ่าตัดมีโอกาสเสี่ยงมาก แต่การระบาดโควิด 19 เสี่ยงมากกว่า หากผู้ประสบเหตุต้องเข้ารับการผ่าตัด หมอพยาบาลจะลำบากมาก เพราะการทดสอบไม่ว่า จะเป็นการเป่า หรือ กระทั่งการหายใจของผู้ประสบเหตุที่อาจติดโควิด-19 ในห้องผ่าตัด มีความเสี่ยงของการแพร่กระจายสูงมาก 

นพ.อนุชา กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ไม่ทำให้คนเชียงใหม่ติดเชื้อเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เพราะต่างคนต่างอยู่บ้าน แม้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เชงเม้ง ของปี 2563 ผิดจากปีที่ผ่านๆ มา เชียงใหม่มีผู้เสียชีวิตบนถนนช่วงเทศกาลใน 10 อันดับต้น หากเทียบกับประเทศอังกฤษ ที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกในการสะกัดกั้นไม่ให้คนตายบนถนน มีอัตราการตายบนถนนต่ำมาก แต่กับโรคโควิด-19 อังกฤษติดเชื้อและตายมากกว่า 45,000 ราย ผิดกับการป้องกันโรคระบาดโควิด19 ของไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของประเทศผู้ติดเชื้อ ส่วนการตายของคนไทยบนถนนนั้นสวนทางกับการตายด้วยโควิด 19 ราวฟ้ากับเหว ไทยมีผู้เสียชีวิตบนถนนวันละ 25-60 ราย มากกว่าการตายสะสมด้วยโรคระบาดที่ 8 เดือนที่ผ่านมาตายเพียง 58 ราย เราเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องของการบริหารจัดการ

นพ.อนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราขอให้ทุกจังหวัดหยุดการขายเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ไม่สามารถทำได้ แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่าง ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดช่วยกันประกาศห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาล มีการลุ้นฟังโฆษก ศบค.แถลงข่าวผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน เมื่อโรคระบาดซาลง ยอดจำนวนผู้เสียชีวิต การชนของรถจักรยานยนต์โดดสูงเพิ่มขึ้นทันที จำนวนผู้เสียชีวิต ความรุนแรงจากการบาดเจ็บ จากการชนบนถนนกลับมาแล้ว

"ขณะนี้หลายๆ หน่วยงานเริ่มขยับเข้ามาร่วมมือกันทำงานเรามีผู้หลักผู้ใหญ่ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี จริงจังกับการดำเนินนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา หันมาสนใจร่วมลงพื้นที่เพื่อตรวจและรับฟังข้อเสนอจากพื้นที่รับเรื่องมาจัดการแก้ไข กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) มาให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อความปลอดภัยทางถนน กระทรวงสาธารณสุข กรมการขนส่งทางบก ไม่ปล่อยให้เด็กไทยอายุ 14-15 ปี ต้องตายเพราะขี่จักรยานยนต์ จำนวนมากราวกับเป็นคำสาปที่เด็กไทยพอเติบโตมาอายุเท่านี้ “ต้องตาย” จึงขอเชียร์ให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำงาน" นพ.อนุชา กล่าว   

สำหรับโครงการขยายผล “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ” สู่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ในการดำเนินโครงการโดยการมีส่วนร่วมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในทำโครงการวิจัยโดยครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลป่าสัก 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสันคะยอม บ้านสันป่าสัก บ้านหนองไซ บ้านห้วยม้าโก้ง และบ้านหนองซิว ดำเนินการร่วมกับชุมชน ดำเนินงาน 3 ด้าน คือ การจัดการจุดเสี่ยง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครู นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน สุดท้าย คือ การจัดการเรียนรู้ 

จากนั้น ได้รับความท้าทายจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ขยายผล “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ” สู่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อความปลอดภัยทางถนนโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนภาคเหนือ ซึ่งมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนเข้าร่วมโครงการดังนี้ 1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลริมปิง จังหวัดลำพูน 2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง จังหวัดเชียงใหม่ 3. โรงเรียนบ้านหนองเงือก จังหวัดลำพูน 4. โรงเรียนต้นแก้วผดุงพิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ ความพยายามใช้และให้ความรู้ของอันตรายจากการชนบนถนนกับประชาชน การสนับสนุนของหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งงบประมาณและมีส่วนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้วงจรการปลูกฝังวินัยจราจรในเด็กเล็ก ครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชน เปลี่ยนเป็นไปอย่างเห็นได้ชัด จนได้มีการมานำเสนอผลการวิจัยในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 มีครูและผู้นำชุมชนจากทั้ง 9 แห่ง รวมกว่า 100 คน เข้าร่วมนำเสนอผลงาน

268249.jpg268213.jpg268214.jpg268239.jpg