ไม่พบผลการค้นหา
ส.ว.อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน ห่วงการตรวจสอบไม่รอบคอบ แนะ ส.ว. ตั้ง กมธ. ตรวจสอบการใช้งบ และให้มีภาคประชาชนเป็นกรรมการอิสระ

การประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาพระราชกำหนดจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563, 2. พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ, และ 3. พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยช่วงแรกของการประชุมนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้กล่าวเสนอหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมวุฒิสภา และมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมาร่วมรับฟัง 

นายบุญมี สุระโคตร ส.ว. อภิปรายว่า เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกว่าร้อยละ 30 ของประเทศประสบปัญหามาตั้งแต่ก่อนโควิดด้วยซ้ำ เช่น ภัยแล้ง พอมาเจอวิกฤตโควิด สถานการณ์ในด้านการเกษตรก็ยิ่งได้รับผลกระทบมาก คนในภาคการเกษตรต้องจากบ้านมาทำงานในเมืองใหญ่เพื่อหารายได้ไปจุนเจืออาชีพหลักของพ่อแม่ที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่อายุ 50-60 ปี และเมื่อมีการระบาดของโควิดก็ต้องกลับบ้าน และหลังจากนี้คนกลุ่มนี้ก็จะตกงานและกลับมาทำงานในเมืองไม่ได้

ดังนั้น การทำให้พวกเขาอยู่ในท้องที่เพื่อพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่แล้วที่บ้าน มาตรการเยียวยา ฟื้นฟู และการสร้างอาชีพจึงต้องจับต้องได้จริง ส่วนการช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจหรือ SMEs ในรูปแบบซอฟท์โลน กลุ่มผู้ประกอบการเข้าถึงทุนตรงนี้ได้ยาก ถ้าทำให้กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่เข้าถึงทุนตรงนี้ ก็จะทำให้เกษตรกรหรือคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านไปมีงานทำ โจทย์รัฐบาลต้องทำยังไงให้คนในท้องถิ่น และเกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะติดเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับผู้ปฏิบัติงานหน้างาน ถ้าทำได้การเดินทางกลับเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ก็จะน้อยลง

เนื่องจากระยะเวลาในการทำโครงการค่อนข้างสั้น ตนคาดว่าชาวบ้านไม่น่าจะทำแผนโครงการมาใช้งบประมาณฟื้นฟูตรงนี้ได้ทันเวลา และในระยะเวลาที่จำกัดนี้ทำอย่างไรีให้คนที่เดือดร้อนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำโครงการเพื่อแก้ปัญหา เพราะอดีตที่ผ่านมามีผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เข้ามามีส่วนร่วมน้อยมาก และการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่างคนต่างทำ ไม่มีการบูรณาการณ์ ตนจึงขอฝากความคิดเห็นนี้ไปยังรัฐบาล

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับความเป็นจริงว่าการแก้ไขการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทย สามารถแก้ไขได้เป็นอย่างดี เมื่อรัฐบาลทำแล้วเป็นผลดีแล้วก็ต้องกล้าบอกว่ามีรัฐบาลและฝ่ายบริหารที่ดีที่สามารถดูแลประชาชน แม้เราจะมีรัฐบาลที่ดีแต่เราก็ยังมีสื่อสารทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง และเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับประเทศ การแก้ไขปัญหาเราต้องยอมรับความเป็นจริง ตนไม่อยากเห็นประชาชนถูกปลุกปั่นจนเกิดความขัดแย้งในสังคม ทุกคนเข้าใจว่าในการแก้ไขปัญหานั้นในรัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด ดังนั้น การออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ไขปัญหานั้นส่วนตัวไม่ได้ติดใจ แต่มีความห่วงใยเรื่องความโปร่งใสที่จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนได้รู้ว่าเป็นการทำเพื่อส่วนรวม 

พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินแล้ว แต่ภายใน 60 วันนับตั้งแต่สิ้นปีงบประมาณกระทรวงการคลังจะต้องรายงานการใช้เงินต่อรัฐสภา สังคมห่วงใยในการใช้เงินแต่พระราชกำหนดกำหนดเงื่อนไขการทำรายงานน้อยเกินไป จึงอยากเสนอว่าหากกระทรวงการคลังจะมารายงานต่อสภา จะต้องมีรายละเอียดของการใช้เงินกู้ด้วย เพราะหากรัฐบาลเปิดเผยความชัดเจน จะทำให้เกิดความเบาใจว่ารัฐบาลได้ใช้เงินตามความจำเป็น ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เชื่อว่าคนจะไม่กล้าทำผิดและฉวยโอกาสหาประโยชน์

นายเสรี กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร อาจจะยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ เพราะฝ่ายที่เข้าไปตรวจสอบก็มี ส.ส. พรรครัฐบาลด้วย ดังนั้น เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของวุฒิสภาเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ โดยให้คณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภาเข้ามาตรวจสอบเพื่อช่วยรัฐบาล

"รัฐบาลงานเยอะ อาจมองไม่ทั่วถึง หากวุฒิสภาเข้าไปช่วยสอดส่อง เชื่อว่าการใช้เงินกู้จะมีประสิทธิภาพ การใช้เงินกู้นั้นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยดูแลประชาชน แต่ต้องไม่เป็นการใช้เงินกู้แบบสูญเสียอย่างเดียว เพราะควรใช้เงินกู้ในลักษณะที่ต่อยอดได้ เช่น การซื้อเมล็ดพันธุ์พืชให้ประชาชนไปสร้างผลผลิตได้ ไม่ใช่แจกเงินเท่านั้น เงินที่เอาไปใช้ถ้าไปสนับสนุนพืชผลการเกษตรมั่นใจว่าจะต่อยอดรายได้ของประเทศได้ดีขึ้น นำไปสู่การเป็นครัวโลก เพื่อดึงประเทศเข้ามาซื้อผลผลิต เราต้องเอาเงินกู้สร้างเงินสร้างอาชีพด้วย นอกจากนี้ ตั้งงบประมาณใหัวัดและศาสนสถานอื่นๆ เพื่อสร้างโรงครัวถาวรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน คนจะไม่อดอยากและจะมีกินตลอดชีวิต" นายเสรี กล่าว 

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. กล่าวว่า ระหว่างการรอคอยการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดอีกประมาณ 18 เดือน รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณมาใช้กับกรณีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดอีก การฟื้นฟูจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจนสำหรับการฟื้นฟูสังคมเมืองและชนบท ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีปัญหาในเรื่องการประกอบอาชีพและรายได้ ดังนั้น การฟื้นฟูจึงไม่อาจทำได้เฉพาะการให้เงินอย่างเดียว เพราะต้องฟื้นฟูเรื่องความเป็นอยู่ให้กับประชาชนด้วย 

สำหรับกรณีของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด องค์ประกอบของคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากส่วนราชการส่วนที่เหลือจะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกลั่นกรอง ผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเป็นกรรมการควรมาจากภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ส่วนกรณีปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสของการใช้จ่ายเงินกู้ เช่น การจัดสรรงบประมาณผ่าน ส.ส. จังหวัดละ 80 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ การใช้เงินตามแผนทั้งหมดต้องยึดหลัการ 3 ประการ 1.หลักการเศรษฐกิจพอเพียง 2.หลักการความโปร่งใส คุ้มค่าและตรวจสอบได้ 3.หลักการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบและกลั่นกรองแผนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า พระราชกำหนด BSF มีอายุ 5 ปี ดังนั้น ตลอดเวลา 5 ปี ของการมีกองทุนนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนตแต่เพียงผู้เดียวและการกำกับควบคุมจะอยู่ภายใต้พระราชกำหนดผ่านการมีคณะกรรมการกำกับกองทุน และ คณะกรรมการการลงทุน โดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกองทุนมีอำนาจกว้างขวางโดยมาจากปลัดกระทรวงกาคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยคำแนะนำของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

แต่มีคำถามที่สำคัญ คือ ขณะนี้มีปัญหากับผู้ทรงคุณวุฒิสองคน ได้แก่ คนที่ 1 เป็นอดีตเลขาธิการก.ล.ต.ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี 2562 แม้พระราชกำหนดจะไม่ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามเอาไว้แต่พระราชกำหนดนี้จะไปยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากอดีตเลขาธิการก.ล.ต.ยังพ้นจากตำแหน่งไม่ครบ 2 ปีเต็ม ซึ่งมาตรา 22/1 22/2 และ 267/1 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535 ว่าด้วยการกำหนดให้ภายในสองปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการจะประกอบธุรกิจไม่ได้

หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รมว.คลังในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย มั่นใจหรือไม่ว่าได้ทำถูกกฎหมายแล้ว ซึ่งเคยมีกรณีเทียบเคียงมาแล้วจากกรณีบอร์ดการบินไทยคนหนึ่ง ได้ลาออกจากตำแหน่งเพราะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีมาไม่ถึง 2 ปี คนที่ 2 เป็นกรรมการกำกับตลาดทุน ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรรมการกำกับตลาดทุนต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการในธุรกิจหลักทรัพย์ตลาดหลกัทรัพย์ ดังนั้นเรื่องนี้สมควรคลายปมสงสัย ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าไม่ขัดต่อกฎหมายต้องคำถามนี้ เพราะมิเช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการดำเนินการต่อไปของคณะกรรมการกำกับกองทุน และ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงขอทักท้วงเอาไว้  

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีของผู้ทรงคุณวุฒิในพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ไว้ในมาตรา 7 ของพระราชกำหนด ซึ่งอยากเสนอว่าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคณะกรรมการตามพระราชกำหนด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต้องแต่งตั้งบุคคลจากภาคประชาชนที่ทำงานต้านทุจริต และเศรษฐกิจชุมชน

"จุดอ่อนที่สำคัญของกฎหมายกู้เงิน คือ เป็นการกู้เงินนอกงบประมาณและจ่ายเงินตามกระบวนการที่รัฐบาลออกระเบียบ ซึ่งไม่ได้ผ่านนิติบัญญัติตามหลักการใช้จายเงินแผ่นดินตามระบบงบประมาณปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจรัฐบาลจะต้องตั้งภาคประชาชนเข้ามา นอกจากนี้ เห็นด้วยกับการให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา เพื่อตรวจสอบและเสนอแนะมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ" นายคำนูณ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม