ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาตรวจสอบลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยฝ่ายค้านมองว่าอาจไม่คุ้มค่ากับการลงนามเดินหน้า ด้าน อดีตรมว.คลัง ชี้โครงการไม่เป็นธรรมต่อรัฐ หวั่นส่งมอบพื้นที่มักกะสัน เอื้อเอกชนพัฒนาได้ทันที

โครงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนเฟสแรกของระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ระยะทางทั้งสิ้น 220 กิโลเมตร จะเริ่มลงนามสัญญาในวันที่ 24 ต.ค. 2562 

โดยวันที่ 24 ต.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดการอภิปรายตรวจสอบการเตรียมลงนามสัญญาสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของกระทรวงคมนาคม ในหัวข้อ “วิพากษ์ เปิดโปง กล่าวหา” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และ นายบากบั่น บุญเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ บรรณาธิการอำนวยการ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

นายสุรเชษฐ์ ระบุว่า การที่รัฐบาลเลื่อนมาเซ็นสัญญาโครงการในตอนนี้ ทางพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วย เห็นว่าไม่คุ้มค่า เพราะเส้นทางนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำรางเดี่ยวขนาด 1 เมตรให้เป็นทางคู่ ความจุของระบบเพิ่มประมาณ 10 เท่า แต่ที่รัฐบาลจะทำคืออีกคู่หนึ่ง คือเพิ่มเป็น 20 เท่า ซึ่งไร้เหตุผล ทั้งนี้ รถไฟทางคู่ ตนเห็นด้วยแต่ไม่ควรทำอะไรซับซ้อน ส่วนตัวมองว่ารถไฟความเร็วสูงคนรวยได้ใช้บ้างครั้ง ไม่เหมือนรถเมล์ที่คนจนใช้ได้ทุกวัน

 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ทวี สอดส่อง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่มาก คือ โครงการที่เอาสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งที่รถไฟต้องใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เอาไปเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตนจึงคิดว่า มาตรฐานขั้นต่ำที่สุด ที่โครงการนี้จะทำให้คณะผู้ทำไม่ต้องรับผิด คือต้องทำมาตรฐานขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 รัฐควรดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร และพลังงาน ต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม   

ส่วนนายธีระชัย มองว่า โครงการที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติชาติต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นธรรมต่อรัฐ ต่อเอกชนด้วยกัน ที่ผ่านมามันเป็นธรรมต่อเอกชน แต่ไม่เป็นธรรมกับรัฐ สิ่งที่ประชาชนต้องติดตาม คือ ลักษณะของการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติชาติ ต้องอ้างอิงกับหลัก “มูลค่ายุติธรรม” รวมทั้งถ้าหากส่งมอบพื้นที่มักกะสัน เอกชนเอาไปทำการพัฒนาเป็นโครงการได้ทันที ส่วนตัวขอฝากถึงกองทัพจะดำเนินการอย่างไร ที่มีการนำที่ดินของ รัชกาลที่ 5 พระราชทานเพื่อกิจการรถไฟ แต่ไม่สามารถนำใช้ในกิจการรถไฟได้

 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล


บากบั่น บุญเลิศ

ชี้ลงนามสัญญาหากเปลี่ยนแปลงต้องรับผิดชอบ

ขณะที่นายบากบั่น ระบุว่า ราคาค่าโดยสารของโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินนั้นจะอยู่ที่ราคา 115 - 490 บาท จึงกังวลว่าจะขนคนพอดอกเบี้ยที่ประมูลหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่า 50 ปีก็ไม่คุ้ม ส่วนตัวเห็นว่าการประมูลที่ผู้ประมูลจะได้ในหนังสือบอกอะไรในเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน REQUEST FOR PROPOSAL (RFP) ทุกบริษัทที่ประมูลได้เมื่อชนะเปิดซองในเดือน พ.ย.นี้ พบว่ามีการเสนอเงื่อนไขพิเศษ 12 ข้อ

นายบากบั่น ระบุว่า ขณะเดียวกันยังพบหลักฐานอีกว่า ร่างสัญญาชุดหนึ่ง ที่สำนักงาน อีอีซี ส่งเรื่องนี้ให้ กฤษฎีกา ทำร่างสัญญาเป็นชุด แต่ที่กำลังลงนามในวันนี้ น่าจะเปลี่ยนจากที่ตนมีอยู่ แล้วใครเปลี่ยน แล้วคนเปลี่ยนต้องรับผิดชอบ เพราะในสัญญาเดิมบอกว่าการสร้างงานเดินรถ ส่องมอบแล้วค่อยรับเงินจากหลวง แต่ของใหม่ ถ้าผิด สำนักงานอีอีซีต้องชี้แจงด้วย ส่วนตัวไม่ปฏิเสธเรื่องการพัฒนา แต่ถ้าจะทำก็ต้องมีความเป็นธรรมและโปร่งใส

"ผมเข้าใจว่า สิ่งสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่มักกะสัน โครงการนี้ขาดทุนแน่นอน แต่รายได้จะอยู่ที่มักกะสัน จะเป็นทำเลทอง เพราะถ้าสยามพารากอน สร้างบนพื้นที่ไม่เกิน 80 ไร่ กลายเป็นแลนมาร์กได้ ยกพารากอนไปอยู่มักกะสัน ก็จะเป็นทอง เพราะเป็นแปลงใหญ่ที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องติดตามให้ดีว่าจะส่งมอบตอนไหน และตัดตรงไหน" นายบากบั่น ระบุ