ไม่พบผลการค้นหา
หลายครอบครัวในเกาหลีใต้ตัดสินใจจบชีวิตในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเกี่ยวข้อง 'ปัญหาเศรษฐกิจ' ทำให้รัฐบาลหนุนมาตรการสวัสดิการสังคมเชิงรุก ส่ง จนท.เยี่ยมคนตามบ้านที่มีประวัติค้างค่าน้ำ-ค่าไฟ-ประกันสังคม เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือ ป้องกันแรงกดดันไปสู่การฆ่าตัวตาย

เว็บไซต์ Hankyoreh สื่อของเกาหลีใต้ รายงานเหตุการณ์ที่มีผู้ฆ่าตัวตาย หรือฆ่าสมาชิกครอบครัวให้ตายพร้อมกันในปี 2019 รวมทั้งหมด 18 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 70 รายทั่วประเทศ ทั้งยังมีกรณีล่าสุดเกิดขึ้นที่เมือง 'กิมโป' ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดคยองกี เมื่อ 6 ม.ค.2020 โดยครอบครัวดังกล่าวประกอบด้วยผู้หญิง 2 คน และเด็ก 1 คน ส่วนจดหมายซึ่งพบในบ้านพักที่เกิดเหตุระบุว่า "เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า"

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานสวัสดิการสังคมในเกาหลีใต้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้าสืบค้นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เจ้าหน้าที่สวัสดิการสังคมได้ตระเวนเยี่ยมครอบครัวต่างๆ ในเมืองกิมโป โดยได้พุ่งเป้าไปยังครอบครัวที่เข้าข้าย 'กลุ่มเสี่ยง' ว่าอาจจะกำลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยอาศัยการตรวจสอบข้อมูล Big Data เกี่ยวกับการจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ-ค่าไฟ รวมถึงประกันสังคม

หากพบว่าบุคคลใด หรือครอบครัวใด มีประวัติค้างจ่ายค่าเช่า-ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ติดต่อกัน อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าครอบครัวเหล่านี้กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน เจ้าหน้าที่ต้องติดต่อไปให้คำแนะนำว่ามีมาตรการใดบ้างที่แต่ละครอบครัวจะสามารถขอความช่วยเหลือได้

มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากมีผู้พบศพแม่และลูกสาวอีก 2 คน ที่ห้องพักแห่งหนึ่งในเขตซงพา กรุงโซล ในที่เกิดเหตุพบซองจดหมายบรรจุเงิน 700,000 วอน พร้อมข้อความระบุว่า "พวกเราขอโทษ เงินทั้งหมดเป็นค่าเช่าห้องและค่าน้ำค่าไฟที่ค้างอยู่" 

ตลาดเกาหลีใต้-ผีน้อย-rawkkim-1061192-unsplash.jpg

เมื่อตำรวจสอบสวนคดีเพิ่มเติมพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว โดยผู้เป็นแม่มีอายุกว่า 60 ปีแต่ยังต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกสาวสองคนที่ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดัน และครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2002 เพราะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลพ่อที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งอยู่นานหลายปีก่อนจะเสียชีวิตไป

ครอบครัวนี้ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากระบบสวัสดิการสังคมแบบเดิมได้ เพราะลูกสาวทั้ง 2 คนถูกระบุว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่ได้ป่วยด้วยโรคร้ายแรง แต่สุขภาพของทั้งคู่ไม่ดีนัก ไม่สามารถช่วยแม่ทำงานได้เต็มที่

หลังจากเหตุการณ์ฆ่าตัวตายยกครัวที่ซงพาเมื่อปี 2014 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกคำสั่งให้ปรับแก้กฎหมาย เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนที่มีปัญหาเศรษฐกิจขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมได้ แต่คนจำนวนมากที่ประสบปัญหาไม่อาจขอความช่วยเหลือได้ เพราะเงื่อนไขในการขอรับสิทธิดังกล่าวไม่ครอบคลุมเพียงพอ

The Korea Times สื่อเกาหลีใต้อีกสำนักหนึ่ง รายงานข่าว Welfare system failing to rescue poor โดยระบุว่า ระบบสวัสดิการสังคม 'ล้มเหลว' ในการช่วยเหลือคนยากจน พร้อมอ้างถึงกรณีครอบครัวหนึ่งซึ่งถูกปฏิเสธคำร้องขอความช่วยเหลือ หลังจากพ่อที่เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวมาตลอดประสบอุบัติเหตุรถชน และต้องรักษาตัวนานหลายเดือน ทำให้ครอบครัวขาดรายได้และขาดเงินหมุนเวียน ถึงขั้นไม่มีเงินซื้ออาหาร แต่ก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ เพราะรายได้รวมของครอบครัวที่ระบุไว้ในประวัติการจ่ายภาษีก่อนหน้านี้ 'สูงกว่า' รายได้ที่กำหนดให้เป็นเกณฑ์ในการขอรับเงินช่วยเหลือ ครอบครัวนี้จึงต้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเอกชนแทน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่รู้จักองค์กรเอกชนที่ให้การช่วยเหลือด้านนี้ และหลายครอบครัวก็ไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิจะขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจฆ่าตัวตาย หรือฆ่าสมาชิกครอบครัวให้ตายไปพร้อมกัน เพราะได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ

unsplash-คนแก่ ร้านขายนาฬิกา เกาหลีใต้ ผู้สูงวัย สูงอายุ.jpg

หลังจากเกิดเหตุฆ่าตัวตายทั้งครอบครัวครั้งล่าสุดที่เมืองกิมโป ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานสวัสดิการสังคมของเกาหลีใต้จึงได้ออกนโยบายเร่งด่วน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าเก็บข้อมูลและสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เพื่อนำไปประเมินเป็นนโยบายป้องกันและแก้ไขในระยะยาว

ภายใต้ระบบสวัสดิการสังคมของเกาหลีใต้ปัจจุบัน ครอบครัวที่มีรายได้ต่อเดือนรวมแล้วต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่รัฐบาลตั้งไว้ สามารถขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากหน่วยงานภาครัฐได้ ประกอบด้วย เงินช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลฟรี และเงินช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรหลานในอุปการะ

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นยังได้ขอความร่วมมือไปยังเจ้าของอพาร์ตเมนต์หรือผู้ประกอบกิจการที่พักอาศัยต่างๆ ให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเสี่ยงให้แก่เจ้าหน้าที่สวัสดิการสังคมรับทราบ เช่น ผู้เช่าที่ค้างค่าเช่าหรือค่าสาธารณูปโภคนานหลายเดือน เพื่อจะได้ส่งคนเข้าตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา

แต่ข้อจำกัดที่สำคัญคือ 'บุคลากร' ที่จะต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล มีจำนวนไม่เพียงพอกับกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มผู้ต้องได้รับการช่วยเหลือ อาจทำให้กระบวนการเก็บข้อมูลล่าช้าไม่ทันการณ์ อีกประเด็นหนึ่ง คือ ประชาชนจำนวนมากไม่ค่อยสะดวกใจที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เมืองกิมโปบอกกับ Hankyoreh เพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตลำพังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องใส่ใจและให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองสามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐเพิ่มเติมได้นอกเหนือจากเงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับ

ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุบางรายบอกว่าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าลูกของเขามีรายได้รวมสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่เขาไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับลูก และไม่ได้ติดต่อลูกนานแล้ว

นอกจากนี้ยังมีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอีกหลายครอบครัวที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงต้องใช้วิธีติดป้ายข้อความประชาสัมพันธ์ไว้หน้าบ้านแทน และตั้งเป้าว่าจะต้องแวะมาอีกครั้ง

ที่มา: Hankyoreh/ Korea Times

ภาพ: Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: