ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองจากการรัฐประหาร ผ่านไป 1 สัปดาห์เต็ม โรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีซิมบับเวก็ยอมลาออกจากตำแหน่งตามแรงกดดันของทุกฝ่าย ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของการสิ้นสุดยุคเผด็จการที่ผู้นำเพียงคนเดียวปกครองประเทศมา 37 ปี แต่ชัยชนะครั้งนี้เป็นของใคร และดอกไม้ที่ชื่อประชาธิปไตย จะงอกงามออกมาจากปลายกระบอกปืนได้จริงหรือ?

1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นการรัฐประหารที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก แม้แต่ไทยที่คุ้นเคยกับการรัฐประหารมากกว่าใคร ก็ยังยากจะทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซิมบับเว เริ่มต้นจากการรัฐประหารที่กองทัพยืนกรานว่าไม่ใช่รัฐประหาร แต่ก็ส่งทหารเข้ายึดเมืองหลวง ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐ คุมตัวประธานาธิบดีไว้ในบ้านพัก แต่กลับกดดันให้มูกาเบลงจากตำแหน่งเองแทนที่จะสั่งปลดเขา

สถานการณ์แปลกประหลาดยิ่งขึ้นเมื่อพรรครัฐบาลเองก็แปรพักตร์ ร่วมกับทหารกดดันให้นายมูกาเบลาออก ทั้งที่เขาถือเป็นเสาหลักของพรรคตั้งแต่นำกองทัพประชาชนปลดแอกประเทศจากการปกครองของอังกฤษเจ้าอาณานิคม และแปลกขึ้นไปอีกเมื่อมูกาเบไม่ยอมลาออก ทั้งที่ถูกทหารกดดัน ถูกพรรคทอดทิ้ง และประชาชนก็เริ่มออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้เขาลาออกเพื่อเริ่มต้นบทใหม่ของประเทศเสียที

เหตุการณ์มาถึงจุดตึงเครียดเมื่อทุกเสียงประสานกันกดดันมูกาเบ ทั้งประชาชนที่เคลื่อนไหวบนท้องถนน พรรครัฐบาลที่เคลื่อนไหวผ่านรัฐสภา ขู่จะเริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ และยังเสียงจากองค์กรระดับภูมิภาคอย่าง SADC หรือประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพแอฟริกา หรือ AU ที่เข้ามาล็อบบีให้มูกาเบลาออก มิฉะนั้นจะถูกประชาคมแอฟริกาคว่ำบาตร

Zimbabwe Political Tu_Rata.jpg

โรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีซิมบับเว เป็นผู้นำที่อายุมากที่สุดในโลก ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 93 ปี

เมื่อถูกกดดันจากทุกๆทาง มูกาเบที่ถูกโดดเดี่ยวแม้แต่จากคนของตัวเอง จึงยอมประกาศลาออก ปิดฉากการปกครองอันยาวนาน 37 ปี ที่ค่อยๆเปลี่ยนเขาจากวีรบุรุษผู้ปลดแอกประเทศจากการปกครองของเจ้าอาณานิคม เป็นเผด็จการที่ประชาชนเกลียดชัง ชาวซิมบับเวต่างออกมาเฉลิมฉลองให้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์นี้อย่างยิ่งใหญ่ มีการเซลฟีกับทหาร ปีนรถถังถ่ายรูปอย่างคึกคัก ในฐานะที่ทหารเป็นผู้จุดชนวนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

แต่คำถามคือ ใครควรเป็นผู้ได้เครดิตในชัยชนะครั้งนี้ ทหาร ประชาชน หรือองค์การภูมิภาค? 

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าแม้แรงกดดันจากทั้งประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา (21 พ.ย.) พรรครัฐบาลที่ขับเคลื่อนกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ และปลดนายมูกาเบจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และจากทหารที่ยังคุมเมืองหลวงอยู่ แต่ฟางเส้นสุดท้ายน่าจะเป็นความเคลื่อนไหวจาก SADC เพราะหากนายมูกาเบตัดสินใจลาออกจากแรงกดดันทางฝั่งพรรคการเมืองหรือทหาร เขาก็ควรจะลาออกตั้งแต่ก่อนเดดไลน์ที่พรรครัฐบาลยื่นให้ คือวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว แต่นายมูกาเบกลับออกแถลงการณ์ยืนยันว่าเขาไม่ลาออก ซึ่งสร้างความแปลกใจและปั่นป่วนให้กับการเมืองซิมบับเวอย่างหนัก 

Zimbabwe Political Tu_Rata(1).jpg

ชาวซิมบับเวนับแสนคนออกมาประท้วงบนท้องถนนในเย็นวันอังคาร หลังเลยกำหนดเส้นตายที่พรรครัฐบาลกำหนดแล้วนยโรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดี ยังไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง แต่หลายคนยังเกรงใจเขาที่เป็นบิดาของชาติ ใช้คำว่า "มูกาเบสมควรพักผ่อนได้แล้ว" แทนการประณามด้วยถ้อยคำรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง กลับมีอีก 2 ปัจจัยเกื้อหนุนให้นายมูกาเบต้องเปลี่ยนใจอย่างกะทันหัน นันก็คือการประชุมของ SADC ที่คาดกันว่านายมูกาเบคงได้รับเงื่อนไขเป็นคำตายว่าหากเขาไม่ลาออก จะถูกคว่ำบาตรจากทั้งภูมิภาค และอีกปัจจัยสำคัญคือการเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนหลังจากผ่านเส้นตายแล้วมูกาเบยังไม่ยอมลาออก แรงกดดัน 2 ประการสุดท้ายนี้ ทำให้มูกาเบตระหนักว่าหลังของเขาว่างเปล่าอย่างแท้จริง ไม่มีทั้งกองทัพ พรรค ประชาชน และแรงใจจากประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าใครเป็นเจ้าของชัยชนะในศึกโค่นบัลลังก์มูกาเบ ก็คือชัยชนะนี้จะนำพาซิมบับเวไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่?

บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคม กล่าวว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในซิมบับเว และอังกฤษคาดหวังจะให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมขึ้นภายในปีหน้า เช่นเดียวกับฝ่ายค้านและประชาชนส่วนใหญ่ในซิมบับเวที่คาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น 

000_UH4U5.jpg

ประชาชนจำนวนมากออกมาถายรูปกับทหารและรถถังที่จอดคุมเชิงอยู่ในเมืองหลวง เพื่อขอบคุณทหารที่จุดชนวนการเปลี่ยนแปลงในซิมบับเว

แต่หากมองภาพของการเฉลิมฉลองบนท้องถนนในซิมบับเวให้ดีๆ ภาพประชาชนถ่ายรูปเซลฟีกับรถถัง สะท้อนการเมืองของซิมบับเวตอนนี้ได้อย่างชัดเจน ว่าการเปลี่ยนแปลงและความหวังในประชาธิปไตย ได้มาจากวิถีแห่งเผด็จการ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ คือการแก่งแย่งตำแหน่งทายาททางการเมืองต่อจากมูกาเบ ระหว่างรองประธานาธิบดีเอ็มเมอร์สัน นังกากวา ที่ทหารและผู้อาวุโสในพรรครัฐบาลสนับสนุน กับเกรซ มูกาเบ สตรีหมายเลขหนึ่ง จนทหารต้องออกมายึดอำนาจ โดยอาศัยแรงกดดันจากประชาชนเป็นเครื่องมือเท่านั้น 

ดอกไม้ที่ชื่อว่าเสรีภาพ จะงอกออกมาจากปลายกระบอกปืนได้ หรือซิมบับเวจะเพียงเปลี่ยนมือจากเผด็จการคนหนึ่งไปสู่อีกคน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามตอนต่อไป