ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.อนาคตใหม่ หวั่นสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนไทยเท่ากับเยอรมันในปี 1970 ทั้งที่ป้องกันได้ด้วยงบประมาณการลงทุน แต่ถูกตัดไปร้อยละ 46 แนะกระจายงบให้โรงพยาบาลจัดสรรเครื่องมือแพทย์เอง ตอบโจทย์ประชาชนมากกว่าตั้งงบรวมศูนย์

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส. เชียงราย พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เรื่องการใช้งบประมาณรวมศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เวลาไปโรงพยาบาลจะเห็นว่าเครื่องไม้เครื่องมือในโรงพยาบาลได้มาจากงบประมาณที่ส่งไปยังกระทรวงสาธารณสุข ส่วนเรื่องของการชดเชยค่ารักษาพยาบาล การจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องของกองทุนต่างๆ และส่วนสุดท้ายคือหน่วยงานต่างๆ ตนจะไม่พูดถึงความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนประกันสุขภาพ แต่จะพูดถึงเรื่องงบประมาณในการดูแลคนไข้ ซึ่งงบประมาณปีนี้ 3.2 ล้านล้านบาท ลงไปที่กระทรวงสาธารณสุข 1.37 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.3 ของงบประมาณทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อดูงบส่วนนี้จะเห็นว่า ร้อยละ 77.8 หรืองบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นงบบุคลากร ที่เหลือร้อยละ 12.6 เป็นงบลงทุน ซึ่งงบบุคลากรนี้ก็ยังมีแพทย์และบุคลากรอีกจำนวนมากที่รอบรรจุ จะเห็นได้ว่างบลงทุนน้อยมาก และปัญหาที่ตนเจอคือ 1.จัดงบประมาณที่ไม่ตอบสนองต่อโรค และ 2.ไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

นพ.เอกภพ กล่าวต่อว่า เมื่อดูจากสถิติจะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดคืออุบัติเหตุทางถนน และอันดับที่ 3 ในปี 2552 คือ HIV แต่ปีต่อๆ มาก็ลดลง เนื่องจากรัฐมีการลงทุน มีการให้ยาต้านไวรัส คนไข้ HIV จึงมีสุขภาพที่ดีขึ้นและเสียชีวิตน้อยลง แต่อุบัติเหตุทางถนนยังคงมีอัตราการเสียชีวิต 32 คนต่อแสนคนต่อปี ในอาเซียนพุ่งเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่การจัดงบประมาณ รัฐบาลได้ลดงบประมาณกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งเป็นการใช้จ่ายค่ารถพยาบาล และกู้ภัยตามท้องถนน ถูกตัดลดลงไปร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งที่จำนวนการรับคนไข้มากขึ้นทุกปี

นอกจากนี้งบประมาณที่สนับสนุนไปที่สำนักงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ ถูกตัดไปร้อยละ 37 รวมงบประมาณการแพทย์ฉุกเฉินถูกตัดไปร้อยละ 46 จากปีที่แล้ว ส่งผลให้คนไข้จะรับการดูแลบนท้องถนนได้ไม่ดี การเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือการชันสูตรศพ แต่งบประมาณของแพทย์ที่ชันสูตรศพก็หายไป เท่ากับว่าคนไข้ก็ไม่มีคนรับ เสียชีวิตก็ไม่มีคนชันสูตรเพื่อความเป็นธรรม แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน?

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข ประกอบด้วยบุคลากร และเครื่องมือ คนไทยมีแพทย์ต่อประชาชนเพียง 0.5 น้อยกว่าบรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และผลิตแพทย์ได้เพียง 2,700 คนต่อปี ถ้ายังผลิตแพทย์ด้วยจำนวนนี้ไปเรื่อยๆ ต้องใช้เวลา 20 ปีถึงจะเท่ากับประเทศในอาเซียนที่กล่าวมา และใช้เวลา 105 ปี ถึงจะเท่ากับประเทศออสเตรีย ดังนั้นถ้าเรายังอยู่ในวิธีคิดเดิมว่าจะต้องหาคนมาผลิตแพทย์เยอะๆ ยังไงก็ไม่ทัน และไม่เพียงพอ ตามโรคไม่ทัน อีกทั้งยังกระจายแพทย์ไม่ทัน เพราะในกรุงเทพฯ มีแพทย์มากกว่าที่อื่นถึง 3-5 เท่า หรือ 1 ต่อ 710 ขณะที่ภาคอื่นๆ 1 ต่อหลายพันคน ดังนั้นการผลิตแพทย์ไม่ทันต่อยุคสังคมผู้สูงวัย

อีกทั้งเครื่องมือการแพทย์ก็ยังมีปัญหา เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและเพียงพอต่อประชากรก็มีมากแค่ในกรุงเทพฯ เช่น ภาคอีสานมีเครื่องทีซีแสกน 3 เครื่องต่อประชากร 1 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าการกระจายไม่เท่าเทียม ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากการจัดการที่ส่งมาจากกระทรวง ภูมิภาค และจังหวัด โรงพยาบาลหนึ่งที่ต้องการเครื่องมือการแพทย์ก็ต้องเรียงลำดับความสำคัญที่สาธารณสุขจังหวัด เขตสุขภาพ และสำนักงานปลัดกระทรวง ตามลำดับและต้องตัดความต้องการของโรงพยาบาลออก

นพ.เอกภพ กล่าวด้วยว่า ถ้าเราจัดสรรงบประมาณใหม่ โรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศ 723 โรง จัดงบประมาณลงทุนปีนี้ 14,000 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลละ 10 ล้านบาทไปทำงบลงทุนของตัวเอง ทั้งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการเบิกจ่ายบงบประมาณเพียงแค่ร้อยละ 50 ถ้าเราเอางบประมาณลงทุนปีนี้มาครึ่งหนึ่งที่มีการเบิกจ่ายไม่มีประสิทธิภาพส่งไปตรงให้กับโรงพยาบาลเบิกจ่ายเอง จะได้ของที่โรงพยาบาลนั้นได้ใช้ประโยชน์จริงๆ

"ทุกวันนี้บางโรงพยาบาลมีรถพยาบาลอายุกว่า 20 ปียังใช้อยู่ อีกข้อเสนอหนึ่งคือเพิ่มงบประมาณการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้การดูแลประชาชนได้ดีมากขึ้น ควรมีแพทย์ดูแลตลอดทาง คนไข้ถึงจะปลอดภัย อัตราการเสียชีวิตของคนไทยบนท้องถนนทุกวันนี้เท่ากับปี 1970 ของประเทศเยอรมัน ซึ่งประเทศนี้แก้ปัญหาโดยการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีเฮลิคอปเตอร์รับคนไข้ สิ่งนี้ทำให้อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลง ซึ่งนี่คืองบประมาณการลงทุนที่รัฐต้องทำ เพราะงบนี้อาจไม่ตอบสนองต่อคนไข้ ดังนั้นต้องคิดใหม่และทบทมวนวิธีการใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนและการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน" นพ.เอกภพ กล่าว