ไม่พบผลการค้นหา
อดีต กกต. แนะพรรคอื่นออกมายืนยันเรื่องเงินกู้ว่า ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน อย่ากลัวติดร่างแห่ ย้ำทุกฝ่ายควรต้องส่งเสริมหลักการที่ถูกต้อง สร้างสังคมนิติรัฐที่น่าอยู่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่การกู้เงินของพรรคการเมือง โดยระบุว่า จุดยืนตั้งแต่เริ่มต้น คือ เงินกู้ เงินยืม คือ หนี้สิน ไม่ใช่รายได้ตามมาตรา 62 ไม่ใช่เงินบริจาคตามมาตรา 66 และไม่ใช่ประโยชน์อื่นที่รู้ หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72

"สิ่งที่ยืนยันความเห็นของผม คือ เอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเก่าหรือกฎหมายใหม่ ตามหลักฐานที่ กกต.เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2556-2561 ปรากฏรายการเงินกู้ เงินยืม เงินทดรองจ่ายของพรรคการเมืองมากมายนับสิบพรรค ในรายการหมวดหนี้สิน ไม่ใช่หมวดรายได้" นายสมชัย กล่าว

แต่เมื่อ กกต.ชุดปัจจุบัน สร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยเห็นว่า เงินกู้ เป็น ประโยชน์อื่นที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบ (ม.72) เนื่องจากไม่ปรากฏรายการเงินกู้ ในหมวดรายได้ (ม.62) และถือเป็นความผิดในระดับ ยุบพรรค ตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และดำเนินคดีอาญาถึงขั้นจำคุก จึงเห็นว่า ยุทธศาสตร์ และท่าทีของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าต่อดังนี้

1. กกต. ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า สิ่งนี้เป็นความผิด และ ทุกกรณีที่เป็น "ความปรากฏ" ต่อสายตา นายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้อง ต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน 16 พรรคที่กู้ และ อีก 16 พรรคที่ยืม รวม 32 กรณี ต้องนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.เพื่อวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด และส่งฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาล หรือฝ่ายค้าน

2. ศาลรัฐธรรมนูญ ควรเปิดโอกาสให้มีการไต่สวนก่อนมีคำวินิจฉัย คือเปิดให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูล หลักฐาน และเหตุผล ที่ชัดเจนและเพียงพอ เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เนื่องจากเป็นประเด็นยุบพรรคและตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต เทียบเท่าการประหารชีวิตทางการเมือง

3. พรรคอนาคตใหม่ ต้องเดินหน้าต่อสู้ด้วยหลักฐานและเหตุผล ไม่ต้องมองสถานการณ์แบบเลวร้ายสุด (worst case scenario) ที่ไปประเมินว่าโดนยุบพรรคแน่ กรรมการบริหารที่เป็น ส.ส.ไม่จำเป็นต้องลาออกเพื่อเลื่อนอันดับคนในบัญชีรายชื่อเพียงเพื่อต้องการรักษาจำนวน ส.ส. ขอให้สู้ตามหลักการให้ถึงที่สุด หลังจากนั้นเป็นเรื่องของอนาคต

4. พรรคการเมืองที่เหลือ ต้องมีความเห็นต่อสาธารณะในประเด็นดังกล่าว ไม่ใช่ว่า ตัวเองไม่เกี่ยว รอดแล้ว ก็เงียบๆ หรือเห็นว่า ตัวเองก็กู้ ก็ยืม แต่ก็เงียบไม่พูด เพื่อเอาใจ กกต. หรือกลัวว่าจะติดร่างแหไปด้วย สิ่งใดไม่ถูก ต้องกล้าพูด กล้าเปิดเผย

5. ทุกคนทุกฝ่าย ต้องส่งเสริมให้เดินหน้าด้วยหลักการที่ถูกต้อง เป็นมาตรฐาน ใครเป็นบิดาแห่งข้อยกเว้น ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นบิดาของหลักกฎหมายที่ยึดหลักนิติธรรม ช่วยกันสร้างสังคมนิติรัฐที่น่าอยู่ มิให้คนในสังคมรู้สึกว่า หากเป็นพวกเอ็งผิดตลอดแต่หากเป็นพวกข้าไม่เคยผิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :