ไม่พบผลการค้นหา
รมต. ดีอี แถลงข่าวจับกุมผู้ก่อเหตุแฮ็กไลน์กลุ่มได้ 2 ราย ย้ำข่าวปลอมมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างรวมถึงชีวิตและทรัพย์สินประชาชน สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม - ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ

13 พ.ย. 2562 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรุปการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ทั้งจากการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอม พบว่ามีการส่งข้อความเข้ามาทั้งหมด 7,962 ข้อความ รวมถึงข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หรือ verify 45 ข้อความ โดยแบ่งเป็นช่องทาง Social Listening Tool ช่องทาง Line Official ช่องทาง Website Manual Social Listening เป็นแบ่งประเด็นเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ 21.2 เปอร์เซ็นต์ นโยบายรัฐบาล 16.7 เปอร์เซ็นต์ ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง 15.2 เปอร์เซ็นต์ ภัยพิบัติ 13.6 เปอร์เซ็นต์ การเงินและหุ้น 13.6 เปอร์เซ็นต์ ข่าวอื่น ๆ 13.6 เปอร์เซ็นต์ และยาเสพติด 7.6 เปอร์เซ็นต์

ส่วนใหญ่จะพบเรื่องที่เป็นกระแสของสังคม จึงมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน โดยประเด็นข่าวปลอมที่พบมากที่สุดจะเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่อ้างการรักษาต่างๆ โดยไม่เคยถูกขึ้นทะเบียนยา แอบอ้างสรรพคุณการรักษาต่างๆ ซึ่งควรให้ประชาชนรับรู้และทราบดังนี้ จากการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย. การขายยาที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขาย และยังไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา มีความผิด และหากมีการโฆษณาขายยา จะต้องขออนุญาตก่อน พร้อมเตือนผู้บริโภคควรระวังการซื้อยาจากเว็บไซต์ อาจมีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง เสี่ยงอันตราย ทั้งอาจได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ และผลข้างเคียงจากยาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้ การขายยาต้องได้รับการอนุญาตก่อน เนื่องจากยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป ต้องขายในสถานที่อนุญาต การขายยาบนอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าข่ายกระทำความผิด อาจต้องระวางโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และอาจเข้าข่ายผิดโฆษณายาอีก การโฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในส่วนนี้ มี พ.ร.บ.ที่ควบคุมอยู่คือ พ.ร.บ.อาหาร และ พ.ร.บ. ยา

การใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นองค์ประกอบการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย/ กฎหมายนานาชาติ (เชื่อมโยงการใช้งาน/ปรากฏเนื้อหา ข้อความ ภาพเคลื่อนไหว หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง Social Media) อาทิ (1) การก่อการร้ายสากล / ปัญหาชายแดนภาคใต้ (2) ความรุนแรงสุดโต่ง (3) ยาเสพติด (4) การลามกอนาจาร / เด็กและเยาวชน (5) อาหาร ยา วัตถุอันตราย เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายและอันตราย (6) การฉ้อโกง หลอกลวงทรัพย์ (7) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเครื่องหมายการค้า ภาพยนตร์ เพลง (8) สินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น (9) ความมั่นคงของประเทศ สถาบันหลักของชาติ (10) ความสงบเรียบร้อยของสังคม / ขัดศีลธรรม จารีต ประเพณีอันดีของไทย เป็นต้น

“การดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เน้นย้ำว่าข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ และสิ่งที่สำคัญเรายึด code-of-principles ดังนี้ 1. ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว 2. ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว 3. การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง 4. ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน 5. สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ 6.มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้นๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และโปร่งใส และสุดท้าย 7.เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ” นายพุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดในกลุ่มสนทนาแอปพลิเคชั่นไลน์ (LINE) โดยมีผู้ใช้งานนิรนามแฮ็กเข้ามาในกลุ่มไลน์หลายกลุ่มโดยไม่ได้รับเชิญ เมื่อเข้ามาแล้วจะส่งลิงก์เว็บไซต์ลามก แฝงโฆษณา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหากผู้ใช้งานในกลุ่มไลน์หลงกลคำเชิญชวนกดลิงก์เว็บไซต์ดังกล่าว คนร้ายจะได้ข้อมูลเข้าถึงกลุ่มไลน์ต่างๆ ของผู้ใช้งานนั้น และจะทำให้คนร้ายสามารถส่งผู้ใช้งานนิรนามเข้าไปยังกลุ่มไลน์ หลายๆ กลุ่มโดยไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนการให้ผู้ใช้งานไลน์ให้ระมัดระวังการกดลิงค์ และแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในช่องทางเพจเฟซบุ๊ก “ชัวร์ก่อนแชร์” ของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักงานข่าวไทย และเว็บไซต์ของบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กองบัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ดำเนินการสืบสวนหาตัวคนร้ายกรณีดังกล่าว ซึ่ง บก.ปอท. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ใช้แอป LINE ในการติดต่อสื่อสารและปฏิบัติงานราชการต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบ มีผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ามาในกลุ่มไลน์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ด้วยภายใต้การอำนวยการของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมดำเนินการปฏิบัติการตามล่าผู้แฮ็กระบบเข้ากลุ่มไลน์ หรือ “LINE Group Hacker” ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2562 ได้จับกุมตัวผู้ต้องหา จำนวน 1 ราย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1540/2562 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2562 ได้ที่ซอยบุปผาบุรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. พร้อมตรวจ ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่ง ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีและส่งของกลางตรวจพิสูจน์เพื่อทำการขยายผลไปยังผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป และต่อมาวันที่ 6 พ.ย. 2562 มีผู้ต้องหามามอบตัวอีก 1 ราย รวมมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันทั้งหมด 2 ราย

ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้นำโปรแกรมสร้างลิงก์ดูดข้อมูลกลุ่มไลน์ เมื่อสร้างลิงก์ไลน์แล้วและมีผู้ใช้งานกดลิงก์ไลน์ดังกล่าว จะถูกดูดข้อมูลลิงก์เชิญเข้ากลุ่มไลน์ เมื่อผู้ต้องหาได้ข้อมูลลิงก์ เชิญเข้ากลุ่มไลน์แล้ว จะส่งผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ากลุ่ม และแชร์เว็บไซต์ลักษณะลามก ซึ่งแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 12 “เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศฯ” มีอัตราโทษสูงสุด จำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท

นอกจากนี้ยังรวมถึงมาตรา 11 ความผิดเกี่ยวกับสแปม “ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข” มีอัตราโทษสูงสุด 100,000 บาท และมาตรา 14(5) “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกฯ” มีอัตราโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนท่านใดเผลอกดลิงก์เว็บไซต์ดังกล่าว ให้ทำการตรวจสอบในแอปพลิเคชันไลน์ได้ที่ การตั้งค่า>บัญชีผู้ใช้งาน>อุปกรณ์ที่เข้าสู่ระบบ หากอุปกรณ์ใดที่ท่านไม่เคยใช้งานมาก่อน ให้ทำการออกจากระบบ (Log Out)

ทั้งนี้ หากประชาชนพบผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ากลุ่มไลน์ และเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสไปยัง “ศูนย์ต่อต้านความปลอม” (Anti Fake News Center) ทางเว็บไซต์ antifakenewscenter.com หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 2288 8000 เพื่อจะได้ดำเนินการสืบสวนปราบปรามต่อไป