ไม่พบผลการค้นหา
รายงานจากหูรุ่นรีพอร์ต เผยว่าจีนมีสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์นมากกว่าสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกด้วยจำนวน 206 บริษัท

วันที่ 21 ตุลาคม บริษัทวิจัยหูรุ่นรีพอร์ต (胡润: Hurun Report) เผยรายงานการจัดอันดับสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นประจำปี 2019 ระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 30,000 ล้านบาท) ทั้งหมด 494 บริษัท มูลค่ารวมของยูนิคอร์นทั้งหมดในโลกอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 51 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ ข้อมูลของหูรุ่นเป็นมูลค่าบริษัทที่เก็บในเดือนมิถุนายน 2019

ทางหูรุ่นระบุว่านี่เป็นปีแรกที่ประเทศจีนมีบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมากกว่าสหรัฐฯ โดยมีทั้งสิ้น 206 บริษัท แซงสหรัฐฯ ที่มีอยู่ 203 บริษัทไป สองชาติซึ่งมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นมากที่สุดในโลกนี้ รวมกันแล้วคิดเป็น 83 เปอร์เซ็นต์ของยูนิคอร์นทั้งหมด รองลงมาคืออินเดีย 21 บริษัท และสหราชอาณาจักร 13 บริษัท ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกยังคงมีสตาร์ทอัพระดับนี้อยู่ในหลักหน่วยเท่านั้น

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่มียูนิคอร์นได้แก่ อินโดนีเซีย 4 บริษัท สิงคโปร์ 2 บริษัท และฟิลิปปินส์ 1 บริษัท

รูเพิร์ต ฮูกเวิร์ฟ ประธานของหูรุ่นรีพอร์ต กล่าวว่าจีนและสหรัฐฯ เป็นเจ้าของสตาร์ทอัพยูนิคอร์นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในโลก แม้ว่าจะมีประชากรคิดเป็นหนึ่งในสี่ของโลก ประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องตื่นตัวในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ยูนิคอร์นเติบโต

ตามรายงานของหูรุ่น ยังเผยอีกว่ายูนิคอร์นที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุดสามอันดับแรกในปัจจุบันเป็นของจีนทั้งหมด โดยอันดับหนึ่งคือแอนต์ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ในเครืออาลีบาบา เป็นที่รู้จักจากบริการอาลีเพย์ (Alipay) และเป็นสตาร์ทอัพด้านทางการเงิน (Fintech) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกด้วยมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.5 ล้านล้านบาท)

ยูนิคอร์นที่มีมูลค่าลงทุนสูงเป็นอันดับที่สองของโลกคือ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) สตาร์ทอัพด้านสื่อและความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันจากแอปฯ โซเชียลมีเดียติ๊กต็อก (TikTok) มีมูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท)

สำหรับอันดับสามได้แก่ตีตี้ชู่ฉิ่ง (滴滴出行: Didi Chuxing) สตาร์ทอัพด้านแชริงอีโคโนมีที่มูลค่าสูงที่สุดในโลก โดยมีบริการหลักลักษณะเดียวกับอูเบอร์ มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท)

บริษัทที่เป็นที่รู้จักกันในบ้านเราก็ติดอันดับด้วยเหมือนกัน เช่น แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) จากสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 6 ด้วยมูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอีลอน มัสก์ อยู่อันดับที่ 8 ด้วยมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แกร็บ (Grab) จากสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 15 ด้วยมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลาซาดา (Lazada) จากสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 50 ด้วยมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ บางบริษัทเช่น อูเบอร์และสปอติฟายซึ่งเคยเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมาก่อนได้สูญเสียสถานะสตาร์ทอัพไป เนื่องจากมีการ IPO เข้าสู่ตลาดหุ้นเปิดขายให้ประชาชนทั่วไปแล้ว จึงไม่ได้ถูกนำมาจัดอันดับอีก

อย่างไรก็ตาม รายงานจากอีกแหล่งหนึ่งคือวิชวลแคปิทัลลิสต์ (Visual Capitalist) ซึ่งเผยเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ระบุว่าทั่วโลกมียูนิคอร์น 326 บริษัท โดยจีนมียูนิคอร์นเพียง 94 บริษัท ขณะที่สหรัฐฯ มี 156 บริษัท อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่ารายงานจากทั้งสองแหล่งมีนิยามของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่ต่างกัน เนื่องจากในรายงานของวิชวลแคปิทัลลิสต์นั้น สตาร์ทอัพอันดับหนึ่งคือไบต์แดนซ์เจ้าของ TikTok โดยไม่มีการนับแอนต์ไฟแนนเชียลเป็นสตาร์ทอัพทั้งนี้

โดยทั่วไปแล้วสตาร์ทอัพคือธุรกิจที่สามารถทำซ้ำได้และขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว มักได้รับการลงทุนจากเวนเจอร์แคปปิตอล (Venture Capital) หรือกองทุนร่วมลงทุน และมักมีการเอ็กซิต (exit) หรือถอนทุนพร้อมกำไรคืนให้ผู้ลงทุนทั้งหมด ด้วยการเข้าสู่ตลาดหุ้น หรือขายกิจการให้บริษัทอื่นๆ ซึ่งในบางนิยามก็นับว่าหมดสถานะของสตาร์ทอัพแล้ว โดยตามรายนงานของหูรุ่นนั้น สตาร์ทอัพทั้งหมดในรายงานมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปี

ฮูกเวิร์ฟ กล่าวว่าบริษัทสัญชาติจีนมีความสำเร็จในการแตกหน่อสตาร์ทอัพยูนิคอร์นมากที่สุด โดยมียูนิคอร์นชนิดแตกหน่อจากบริษัทเดิม 20 จาก 22 ยูนิคอร์นที่เกิดจากการแตกกิจการ เช่น อาลีบาบาที่เคยเป็นสตาร์ทอัพมาก่อน และสร้างกิจการอาลีเพย์ซึ่งภายในเวลาต่อมาก็โตขึ้นและกลายเป็นแอนต์ไฟแนนเชียล

จากรายงานของหูรุ่น ชนิดของธุรกิจสตาร์ทอัพที่โตกระทั่งเป็นยูนิคอร์นมากที่สุดอันดับหนึ่งคือสตาร์ทอัพอี-คอมเมิร์ซ 68 บริษัท อันดับสองคือสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเงินหรือฟินเทค 56 อันดับ อันดับสามคือสตาร์ทอัพธุรกิจคลาวด์คอมพิวติง 44 บริษัท อันดับที่ 4 คือสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์ 40 บริษัท และสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ 34 บริษัท

ที่มา: AFP / Hurun

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: