ไม่พบผลการค้นหา
สัปดาห์นี้ คงไม่มีข่าวใดจะได้รับความสนใจมากไปกว่า “คดีทุ่งใหญ่นเรศวร” ฉบับปี 2561 อีกแล้ว

ระหว่างที่เขียนก็มีข่าวว่า คณะของเจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่อิตาเลียนไทย ที่สื่อบางแห่งขนานนามใหม่ว่าเป็น “พรานไฮโซ” จะถูกตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมเป็นข้อหาที่สิบ คือ ติดสินบนเจ้าพนักงาน

หนึ่งในคุณูปการที่คาดไม่ถึงของคดีนี้ คือการที่หลายฝ่ายลุกขึ้นแก้ไขความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ “คดีตายายเก็บเห็ด” ที่มักถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงทันที่มีเศรษฐี-คนดัง-ผู้มีอำนาจถูกจับกุม ในทำนองว่า ดูสิ คนรวยไม่มีวันติดคุกหรอก มีแต่คนจนหาเช้ากินค่ำเท่านั้นแหล่ะ! ทั้งที่จริงๆ แล้วจำเลยในคดีนั้น มีอายุแค่สี่สิบกว่าๆ เท่านั้น ไม่ใช่ตายาย และข้อหาที่ศาลตัดสินให้จำคุก ก็คือลักลอบตัดไม้ ไม่ใช่เข้าไปเก็บเห็ด

ถ้าอยากรู้ว่า ที่มาของวาทกรรมสุดดราม่า “ตายายเก็บเห็ด” นี้มาจากไหน ลองใช้กูเกิ้ลหรือยูทูปย้อนดูข่าวเก่าๆ ก็จะหาต้นตอเจอได้ไม่ยาก

ในหลายๆ คดีที่ยังมีปริศนาหรือมีความซับซ้อน การแบ่งขั้วฮีโร่-ผู้ร้าย และตั้งสมมุติฐานง่ายๆ ในใจของผู้ติดตามไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่หากต้องการจะนำตัว “ผู้กระทำผิด” มาลงโทษให้ได้ การตั้งคำถามให้ตรงจุด น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าไปด่วนสรุปว่า ท้ายที่สุด คดีนี้ก็จะลงท้ายแบบมายาคติเรื่อง “ตายายเก็บเห็ด” ที่ว่า ยังไงๆ คนรวยก็ไม่ผิดอยู่วันยันค่ำ (เหมือนที่มีบางโพลออกมาระบุว่า คน 70% เชื่อว่าผู้ต้องหาในคดีนี้จะพ้นผิด)

จึงอยากชักชวนให้ทุกคน หันมาโฟกัสประเด็นที่สำคัญ เพื่อที่เวลาจี้ถามไปยังผู้เกี่ยวข้องจะได้มีพลัง ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงให้หลุดหรือหลงประเด็น

หนึ่ง อย่างที่รู้กันว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ. หลังจากคณะของเปรมชัยถูก วิเชียร ชิณวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและทีมงานเข้าจับกุม แต่กว่าจะนำตัวไปยื่นฟ้องกับ สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ก็อีก 2 วันถัดไป การเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งเขม่าดินปืน ลายนิ้วมือ รอยเท้า จุดที่ยิง พฤติกรรมการล่า ฯลฯ มีความรัดกุมเพียงพอแค่ไหน และต่อให้เก็บมาแล้ว ได้ถูกระบุไว้ในสำนวนหรือไม่ และอย่างไร

เพราะมีคดีเกี่ยวกับป่าไม้จำนวนนับไม่ถ้วน ที่เวลาจับกุมเป็นข่าวโด่งดังใหญ่โต แต่ท้ายสุดจำเลยกลับรอดคุก เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

และสำคัญที่สุด คือจะทำอย่างไรให้จำเลยยังอยู่ในประเทศ ในวันที่ศาลเรียกให้ไปต่อสู้คดี

สอง การควานหาจุดอ่อนในระบบของหน่วยงานราชการเองก็น่าสนใจ อย่าลืมว่าคดีนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่แรกๆ ว่าคณะของเปรมชัยเอาปืนล่าสัตว์เข้าไปในป่าอนุรักษ์ได้อย่างไร? พร้อมกับการพูดถึงคำว่า “แขกของผู้ใหญ่”

โดยเริ่มมีข่าวหลุดออกมาจากชุดพนักงานสอบสวน เรื่องอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตอนหลังผันตัวไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชน เป็นคนประสานงานให้สามารถพา “เสี่ย” เข้าไปตั้งแคมป์ได้ ทั้งๆ ที่ ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตเข้าพื้นที่ไม่ถูกต้อง คือไม่ได้ขอล่วงหน้า 5 วันตามระเบียบ แถมยังไปตั้งแคมป์ค้างคืนนอกสำนักพิทักษ์ป่า

สาม คดีทุ่งใหญ่ฯ ยังน่าขยายไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ ในการดูแลป่า โดยเฉพาะจำนวนเจ้าหน้าที่และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

เชื่อหรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่มีหน้าที่ดูแลทุ่งใหญ่นเรศวร เฉพาะด้านตะวันตก ซึ่งมีขนาดราว 1.33 ล้านไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพทั้งจังหวัด มีอยู่เพียง 200 คนเท่านั้น หรือเฉลี่ย 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ขนาดราว 6.5 พันไร่ หรือเท่ากับสนามหลวง 87 แห่ง หรือสวนลุมพินี 18 แห่ง

และเชื่อหรือไม่ว่า ส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า มีสถานะเป็นเพียง “ลูกจ้างประจำ” หรือ “ลูกจ้างชั่วคราว” เท่านั้น จึงไม่มีสวัสดิการเหมือนกับ “ข้าราชการ” นอกจากนี้ ยังไม่มีงบเฉพาะสำหรับงานลาดตระเวน ทำให้ต้องควักเนื้อเอาเงินเดือนมาออกเองในส่วนนี้

TDRI เคยคำนวณว่า งบในการดูแลป่าเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ราวไร่ละ 61 – 104 บาทเท่านั้น

สี่ หากมองให้กว้างออกไปอีก คดีทุ่งใหญ่ฯ 61 เป็นหนึ่งในกว่า 4,790 คดีเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในป่าที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเก้าปีหลัง (ระหว่างปี 2553 – 2561) จะทำอย่างไรเพื่อลดคดีเหล่านี้ ทั้งตัดวงจรการล่าสัตว์ป่าไปขาย หรือแก้ไขค่านิยมผิดๆ เรื่องการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงในหมู่คนมีสตางค์ จะได้ไม่เกิดคดีทุ่งใหญ่ฯ 62 63 64 อีก

จะเห็นได้ว่า คดีนี้สามารถแตกประเด็นไปตั้งคำถามต่อได้อีกมากมาย หากตั้งคำถามได้ถูก ตั้งคำถามถูกคน และไม่หยุดตั้งคำถาม บางทีเราอาจจะได้คำตอบที่ถูกด้วยก็เป็นได้

หวังว่าการให้ความสนใจอย่างล้นหลามของสาธารณชนในคดีนี้ จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในป่าใหญ่


พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog