ไม่พบผลการค้นหา
ซีรีส์ใหม่ของ Netflix ว่าด้วยเด็กนักเรียนมัธยมที่ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนด้วยการเป็นพ่อเล้าออนไลน์ที่คอยจัดหาเด็กไซด์ไลน์ให้พวกผู้ชาย

“ซีรีส์ออริจินอลของ Netflix หลายเรื่องก็ไว้ใจไม่ได้” เป็นคำขวัญที่กล่าวกันมาพักใหญ่ในหมู่คอซีรีส์ โอเคแหละ เรามีผลงานที่สุดยอดอย่าง The Crown, Dark หรือ Mindhunter แต่ในทางกลับกัน Stranger Things ก็สนุกน้อยลงเรื่อยๆ, 13 Reasons Why คือมหากาพย์แห่งความลำไย (สารภาพว่าผู้เขียนทนดูไม่จบ) อ้อ แล้วไหนจะ ‘เคว้ง’ ซีรีส์ไทยที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอิหยังวะ

Extracurricular จากเกาหลีใต้เป็นผลงานที่หากพิจารณาจากฉากหน้าก็น่าสนใจมาก มันว่าด้วยเด็กนักเรียนมัธยมที่ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนด้วยการเป็นพ่อเล้าออนไลน์ที่คอยจัดหาเด็กไซด์ไลน์ให้พวกผู้ชาย ซึ่งดูมีส่วนคล้ายกับคดีฉาวห้องแชต Nth Room (ห้องแชตที่คนจ่ายเงินเข้าไปดูคอนเทนต์ 18+ แต่สืบสวนพบว่าเด็กสาวหลายรายถูกบังคับให้ทำอนาจาร) อันเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมเกาหลีมาตั้งช่วงเดือนมีนาคม

ทว่า Extracurricular กลับกลายเป็นซีรีส์ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าดูจบครบ 10 ตอน แถมระหว่างทางยังสบถก่นด่าตัวละครไปนับครั้งไม่ถ้วน

ต้นเหตุแห่งความน่ารำคาญหลักมาจากบุคลิกและการตัดสินของซีจู (พระเอก) ที่ดูผิดที่ผิดทางไปเสียหมด ไล่ตั้งแต่การพกเงินสดเป็นฟ่อนใส่กระเป๋าเดินไปมา หรือมือถือเครื่องสำคัญที่ใช้ติดต่อกับลูกค้าก็ดันเสียบไว้ช่องข้างกระเป๋าแบบทนโท่ จนผู้ชมไม่เข้าใจเลยว่าเด็กเซ่อซ่าแบบนี้จะทำธุรกิจที่มีความซับซ้อนแบบในเรื่องได้อย่างไร

05.jpg

อีกสิ่งน่าขัดใจคือเรื่อง ‘จุดยืน’ ของตัวละคร อย่างเช่นมินฮี สาวเปรี้ยวประจำโรงเรียนที่ยืนยันว่าตัวเองขายตัวด้วยความเต็มใจ แต่เธอก็ดูไม่มีความสุขเอาเสียเลย และภายหลังเธอเปลี่ยนข้างไปให้ความร่วมมือกับตำรวจเสียดื้อๆ ทำเอาคนดูงงว่าเหตุผลของตัวละครคืออะไร ซึ่งทั้งกรณีของตัวละครซีจูและมินฮีอาจไม่ใช่ความผิดของนักแสดง อันที่จริงแอ็คติ้งของพวกเขาถือว่าใช้ได้ แต่อาจเป็นเพราะผู้กำกับและคนเขียนบทละเลยตรรกะ ระบบความคิด และความรู้สึกของตัวละครอย่างไม่น่าให้อภัย

ความพังด้านจุดยืนของ Extracurricular ยังรวมไปถึงการที่มันมีแนวโน้มจะเป็นหนังทริลเลอร์ชั้นยอดได้ แต่เหมือนผู้สร้างกลัวว่าโทนเรื่องจะเครียดเกินไป พวกเขาเลยใส่ความตลก(ที่ไม่เข้าท่า)มาตลอดเรื่อง โดยเฉพาะฉากตีกันระหว่างแก๊งอันธพาลและนักเรียนที่ทำเอาซีรีส์ออกทะเลและลงหลุมดำไปพร้อมกัน นี่รวมไปถึงการออกแบบตัวละครกีแท-ตัวร้ายประจำเรื่อง-ที่เหมือนซับซ้อนว่ามีทั้งด้านดีและร้าย แต่กลับกลายออกเป็นคนผีเข้าผีออกเสียมากกว่า

04.jpg

หากกล่าวถึงความสับสนในตัวเองว่าจะเป็น ‘แนว’ (genre) ไหนกันแน่ ผู้เขียนก็นึกถึงหนังฟอร์มยักษ์เกาหลีเรื่อง Time to Hunt ที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ในเวลาไล่เลี่ยกับ Extracurricular หนังเรื่องนี้เป็นผลงานของยุนซังฮยอน (โด่งดังจากเรื่อง Bleak Night (2010)) หนังเล่าถึงเกาหลีในยุคอนาคตที่ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจนเงินวอนไม่เหลือค่าและผู้คนต้องเปลี่ยนไปใช้เงินดอลล่าร์ มันทำให้เด็กหนุ่ม 4 คนที่ตัดสินใจปล้นคาสิโนเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

ดูจากหน้าหนังแล้ว Time to Hunt ก็น่าจะเป็นหนังปล้น-ไล่ล่าที่มีฉากแอ็คชั่นดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ผู้ชมหลายคนกลับผิดหวัง จริงอยู่ว่าหนังมีฉากยิงกันสนั่นหวั่นไหว แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว Time to Hunt อาจไม่ใช่หนังแอ็คชั่น แต่มันเป็นหนังที่ว่าด้วย ‘มิตรภาพ’ ระหว่างตัวละครมากกว่า หาก Bleak Night เป็นหนังที่เล่าความสัมพันธ์ของเด็กมัธยมในโรงเรียน Time to Hunt ก็เป็นผลงานที่เล่าในประเด็นเดิมเพียงแต่เปลี่ยนฉากหลังเป็นสังคมเกาหลีแบบดิสโทเปีย เช่นนั้นแล้วจะกล่าวว่า Time to Hunt เป็นหนังไม่มีจุดยืนในด้าน genre ก็คงไม่ใช่สักทีเดียว แต่ genre ของมันมีลักษณะผสมผสานและลื่นไหล ต่างจาก genre ใน Extracurricular ที่เป็นการผสมที่ไม่กลมกล่อม

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนทางจุดยืนที่เลวร้ายที่สุดของ Extracurricular ไม่ใช่เรื่อง genre หากแต่เป็นเรื่องอุดมการณ์ อย่างที่เราได้เห็นในช่วงท้ายเรื่องว่าตัวละครตำรวจหญิงรีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ แต่เธอพบว่าเหล่าวัยรุ่นได้หายสาบสูญไปหมดแล้ว ราวกับจะบอกว่าสุดท้ายแล้วพวกผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถช่วยเด็กๆ ออกมาจากโลกอันรุนแรงได้ แต่พอซีรีส์จบลงกลับมีคำเตือนขึ้นมาว่า “หากมีปัญหา ขอให้เปิดใจคุยกับผู้ปกครองหรือคนรอบข้าง” (!!) กลายเป็นความตลกร้ายที่ไม่รู้จะขำขันหรือเหนื่อยใจ  

นั่นทำให้ Extracurricular กลายเป็นการศึกษานอกหลักสูตรที่ไม่ควรเสียเวลาไปลงเรียน เพราะเอาที่จริงมันไม่มีความจำเป็นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

06.jpg