ไม่พบผลการค้นหา
ยอดผลิตรถยนต์ 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 4.21 เหตุเศรษฐกิจโลกและแบงก์เข้มปล่อยเงินกู้ กระทบซ้ำยอดจำหน่ายในประเทศ ยอดส่งออกตกลงหมดสภาอุตฯ ชี้ รอตัวเลขกระตุ้นสิ้นเดือน พ.ย.

อุตสาหกรรมหลักที่เลี้ยงชีวิตแรงงานไทยอีกหนึ่งอุตสาหกรรมอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังเผชิญหน้ากับการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขยอดการผลิตรถยนต์ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค. 2562) อยู่ที่ 1,725,414 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1,801,319 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.21

‘สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์’ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นอกจากยอดการผลิตโดยรวมจะลดลงแล้ว ยอดการผลิตเพื่อการส่งออก การผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ ยอดการส่งออก และยอดการจำหน่ายในประเทศล้วนตกลงทั้งสิ้น

โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่น้อยลง

'สุรพงษ์' อธิบายเพิ่มด้วยว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีความกังวลเรื่องหนี้เสีย (NPL) ส่งผลต่อให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการผลิตของไทยจะลดลงจริง แต่ก็ไม่ได้น่าตื่นตระหนกนั้น เนื่องจากหากไปเทียบกับอัตราการผลิตรถยนต์ทั่วโลก ระดับของไทยยังถือว่าต่ำกว่าการชะลอตัวของโลกพอสมควร โดยสัดส่วนการผลิตยานยนต์ทั่วโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 5.7 


"ของเรายังดีกว่า ของเราลดแค่ 4%" สุรพงษ์ กล่าว

สะท้อนตัวเลขตกต่ำถ้วนหน้า

ตัวเลขโดยละเอียดจาก ส.อ.ท. ยิ่งออกมาตอกย้ำว่าผู้บริโภคในขาดกำลังซื้อ สำหรับสภาวะภายในประเทศของไทย การผลิตรถยนต์เพื่อการจำหน่ายมีตัวเลขติดลบในทุกประเภทรถยนต์ ตั้งแต่รถยนต์นั่งติดลบร้อยละ 0.42, รถกระบะบรรทุก ติดลบร้อยละ 2.18, รถกระบะดับเบิลแค็บ ติดลบร้อยละ 1.04 รวมถึงรถกระบะ PPV ซึ่ง 'สุรพงษ์' กล่าวว่า กลุ่มผู้ซื้อค่อนข้างมีฐานะยังมีตัวเลขติดลบเช่นเดียวกันที่สัดส่วนร้อยละ 7.45 ขณะเดียวกันในฝั่งของจักรยานยนต์ ยอดการผลิตจักรยานยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,079,865 คัน ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 2.37

สำหรับมิติด้านการส่งออก การส่งออกรถยนต์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 85,552 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 8.34 ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ประมาณ 46,000 ล้านบาท คิดเป็นการลดลงในรูปเงินบาทร้อยละ 4.99

อีกทั้งยังเป็นการลดลงในทุกตลาด ยกเว้น เอเชีย ตะวันออกกลาง และอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่วนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ 10 เดือนแรก ลดลงร้อยละ 4.78 ด้วยยอดเพียง 906,653 คัน

ผลจากสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศ กดดันให้ ส.อ.ท. ต้องปรับประมาณการการผลิตรถจักรยานยนต์ลงเหลือเพียง 2,100,000 คัน จากเดิมที่ 2,140,000 คัน โดยตัวเลขใหม่มองการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 350,000 คัน และ การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,750,000 คัน

ส่วนรถยนต์ ส.อ.ท. ยังมีความหวังว่าประชาชนจะออกมาใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่มีมหกรรมยานยนต์โดยมองว่าผู้บริโภคหลายส่วนอาจกำลังรอรถยนต์รุ่นใหม่อยู่

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างงานให้กับแรงงานไทยเป็นจำนวนมาก ภาพสะท้อนระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมาอาจสร้างความกังวลใจให้กับแรงงานไม่น้อยถึงสภาวะของบริษัท แม้เรายังไม่เห็นข่าวการปิดตัวของบริษัทหรือโรงงานที่เกี่ยวกับยานยนต์มากนักแต่ตัวเลขการเติบโตติดลบก็ไม่ได้สะท้อนความมั่นใจให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ได้เช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :