ไม่พบผลการค้นหา
การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงานจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลในสวีเดนและเยอรมนีกลับจ่ายเงินเดือนเพิ่มเติมให้ปชช.ทุกคนที่เสียภาษีอย่างเท่าเทียมกันเพราะทุกคนยังต้องกินต้องใช้ในวันที่โควิดยังระบาด

"เราไม่ได้ทำงานมา 1 เดือนแล้วหลังจากรัฐบาลเยอรมนีสั่งปิดสนามบิน แต่เดือนนี้ก็ยังได้รับเงินเดือนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนนะ" ประโยคแรกที่ 'ภาณุกร สุวรรณสุโข' หรือ 'แจ๊ค' ผู้ที่ใช้ชีวิตและทำงานในเยอรมนีมานานกว่า 9 ปี กล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ หลังจากสอบถามถึงมาตรการเยียวยาชาวต่างชาติของรัฐบาลเยอรมนีในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างที่เยอรมนีมีมาตรการล็อกดาวน์

แจ๊คเล่าว่า "รัฐบาลเยอรมนีมีมาตรการชดเชยรายได้ให้กับประชาชนที่เรียกว่า 'Kurzarbeitergeld' ที่พร้อมจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่เสียภาษีทุกคน" ซึ่งที่ผ่านมาแจ๊คถูกบริษัทให้เช็นยินยอมลดเงินเดือน เนื่องจากเคาน์เตอร์แบรนด์ที่ตนทำงานอยู่ในสนามบินปิด แต่ด้วยมาตรการดังกล่าวของเยอรมนีที่ระบุว่า หากต้องหยุดงาน 1-3 เดือน จะได้รับเงินชดเชยถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนจากรัฐบาล ทำให้แจ๊คยังได้รับเงินเดือนเกือบเท่ารายได้ปกติ

สนามบิน เยอรมนี.jpg

(สนามบินในแฟรงเฟิร์ตในเยอรมนีในช่วงล็อกดาวน์ จำนวนผู้โดยสารน้อยลงเป็นอย่างมาก)

ขณะที่ ในสวีเดนแม้ว่าจะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์และธุรกิจต่างๆ ยังเปิดให้บริการตามปกติ แต่สวีเดนก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการซบเซาของนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เพราะการแพร่ระบาดของดควิด-19 ทั่วโลกเช่นกัน

'วรกาญจน์ กาญจนราช' หรือ 'ปูน' คนไทยที่ทำงานในฝ่ายมาร์เก็ตติ้งให้กับบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในสวีเดนกล่าวว่า "ในความรู้สึกคิดว่ารัฐบาลสวีเดนสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีมากและเท่าเทียมกันทั้งคนสวีเดนและชาวต่างชาติรวมถึงผู้อพยพในประเทศ"

ปูนอธิบายว่าในทางเศรษฐกิจรัฐบาลสวีเดนได้ผ่านงบประมาณที่ช่วยเยียวยาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลจะช่วยบริษัทจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างครึ่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีการปลดคนออก ซึ่งลูกจ้างส่วนใหญ่จะถูกลดชั่วโมงการทำงานและส่งผลต่อการลดเงินเดือนเช่นกัน และบริษัทไหนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องเงินเดือนพนักงาน บริษัทนั้นจะต้องไม่ปลดพนักงานออก เป็นการช่วยเหลือทั้งบริษัทและคนที่ทำงานในสวีเดน

"ทุกคนที่ทำงานที่สวีเดนทุกอย่างจะเข้าระบบการเสียภาษีของรัฐบาลหรือการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของรัฐ หากโดนปลดออกหรือไล่ออกจากงาน รัฐบาลก็จะจ่ายเงินชดเชยให้เราตามระยะเวลาที่เราเป็นสมาชิกและจะได้รับเงินชดเชยถึง 80 เปอร์เซ็นของเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่เราทำงาน ที่นี้ทุกคนได้รับการเยียวยาไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ หรือต้องเข้าไปลงทะเบียนเพื่อคัดกรอง เพราะระบบวางมาดีแล้วเลยไม่รู้สึกว่าไม่เท่าเทียมกันในเรื่องไหน" ปูนกล่าว 

สวีเดน.jpg

(คนสวีเดนยังสามารถใช้ชีวิตปกติในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามแนวทางมาตรการ 'herd immunity' )

'Herd Immunity' ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เมื่อกล่าวถึงมาตรการทางสังคมในการรับมือของการแพร่ระบาดโควิด-19 สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้มาตรการแบบ 'herd immunity' หรือการสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่และเป็นมาตรการที่ไม่มีการจำกัดการออกบ้านหรือที่อยู่อาศัย รวมถึงการสั่งปิดร้านอาหาร หรือที่ที่คนสามารถมาชุมนุมและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ ซึ่งที่ผ่านมาสวีเดนถูกตั้งคำถามจากประชาคมโลกถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อของประชากรนั้น 

ในเรื่องนี้ปูนกล่าวว่า "ตอนแรกก็รู้สึกสงสัยแต่ในระยะยาวก็รู้สึกดีและคิดว่ามันเวิร์กมาก โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจหากต้องถูกจำกัดการใช้ชีวิตที่สวีเดน เพราะสวีเดนเพิ่งผ่านฤดูหนาวมา ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องการแสงแดดและการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น"

ปูนกล่าวเสริมว่า แต่รัฐบาลสวีเดนก็มีมาตรการต่างๆ ที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างในร้านอาหารก็ต้องวางโต๊ะห่างกัน 1.5 เมตร ห้ามมีการชุมนุมหรือมีกิจกรรมเกิน 500 คน บาร์ที่ไหนยังเปิดก็ต้องจำกัดคนให้เข้าได้ครั้งละไม่เกิน 50 คน เป็นต้น

ขณะที่ในเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์และมีการปิดกิจการร้านค้าที่ไม่จำเป็นต่างๆ ตลอดการแพร่ระบาดในช่วงเดือนมี.ค.ถึงช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จนอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเยอรมนีต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์และเสียชีวิตน้อยที่สุดในยุโรป อีกทั้งล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ประเด็นนี้แจ๊คให้ความเห็นว่า หลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพราะอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนออกจากบ้าน ในช่วงฤดูหนาวคนจะไม่ค่อยออกจากบ้าน แต่ช่วงนี้อากาศเริ่มอุ่นขึ้น คนก็เลยออกบ้านมากขึ้น เพื่อมาเดินเล่นในสวนสาธารณะ แต่ทั้งนี้ในเยอรมนีก็จะมีตำรวจค่อยเดินตรวจตรา ห้ามจับกลุ่มรวมกันเกิน 2 คน หรือบุคคลที่ไม่ได้มาจากครอบครัวเดียวกันห้ามอยู่ด้วยกัน

แจ๊คอธิบายเสริมว่า ในเยอรมนีมีกลุ่มวัยรุ่นที่เรียกว่า 'Corona party' ซึ่งมักจะคิดว่า หากตัวเองติดเชื้อแล้ว เจอกันก็ไม่เป็นไร และไม่ได้สนใจการรักษาระยะห่างทางสังคมมากนัก เพราะถือว่าเป็นไปแล้ว ซึ่งคนเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ในเยอรมนีจะเคร่งครัดตรงนี้มาก

รัฐบาลชัดเจน ประชาชนรู้สึกมั่นใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความปลอดภัยของการใช้ชีวิตหลังการคลายล็อกดาวน์แล้ว แจ๊คกลับกล่าวว่า "ในความรู้สึกคือปลอดภัย ไม่ใช่แค่รัฐที่ให้ความมั่นใจแก่การใช้ชีวิตของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติคนเยอรมันก็มีความตระหนักถึงผู้อื่นด้วยเช่นกัน พร้อมๆ กับการที่รัฐบาลเยอรมนีก็ให้ความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติตนในช่วงต่างๆ อย่างชัดเจน"

แม้ว่าหลังคลายล็อกดาวน์ของเยอรมนีจะพบว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลเยอรมนีได้เดินหน้าคลายมาตรล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยในสัปดาห์นี้เยอรมนีจะอนุญาตให้ร้านทำผมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง รวมถึงการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนและการไปโบสถ์ของประชาชนก็จะสามารถทำได้อีกครั้งเช่นกัน

ขณะที่ปูนกล่าวว่า ผลสำรวจพึงพอใจที่มีต่อรัฐบาลในการจัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศสวีเดนนั้นพบว่าสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์และนับว่าเป็นอัตราที่สูงมาก แม้ว่าแนวทางนโยบายของสวีเดนจะไม่เหมือนประเทศอื่น แต่ประชาชนกลับเชื่อมั่นและให้ความมั่นใจในรัฐบาลของตนเองด้วยแนวทางการปฏิบัติตนที่ชัดเจนตามที่รัฐบาลประกาศ รวมไปถึงมาตรการรองรับเยียวยาประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19

ปูนเล่าเพิ่มเติมว่า แม้แต่ผู้อพยพในสวีเดนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนในช่วงการระบาดได้อย่างทั่วถึงเช่นกัน เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญและความเท่าเทียมกับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน

ปัจจุบันเยอรมนีพบผู้ติดเชื้อ 165,664 ราย และมีผู้เสียชิวิตจากการติดเชื้อ 6,866 ราย และมีการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อไปมากถึง 2,547,052 ราย ขณะที่ในสวีเดนพบผู้ติดเชื้อ 22,317 ราย จากการตรวจค้นหาเพียง 119,500 ซึ่งน้อยกว่าเยอรมนีกว่า 10 เท่า


พวงพรรณ ภู่ขำ
25Article
0Video
0Blog