ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) เผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2020 ระบุ จีนอาศัยความเป็นชาติมหาอำนาจหนุนรัฐบาล 'อำนาจนิยม-ประชานิยม' ทั่วโลก เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิหลายด้าน ส่วน 'ไทย' เจอปัญหาเดิม 'รัฐบาลทหารยื้ออำนาจ' ละเมิดสิทธิ แต่ 'พ้นผิด'

รายงานด้านสิทธิมนุษยชนของประจำปี 2020 หรือ World Report 2020 ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ HRW เมื่อ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก อ้างอิงเหตุการณ์และข้อมูลที่รวบรวมตลอดทั้งปี 2019 ที่ผ่านมา โดย 'เคนเนธ รอธ' ผู้อำนวยการ HRW ได้แสดงความกังวลต่ออิทธิพลของรัฐบาลจีนที่มีต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศทั่วโลก โดยระบุว่าจีนสนับสนุนรัฐบาลที่มีแนวคิดอำนาจนิยมและประชานิยมหลายแห่ง 

รอธ ยังระบุด้วยว่าหน่วยงานภาครัฐจีนใช้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจในการแทรกแซงหรือสกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ประชาคมโลกร่วมกันส่งเสริมมาตลอดหลายทศวรรษ และอาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนโดยรวมในอนาคตอีกด้วย 

ส่วน The Guardian รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน ระบุว่า เนื้อหาในรายงานของ HRW บิดเบือน ไม่เป็นความจริง และก่อนหน้านี้รอธยังถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปสังเกตการณ์สถานการณ์ประท้วงในฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน ซึ่ง 'เกิงฉวง' โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ย้ำว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยอเต็มที่ในการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้ HRW ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ของแต่ละประเทศ รวมถึงไทย ซึ่งเนื้อหาในรายงานบ่งชี้ว่า ไทยยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ เพราะแม้จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว แต่รัฐบาลทหารยังคง 'ยื้ออำนาจ' และวางเงื่อนไขทิ้งเอาไว้หลายประการ ทำให้คณะทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 'รอดพ้นจากบทลงโทษ' ด้านการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา และไม่มีกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ ตอกย้ำวัฒนธรรมการปล่อยให้ผู้กระทำผิด 'ลอยนวล'


สถานการณ์ไทย ก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ยัง 'เหมือนเดิม'

รายงานของ HRW ยังระบุว่ารัฐบาลไทยยังไม่เคารพในประเด็นสิทธิมนุษยชน 'เหมือนเดิม' เห็นได้จากประเด็นด้านสิทธิและเสรีภาพที่ยังไม่คืบหน้า โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้แต่สื่อมวลชนที่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรายงานข่าวและตั้งประเด็นทางสังคมก็ยังถูกกดดันและแทรกแซงให้เซ็นเซอร์ตัวเอง โดยในรายงานได้ยกตัวอย่างกรณีคลื่น FM 101 สั่งถอด 'เฉลิมชัย ยอดมาลัย' ผู้ดำเนินรายการ 101 ประเด็นข่าว หลังจากวิจารณ์การซื้ออาวุธและหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เมื่อเดือน ก.ย.2019 

ดีเบต-รายการ-ช่อง 9-อรวรรณ ชูดี
  • รายการศึกเลือกตั้งที่มีคำสั่งปลดพิธีกรรายการกลางอากาศ

ส่วน 'อรวรรณ ชูดี' ถูกบริษัท อสมท สั่งให้ยุติบทบาทพิธีกรในรายการ 'ศึกเลือกตั้ง 62' หลังจากที่เธอตั้งคำถามเชิงวิพากษ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่ 'วอยซ์ ทีวี' ถูก กสทช.สั่งระงับการออกอากาศเป็นเวลานาน 15 วัน โดยระบุว่าวอยซ์ทีวีให้พื้นที่สื่อแก่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร และไม่กี่วันก่อนถึงช่วงเลือกตั้ง สื่อต่างประเทศอย่างซีเอ็นเอ็น, อัลจาซีรา และบีบีซี ซึ่งเกาะติดรายงานข่าวการเลือกตั้งไทย กลับหายไปจากหน้าจอของช่องเคเบิลทีวี TrueVisions ระยะหนึ่ง

เดือน ต.ค. 'คริส แจนเซน' นักข่าวเบลเยี่ยม ถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกักตัวนานหลายชั่วโมง หลังจากที่เขาชี้แจงว่าต้องการเข้ามาเก็บข้อมูลเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารไทย

ขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองราว 130 คน ยังถูกตั้งข้อหา-ออกหมายเรียก ว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพราะออกมารวมกันรณรงค์เรียกร้องการเลือกตั้ง ทั้งยังมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างน้อย 3 ราย ถูกกลุ่มคนบุกทำร้ายร่างกาย แต่กลับไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ 

เช่นเดียวกับกรณีผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยในต่างประเทศหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ แต่มีการพบศพ 'บิลลี่' หรือ 'พอละจี รักจงเจริญ' แกนนำกลุ่มกะเหรี่ยงในแก่งกระจานที่หายตัวไปตั้งแต่ เม.ย.2557 และผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับตายของบิลลี่ คือ เจ้าหน้าที่ด้านอนุรักษ์ป่าไม้ที่พบบิลลี่เป็นคนสุดท้ายก่อนหายตัว

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงกรณี 'ชัยภูมิ ป่าแส' นักกิจกรรมชาวลาหู่ซึ่งถูกทหารยิงวิสามัญฆาตกรรมที่ จ.เชียงใหม่เมื่อปี 2560 แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเผยเทปบันทึกจากกล้องวงจรปิดในการสืบพยานชั้นศาล แม้ว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงรายหนึ่งจะเคยกล่าวว่าชัยภูมิถูกยิงเพราะขัดขืนเจ้าหน้าที่และมีระเบิดในครอบครอง

ประเด็นที่น่าวิตกกังวลอีกประการ คือ เหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่เว้นแม้แต่ช่วงเดือนรอมฎอน ทั้งยังมีเหตุระเบิดหรือลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายครั้ง