ไม่พบผลการค้นหา
สภาผู้ส่งออกทางเรือฯ คาดส่งออกปี 62 โตร้อยละ 5 ปี 61 โตร้อยละ 7 เผยตัวเลขส่งออก 11 เดือน ขยายตัวร้อยละ 7.3 แม้เดือน พ.ย. ยังหดตัว 0.95 แนะรัฐจัดกิจกรรม Trade Mission แยกตามกลุ่มสินค้า-กลุ่มประเทศเป้าหมาย ลดอุปสรรคที่ไม่ใช้ภาษี เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5 โดยมีปัจจัยบวกมาจากโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เป็นประธานอาเซียน ทำให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งจะมีการเจรจากันระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม 2562 นี้

อีกด้านหนึ่ง ได้คาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2561 เติบโตที่ร้อยละ 7 ส่วนที่ให้คาดการณ์ส่งออกปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 5 นั้น อยู่บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (± 0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีปัจจัยบวกสำคัญ คือ โอกาสของไทยในการเป็นประธานอาเซียนทำให้ไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเป็นอัตลักษณ์ (Uniqueness) ให้กับสินค้าไทยรวมถึงการผลักดันประเด็นทางด้านการเพิ่มความสะดวกทางการค้า และการลดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีทั้งที่เป็น NTB (Non Trariff Barrier) และ NTM ((Non-Tariff Measures) 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ซึ่งต้องติดตามการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค. 2562 ขณะที่จีนประกาศนโยบายเริ่มลดภาษีสินค้านำเข้า-ส่งออกกว่า 700 รายการ ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการนำเข้าสินค้าอื่นทดแทนสินค้าที่ต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ และเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องครั้งใหญ่ ซึ่งสินค้าไทยอาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีน 

2) ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากปี 2562 ความตกลง EU-Vietnam FTA จะเริ่มมีผลบังคับใช้ และสินค้าที่เวียดนามส่งออกนั้นเป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับไทยในตลาดสหภาพยุโรป 

3) เหตุจลาจลในกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนไทยมองเห็นความเสี่ยง และความไม่แน่นอนในการตัดสินใจเข้าไปเปิดตลาดส่งออกใหม่ 

4) ความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการความเสี่ยง และต้นทุนการบริหารจัดการของภาคเอกชน 

5) การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.75 ส่งผลต่อการแข็งค่าของค่าเงินบาท และกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก 

6) กฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศ เป็นการภาระต้นทุนและเป็นการกีดกันผู้ประกอบการส่งออกทางอ้อม เช่น การเปลี่ยนกระบวนการตรวจสอบในสินค้าเกษตร

พ.ย. ส่งออกหดตัว ร้อยละ 0.95 มูลค่าส่งออก 11 เดือน รวม 232,725 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ ภาพรวมการส่งออกเดือน พ.ย. 2561 มีมูลค่า 21,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.95 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 688,192 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่ การนำเข้าในเดือน พ.ย. 2561 มีมูลค่า 22,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 735,898 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือน พ.ย. 2561 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 1,178 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 47,706 ล้านบาท 

ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. 2561 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 232,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,447,769 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 231,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 7,504,905 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุล 57,137 ล้านบาท 

ทั้งนี้ การส่งออก กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดย เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ทูน่ากระป๋อง และ ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ยังคงมีการเติบโตในตลาด แต่ยางพารามีการหดตัวทั้งทางด้านราคาและปริมาณอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, ทองคำ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าที่มีการหดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุกปกรณ์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 

การส่งออกของไทยรายตลาดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 การส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 11.9 ญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 4.3 แต่มูลค่าการส่งออกไปสหภาพยุโรปยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.0 ส่วนการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ 1.7 โดยเฉพาะการส่งออกอาเซียน 5 ประเทศ 

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่ตลาดส่งออกหดตัว อาทิ เอเชียใต้ร้อยละ 4.3 ฮ่องกงร้อยละ 7.6 เกาหลีใต้ร้อยละ 11.1 และ ไต้หวันร้อยละ 1.8 ตามลำดับ

แนะรัฐทำกิจกรรมตามภารกิจ - ลดอุปสรรคการค้า-ผลักดันการเจรจา FTA

นอกจากนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ภาครัฐควรใช้รูปแบบของการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยการทำกิจกรรม Trade Mission เพิ่มมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมแยกตามกลุ่มสินค้า และแยกตามกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อเป็นการขยายฐานตลาดรวมถึงเป็นการสำรวจกลุ่มตลาดใหม่ ในปี 2562 ยกตัวอย่างเช่น ตลาดแอฟริกา – สินค้าที่มีศักยภาพและมีความต้องจากในตลาดแอฟริการสูง คือ สินค้ากลุ่มอาหาร ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าไปเจาะตลาดสินค้าอาหารได้ ตลาดตะวันออกกลาง - ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต (UAE) และ ซาอุดิอาระเบีย (Saudi Arabia) ภาครัฐควรให้เร่งรัดความสัมพันธ์เริ่มจากการฑูตเชิงพาณิชย์ทั้งในเชิงการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผักผลไม้ ตลาดจีน – การเข้าไปเจาะตลาดประเทศจีนควรให้ความสำคัญในระดับมณฑลทั้ง 31 มณฑลมากขึ้น เนื่องจากแต่ละมณฑลมีลักษณะและโอกาสทางการค้าที่แตกต่างกัน 

โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น กวางตุ้ง เซียงไฮ้ หรือมณฑลที่มีระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจดีแล้วจึงขยายต่อไปยังมณฑลขนาดกลางและเล็ก ตามลำดับ ตลาดลาตินอเมริกา - กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ของไทยเป็นที่ต้องการในตลาดกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจากปริมาณการส่งออกไปกลุ่มดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ภาครัฐควรส่งเสริมสินค้าอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น ตลาดอาเซียน/CLMV – ภาครัฐควรจัดสรรให้งบประมาณกับการจัดงานแสดงสินค้าระดับชาติในลักษณะเดียวกับ THAIFEX / AUNGA ในกลุ่มประเทศศักยภาพ และเน้นยุทธศาสตร์ CLMV is our home market เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยวางจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านเสมือนวางขายในประเทศไทย

2) ภาครัฐควรเร่งการแก้ไขและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นอุปสรรคภายในประเทศให้มีความสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ให้มากขึ้น เช่น NSW และอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในรูปแบบ NTB และ NTM เช่น การใช้มาตรการตรวจสอบสินค้าที่ใช้ระยะเวลานานและเป็นการเพิ่มต้นทุน, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอินเดียและประเทศจีน ต้องอาศัยการนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศไทยเพื่อการผลิตเฟอนิเจอร์ หากแต่สินค้าไม้ของไทยยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลอย่าง FSC (Forest Stewardship Council/Forest Standard Certification) ซึ่งเป็นข้อกำหนดเรื่องของการตัดไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือป่าสงวนทำให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไทยไม่สามารถนำไม้ไปแปรรูปต่อได้ และส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณการส่งออกไม้ของไทยลดลงในตลาดสำคัญ 

3) การผลักดันและเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ส่งออกไทย เช่น ปากีสถาน, อียิปต์, สหภาพยุโรป และ RCEP เป็นต้น 

4) ผู้ประกอบการไทย ควรหมั่นตรวจสอบและสำรวจตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนจากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :