ไม่พบผลการค้นหา
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องทำงานจากบ้าน ทำให้ยอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘ซูม’ เพื่อใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์สูงขึ้นทั่วโลก จนทำให้มีการตั้งคำถามว่าแอปฯ นี้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ขนาดไหน

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ทวีตภาพที่ตัวเองนั่งประชุมกับคณะรัฐมนตรีผ่าน 'ซูม' แอปพลิเคชั่นสำหรับวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือการประชุมทางวิดีโอออนไลน์ ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ซูมมีความปลอดภัยมากพอจะใช้สำหรับการประชุมคณะมนตรีหรือไม่

ซูมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 โดยเอริก หยวน วิศกรซอฟต์แวร์ชาวจีนที่อพยพไปซิลิคอนแวลลีย์ในสหรัฐอเมริกาเมื่ออายุ 27 ปี จากนั้น ซูมก็เริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีฟีเจอร์ที่เรียบง่าย รวมถึงมีแบ็กกราวนด์ให้ด้วย โดยแอปฯ นี้ให้ทุกคนใช้ฟรี แต่จะจำกัดให้สามารถประชุมกันได้เพียง 40 นาที สำหรับการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 3 คน แต่ซูมได้ยกเว้นสำหรับโรงเรียนในอังกฤษ แคนาดา และเยอรมนี เพื่ออนุญาตให้ครูใช้ซูมสอนนักเรียนได้นานขึ้น ปัจจุบันมีคนโหลดซูมบนกูเกิลแอปสโตร์ไปแล้วมากกว่า 50 ล้านครั้ง หลังจากการประกาศปิดเมืองช่วงโรคระบาดทำให้คนต้องหาทางติดต่อกับคนในครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน

กระทรวงกลาโหมของอังกฤษได้เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า รัฐบาลยังไม่เคยใช้ซูมสำหรับการประชุมที่ต้องการความปลอดภัยสูง แต่ก็จะยังเป็นเครื่องมือในการพูดคุยภายในรัฐบาลต่อไป ต่อมาโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาแถลงจุดยืนว่า การใช้ซูมในการพูดคุยเรื่องที่ไม่ได้เป็นความลับ ไม่ขัดต่อแนวปฏิบัติของศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ซูมออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลกล่าวโดยนัยว่าซูมไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยระบุว่า ซูมให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยอย่างมา และมีองค์กรกว่า 2,000 องค์กรทั่วโลกที่ใช้ซูม ตั้งแต่ให้บริการด้ายการเงินขนาดใหญ่ของโลก ผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำ หน่วยงานรัฐบาล มหาวิทยาลัย ไปจนถึงหน่วยงานสาธารณสุขและการแพทย์ทางไกล และซูมได้รับเสียงตอบรับที่ดีด้านความปลอดภัยจากผู้ใช้ เครือข่าย และศูนย์ข้อมูล

แล้วปลอดภัยจริงไหม?

ในอดีต ซูมเคยมีข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย เช่น มีจุดอ่อนให้คนโจมตี ลบผู้ใช้งานออกจากห้องประชุม มีข้อความหลอกลวงจากผู้ใช้งาน ไฮแจ็กหน้าจอ และเคยมีกรณีที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์แมคถูกบังคับให้โทรไปหาคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

แม้ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่แกรห์ม คลูลีย์ ที่ปรึกษาด้านไซเบอร์กล่าวว่า ซูมมีประวัติด้านความปลอดภัยหลายครั้ง จนต้องตั้งคำถามว่า ซูมเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยของผู้ใช้จริงไหม ปัจจุปันหลายคนอาจเพิ่งใช้ซูมเป็นครั้งแรกและไม่มีประสบการณ์ว่าจะตั้งค่าอย่างไรให้มีความปลอดภัยที่สุดเพื่อให้ไม่มีบุคคลไม่พึงประสงค์เข้าไปอยู๋ในแชท

นอกจากนี้ คลูลีย์ยังเตือนว่า หลายคนรีบโหลดและต้องการรีบใช้ซูมและแอปพลิเคชันวิดีโอต่างๆ ในช่วงวิกฤตที่ต้องทำงานอยู่บ้าน จนหลายคนไม่ได้อ่านเงื่อนไขของแอปพลิเคชันก่อนจะกด “ตกลง” 

ด้านศาสตราจารย์อลัย วูดเวิร์ด นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์คิดว่า รัฐบาลจำเป็นต้องระมัดระวัง การประชุมของรัฐบาลไม่เหมือนกับการถ่ายทอดสดต่อสาธารณะที่ใครจะเข้าไปฟังก็ได้ แต่ขณะนี้จะยังไม่มีหลักฐานว่าซูมเวอร์ชั่นล่าสุดมีปัญหาใดๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนว่าควรใช้แอพลิเคชั่นเวอร์ชั่นล่าสุดเสมอ

ผู้ใช้ควรกังวลเรื่องอะไรบ้าง?

ซูมเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ไปวิเคราะห์บริการของตัวเอง และพัฒนาเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับธุรกิจ โดยมูลนิธิอิเล็กทรอนิกฟรอนเทียร์ได้รวบรวมประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้ซูมไว้ดังนี้

  • เจ้าภาพการประชุมซูมจะสามารถเฝ้าดูกิจกรรมของผู้เข้าร่วมประชุมระหว่างที่มีการแชร์ภาพหน้าจอ และพวกเขาจะมองเห็นว่ามีการเปิดหน้าต่างซูมเอาไว้หรือไม่
  • แอดมินจะมองเห็นรายละเอียดแผงกิจกรรมของผู้ใช้ รวมถึงระบบจัดอันดับผู้ใช้จากเวลารวมในการร่วมประชุม
  • หากผู้ใช้อัดการโทรผ่านซูม แอดมินจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้
  • ระหว่างการประชุม แอดมินจะมองเห็นระบบปฏิบัติการ ไอพีแอดเดรส ข้อมูลสถานที่ และข้องมูลอุปกรณ์ข้อมูลของผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด

แม้จะมีคำเตือนข้างต้น หลายคนก็ยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้แอปฯ และบางคนก็ลืมตัวจนเปิดเผยชีวิตบางส่วนไปมากกว่าที่ตั้งใจ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าห้องน้ำ โดยลืมว่ากำลังประชุมกับเพื่อนร่วมงานอยู่ จนมีการนำวิดีโอดังกล่าวไปแชร์บนโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ ยังมีการ “ซูมบอมบ์” หรือการแกล้งแชร์ภาพหน้าจอที่มีภาพโป๊หรือภาพที่ไม่พึงประสงค์โดยที่ผู้ร่วมประชุมไม่เต็มใจจะเห็น เนื่องจากเจ้าภาพการประชุมไม่ได้ตั้งค่าการแชร์ภาพหน้าจอไว้เป็น “host only” ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมา หากมีการแชร์การประชุมไปสู่สาธารณะ

เราจะปกป้องข้อมูลระหว่างใช้ซูมอย่างไร?

ริชชี โคช บล็อกเกอร์ของโปรตอนเมล บริการอีเมลที่เน้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ได้เขียนบล็อกเตือนเรื่องความปลอดภัยในการใช้ซูม พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ ดังนี้

  • ใช้อุปกรณ์ 2 เครื่องระหว่างการใช้ซูม หากจะใช้ซูฒบนคอมพิวเตอร์ ก็ควรใช้โทรศํพท์มือถือในหารเช็กอีเมลหรือแชตกับคนอื่น การทำเช่นนี้จะป้องกันไม่ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำกิจกรรมอื่นๆ แทนการเปิดหน้าต่างของซูมเอาไว้
  • ไม่ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเข้าซูม แม้จะช่วยประหยัดเวลาได้ แต่การทำเช่นนี้ทำให้ความปลอดภัยต่ำลง และจะทำให้ซูมสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้อีกมาก
  • อัปเดตซูมให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดเสมอ แต่หากเพิ่งดาวน์โหลดแอปฯ นี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวลเป็นพิเศษ

 ที่มา : BBC, Proton Mail