ไม่พบผลการค้นหา
ธนาธร ร่วมประชุม กมธ.งบ 64 ชูวิสัยทัศน์ฟื้นท่องเที่ยว ย้ำต้องลงทุน ‘ขนส่งสาธารณะ’ เพิ่มศักยภาพโครงข่าย รถ ราง เรือ ส่งเสริมพื้นที่นันทนาการเมือง เพิ่มศักยภาพให้กับชุมชน ชี้เป็นจริงได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงการการท่องเที่ยวและกีฬา โดย 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการงบประมาณและประธานคณะก้าวหน้า ให้ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงการท่องเที่ยว ว่า แผนบูรณาการในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งมีงบประมาณ 6,900 ล้านบาท และมีเงินนอกงบประมาณอยู่ถึง 27,400 ล้านบาท จำเป็นต้องพูดถึงเรื่อง การพัฒนาที่ยึดโยงกับพัฒนาการเดินทาง (Transit-Oriented Development) หรือ TOD โดยเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไปใช้การขนส่งสาธารณะ 

ยกอยุธยาโมเดล

ทั้งนี้ ปัญหาการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ผ่านมาคือการไม่มีขนส่งสาธารณะ ที่นำพานักท่องเที่ยวจากสถานที่พักไปยังจุดต่างๆ ตัวอย่างกรณีของ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองที่มีศักยภาพมากและได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอยุธยาต่อไปก็คือการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง จากการที่มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงผ่านเมือง ดังนั้นในอนาคตอยุธยาจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังภาคเหนือและการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการพัฒนาอยุธยาใช้วิธีการแบ่งโซนผังเมืองที่มีทั้งย่านเมืองเก่า ย่านชุมชน และย่านตึกสูง

"ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ย่านเกาะเมืองเก่าสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวมหาศาล มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวทุกคน อย่างกรณีคนที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ก็เดินทางได้ด้วยความยากลำบาก อีกทั้งอยุธยาเป็นเมืองที่มีแม่น้ำตัดผ่านแต่กลับไม่มีท่าจอดเรือ (Boat Stop) บางสถานที่ถ้ามีก็ขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ไม่อาจนำมาใช้ได้จริง หรือไม่ถูกนำมาใช้

"นอกจากนี้พื้นที่บริเวณรอบตลิ่งก็มีศักยภาพมากเพียงพอที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นพื้นที่สาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมให้ประชาชนได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับอยุธยาในตอนนี้ เฉพาะเรื่องขนส่งสาธารณะคือ รถ บขส. หรือรถทัวร์ที่วิ่งมาไม่มีแม้แต่สถานีขนส่ง รถต้องจอดตามข้างถนนทำให้การจราจรติดขัดมาก การเดินทางภายในเกาะเมืองเก่าก็ต้องพึ่งรถสองแถวเป็นหลัก หากต้องการให้รถออกทันทีก็ต้องเหมารถไป ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายและที่สำคัญที่สุดคือการไม่สามารถกำหนดตารางเวลาการท่องเที่ยวได้ชัดเจน” 

เพิ่มศักยภาพโครงข่ายการขนส่ง รถ ราง เรือ

ธนาธร ยังได้ยกตัวอย่างรูปแบบการพัฒนาจากต่างประเทศ เช่น เมือง Canal Brugge ประเทศเบลเยียม หรือเมือง Groningen ประเทศเนเธอแลนด์ ที่ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยเมืองเหล่านี้นอกจากจะเป็นมิตรในการเดินทางของผู้คนแล้ว ยังเป็นเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติ ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างปัญหาโลกร้อน จากตัวแบบเหล่านี้ จึงมีข้อเสนอต่อแผนในการพัฒนาเมืองคือ ต้องเพิ่มศักยภาพโครงข่ายการขนส่ง รถ ราง เรือ ส่งเสริมพื้นที่นันทนาการเมือง เพิ่มศักยภาพให้กับชุมชน และเพิ่มจุดดึงดูดโดยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน

ถ้าสามารถสร้างพื้นที่เปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งทางเรือให้เชื่อมต่อกับการเดินทางด้วยรถไฟ และสอดคล้องกับพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ให้สามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่การท่องเที่ยวและชุมชน เศรษฐกิจชุมชนก็จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเมื่อมาอยุธยาจะเที่ยวเฉพาะเขตอุทยานแต่ไม่ได้ไปจับจ่ายฝั่งตลาด หากสามารถทำให้เชื่อมกันได้ จะมีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำประโยชน์มาให้คนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่นำพาเพียงการจราจรที่ติดขัดมาให้ นอกจากนี้หากมีรถเมล์ไฟฟ้า ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

"ปัญหาที่เกิดขึ้นในแผนบูรณาการของกระทรวงท่องเที่ยว คือจำเป็นต้องบูรณาการจริงๆ โดยกรมเจ้าท่าต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปกร ต้องเข้ามาร่วมด้วย หน่วยงานต้องเข้ามาร่วมกันอีกเยอะไปหมด แต่ผมไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในแผนบูรณาการฯ ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพราะเราจำเป็นต้องดึงศักยภาพของพื้นที่ ใช้ทรัพยากรที่เรามีมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยหากใช้งบประมาณแบบที่เป็นอยู่

"เพราะไม่สามารถสร้างการพัฒนาที่ยึดโยงกับพัฒนาการเดินทางหรือเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้การขนส่งสาธารณะได้ หากลงทุนสร้างถนนคิดเป็น 80 % จะเกิดปัญหามลพิษที่เกิดจากการสันดาบของเครื่องยนต์ ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาการนำเข้าพลังงาน เราต้องเอาหน่วยงานต่างๆมาช่วยกันปั้นสถานที่ท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิต ต้องดึงศักยภาพเมืองออกมาใช้อย่างมียุทธศาสตร์ อย่างมีระบบและดึงศักยภาพจากสิ่งที่เรามี หากทำอย่างนี้ต่อไปเมื่อเราพูดถึงการบูรณาการ Transit-Oriented Development หรือ TOD ก็จะไม่ใช่แค่คำสวยๆ แต่เป็นสิ่งที่สามารถลงมือทำได้จริง" ธนาธร เสนอทิ้งท้าย