ไม่พบผลการค้นหา
ผลศึกษาชี้ ยิ่งคนเข้าถึงข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ไม่มีการบิดเบือน ความชื่นชอบรัฐบาลยิ่งลดลง เช่นเดียวกับความเชื่อถือในระบบยุติธรรม ความโปร่งใสของการเลือกตั้ง ไปจนถึงการโกงกินบ้างเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตมนุษย์กับอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผ่านมามักถูกฉายภาพไปที่ความบิดเบี้ยวของโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาล่อหลอกประชาชนทั่วโลกให้เข้าไปติดกับดักความสุขระยะสั้นหรือภาวะที่สมองหลั่งฮอร์โมนโดปามีนออกมาเมื่อเพื่อนมากดไลก์รูปล่าสุด

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ตีพิมพ์ปี 2562 หันมานำเสนอมุมมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอินเทอร์เน็ตและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลซึ่งเปิดโปงเหตุผลสำคัญของกระบวนการเซ็นเซอร์ข้อมูลจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม 

ภายใต้งานวิจัยจาก ‘เซอร์เกย กูรีฟ’ ‘นิกิตา เมลนิกอฟ’ และ ‘อีคาเทอรินา ชูราฟสกายา’ ‘อินเทอร์เน็ต 3จี และความน่าเชื่อถือของรัฐบาล’ สะท้อนชัดว่า ยิ่งประชาชนในแต่ละประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เป็นอิสระจากการแต่งแต้มเนื้อหามากขึ้น ความเชื่อถือที่มีต่อรัฐบาลตนเองยิ่งลดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สื่อดั้งเดิม อาทิ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ถูกเซ็นเซอร์อย่างสมบูรณ์

AFP-หนังสือ 1984-จอร์จ ออร์เวลล์-George Orwell-ชุมนุมต้านรัฐประหาร
  • หนังสือเรื่อง 1984 (หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่) แต่งโดย จอร์จ ออร์เวลล์ 

ภาวะดังกล่าว ทำให้นักวิจัยทั้ง 3 ราย สรุปตั้งแต่ช่วงต้นของรายงานว่า อินเทอร์เน็ตเสรีเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงความจริง ท่ามกลางโลกเสมือนที่รัฐบาลเป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อสร้างความนิยมให้ตนเอง 


ข้อมูลจะเปิดตาประชาชน

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อโลกพัฒนาจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบ 2 จี ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบของรัฐบาลแล้วเท่านั้น สู่ยุค 3 จี ที่เปิดกว้างและมีอิระมากขึ้น ประชาชนโดยเฉลี่ยนสามารถเข้าถึงข้อมูลการคดโกงของรัฐบาลได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือขององค์กรผู้ปกครองประเทศต่างๆ 

เมื่อลงไปดูความเชื่อมโยงระดับลึกพบว่า หากประเทศเพิ่มความครอบคลุมของสัญญาณ 3จี จากระดับเริ่มต้นคือศูนย์ขึ้นมาสู่การครอบคลุมทั่วประเทศ จะทำให้ประชาชนมีโอกาสขึ้นถึงอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นราว 8 จุด (จุด หรือ percentage point เป็นหน่วยทางเศรษฐศาสตร์ที่เอาไว้ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของเปอร์เซ็นต์ โดย 1 จุด มีค่าเท่ากับ 0.01%) แต่ความเชื่อมั่นที่มีให้กับรัฐบาลและระบบยุติธรรมของประเทศจะลดลง 6.3 และ 4 จุด ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนผู้ที่มองว่าการเลือกตั้งมีความชอบธรรมและรัฐบาลไม่คอรัปชันปรับลดลง 7.9 และ 5.6 จุด

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อให้สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าเดิมที่ 8 จุด แต่เปลี่ยนกลุ่มประชากรเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงข้อมูลที่เป็นอิสระปราศจากการบิดเบือนเหล่านี้ ยิ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงไปอีก โดยระดับความเชื่อมั่นรัฐบาลโดยรวมและระบบศาลยุติธรรมลดลง 9.1 และ 5.8 จุด ขณะที่ ความบริสุทธิ์ของการเลือกตั้งและรัฐบาลที่ปราศจากการโกงกินบ้านเมืองหล่นลงกว่า 11.5 และ 5.4 จุด ตามลำดับ 

ชุมนุม ประชาชนปลดแอก ปราศรัย ประชุมร่วมสองสภา แก้รัฐธรรมนูญ

ผลลัพธ์ที่ออกมาสะท้อนว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตส่งผลต่อแนวคิดของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในภาคส่วนที่คนทั่วไปปกติมองไม่เห็นหรือเข้าไม่ถึงในชีวิตประจำวัน 

นักวิจัยเสริมว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกับประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำ ส่งผลให้ประเทศ อาทิ จีน, อียิปต์, อิหร่าน และรัสเซีย ออกนโยบายเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต หรือลิดรอนเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลเสรีบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยก่อนหน้าจำนวนไม่น้อยระบุชัดว่า รัฐบาลเหล่านั้นต้องเผชิญความยากลำบากในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าสื่อแบบเก่า 


ประเทศไทยไร้เสรีภาพ

ในช่วงท้ายของงานวิจัยดังกล่าวซึ่งอ้างอิงข้อมูลของ Freedom House หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ ชี้ว่า ในปี 2558 เสรีภาพในการเข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์ของประเทศไทยผ่านแบบจำลองที่นักวิจัยสร้างขึ้นมามีคะแนนลดลงมาอยู่ที่ระดับติดลบ 3 จากที่เคยอยู่ในระดับ 7

ประยุทธ์ 44230000000.jpeg
  • ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ ปัจจุบัน Freedom House ให้คะแนนเสรีภาพบนโลกออนไลน์ของประเทศไทยรวม 35 คะแนน หรืออยู่ในระดับที่ไม่มีเสรีภาพ โดยแบ่งเป็น 16 คะแนน เรื่องความยากลำบากในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 11 คะแนน เรื่องการจำกัดเนื้อหา และอีก 8 คะแนนสำหรับการคุกคามสิทธิของผู้ใช้งาน โดยองค์กรนับคะแนนจาก 0-100 ยิ่งคะแนนน้อยแปลว่ายิ่งไม่มีความเป็นอิสระ

ความลักลั่นยังเกินขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาว่า นับตั้งแต่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560 ก่อนมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปีเดียวกัน คะแนนเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยอ้างอิง Freedom House ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด คืออยู่ที่ระดับ 33/100 ในปี 2560 ก่อนขยับขึ้นมาเป็น 35/100 ในปี 2561-2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง