ไม่พบผลการค้นหา
สศช.จัดสัมมนาประจำปี ลุยงานตามแผนพัฒนาเศรษฐสังคมฉบับ 12 ผนวกยุทธศาสตร์ชาติ ระยะแรก 2561-2565 ย้ำโลกเปลี่ยนต้อง 'พร้อมรับมือ-ปรับตัว-เปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโต'

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ในหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยในปีนี้ เนื่องจากเป็นระยะครึ่งทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ. 2561-2565) สศช. ได้ติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โดยมีการวิเคราะห์และรายงานผลการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลการพัฒนาตามตัวชี้วัดที่สำคัญต่าง ๆ ที่กำหนดในแผนฯ 12 ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงและบริหารจัดการภารกิจที่รับผิดชอบ ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะครึ่งทางแผนฯ 12 หรือช่วงครึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่หนึ่ง (พ.ศ.2561-2565) นั้นในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ซึ่งเป็นแผนที่วางรากฐานสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาในช่วง 5 ปีแรก ของยุทธศาสตร์ชาตินั้น ประเทศไทยได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งบริบทโลกและบริบทในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว และการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นหรือการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวในหลายเรื่อง เช่น เทคโนโลยีพลิกโลก (Disruptive Technology) 

การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริบทโลกที่มากระทบ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบายภายในประเทศที่ส่งผลเอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 

ทศพร ศิริสัมพันธ์-เลขาธิการ-สภาพัฒน์-สศช.
  • ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

อย่างไรก็ตาม บางบริบทกลับเป็นความท้าทายหรือเป็นอุปสรรคที่ประเทศไทยจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ส่วนการผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ส่งผลให้การพัฒนาในบางมิติดีขึ้น แต่ยังคงมีการพัฒนาในบางด้านยังล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ดังนั้นจึงมีแนวทางการพัฒนาประเทศ ครึ่งหลังแผนฯ 12 ตอบรับชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายของการพัฒนาในระยะต่อไปจากเหตุการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เกิดวิถีแนวใหม่ที่ทุกคนต้องปรับวิธีการในการใช้ชีวิตแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ชีวิตวิถีใหม่” (New Normal) จึงต้องมี

การปรับแนวทางการพัฒนา โดยคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

(1) สร้างสมดุลของมนุษย์และธรรมชาติ 

(2) สร้างสมดุลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ในสังคม

(3) สร้างการเติบโตอย่างพอเพียง

ด้วยเหตุนี้ แนวทางใหม่ของการพัฒนาประเทศช่วงหลังของแผนฯ 12 และการเชื่อมโยงไปสู่แนวทางการพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จึงประกอบด้วย (1) ปรับจุดอ่อน เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถรองรับ New Normal ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความยั่งยืน และ (2) เสริมจุดแข็งเดิม สร้างจุดแข็งใหม่ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นดังกล่าว สศช. จึงจำเป็นต้องทบทวนแนวทางการพัฒนาประเทศใหม่ เพื่อนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ตลอดจนตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ควรสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้แนวคิด 'Resilience' จำเป็นต้องมีการพัฒนาความสามารถของประเทศใน 3 ด้าน ดังนี้

1. Cope หรือ ‘พร้อมรับ’ เป็นความสามารถในการต้านทาน เยียวยา และฟื้นสภาพจากวิกฤต

2. Adapt หรือ ‘ปรับตัว’ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น

3. Transform หรือ ‘เปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต’ ความสามารถในการพลิกโฉม

หากประเทศไทยมีความสามารถทั้ง 3 ด้านจะช่วยให้เป็นประเทศที่พร้อมเผชิญสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะรวดเร็วหรือรุนแรงเพียงใดก็ตาม และสามารถที่จะก้าวเดินต่อไปด้วยความระมัดระวังและรอบคอบสู่จุดหมายการพัฒนาที่เหมาะสม มีสมดุล และยั่งยืน

​นอกจากนี้ ผลกระทบและวิถีการดำเนินชีวิตที่พลิกโฉมไปหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องมีการทบทวนและปรับแก้ไขแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเร็วกว่าปกติ ที่เคยกำหนดไว้ให้มีการปรับทุก ๆ 5 ปี

​การปรับแผนแม่บทในครั้งนี้ จะปรับเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 เท่านั้น และอยู่บนพื้นฐานแนวคิด “Resilience” โดยการปรับแผนแม่บทดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับครึ่งหลังของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และต่อเนื่องไปยังแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ต่อไป และจะหยิบยกประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ต้องมีการขับเคลื่อนผลักดันหลังวิกฤตโควิด-19 มาพิจารณาจัดทำเป็นแผนแม่บทหลังสถานการณ์ โควิด-19 โดยมีการกำหนดประเด็นการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (Priority Focus Areas) ดังนี้

​1.​การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) อาทิ 

(1) การส่งเสริมการจ้างงาน (2) การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SMEs และ (3) การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังเมืองหลักและเมืองรอง 

​2.​การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) อาทิ (1) การส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ (3) การยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง 

(4) การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร และ (5) การปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

​3.​การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน (Human Capital) ให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ อาทิ (1) การพัฒนาทักษะแรงงานและการเรียนรู้ (2) การขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม และ (3) การเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ

​4.​การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) อาทิ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (2)​การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล (3) การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม (4)​การเสริมสร้างความมั่นคงและการบริหารจัดการความเสี่ยง และ (5) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแผนที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในประเทศ และเป็นแผนที่ไม่ได้มองเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่มุ่งเน้นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วย อีกทั้ง สศช. ยังได้จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจหลังวิกฤตการณ์โควิดขึ้น รวมทั้งปรับจุดเน้นของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอีก 23 ฉบับ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปหลังจากนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติน่าจะมีความพร้อมมากขึ้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) เป็นแผนที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่างๆ โดยในกระบวนการจัดทำแผนฯ สศช. ได้เปิดโอกาสให้ภาคีต่าง ๆ ในระดับกลุ่มอาชีพ ระดับภาค และระดับประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งแต่ริเริ่มค้นหาปัญหาจนถึงการกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนา ทำให้แผนพัฒนาฉบับนี้ครอบคลุมยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งยังสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนฯ ตลอดจนติดตามและประเมินผลแผนฯ ด้วย ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงสามารถตอบสนองความต้องการของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนและช่วยวางรากฐานการพัฒนาประเทศไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรมแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นก้าวแรกของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาประเทศในระยะยาว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2561 และสิ้นสุดในปี 2580 กำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะที่มุ่งนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด และในอีก 20 ปี เราต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ที่มั่นคง เพียงพอต่อความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะเชื่อมโยงกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติข้างต้น เป็นการพัฒนาในระยะ 5 ปีแรกที่จะช่วยวางรากฐานและขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญในระยะแรกของแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ  

ทั้งนี้ สศช. จะเริ่มกระบวนการวางกรอบแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนหลายประเด็นที่ต่อเนื่องจากแผนฯ 12 มีกรอบแนวคิด 'ล้มแล้ว ลุกไว' ในการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนา และที่สำคัญแนวทางต่าง ๆ ที่จะกำหนดในแผนฯ 13 จะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การพัฒนาประเทศเดินหน้าต่อไปจนบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ในที่สุด ดังนั้น การนำเสนอผลการพัฒนาที่ผ่านมา และการระดมความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นท้าทายและแนวทางการปรับตัวของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ 'ชีวิตวิถีใหม่' หรือ 'New Normal' ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี