ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงานหารือธุรกิจจัดหางานกว่า 80 แห่ง เตรียมพร้อมจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ พบ 5 เดือนแรกปี 63 แรงงานไทยในต่างประเทศส่งเงินกลับบ้าน 4.9 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าโควิดซา ส่งออกแรงงานไทย 5.2 หมื่นคน

วันที่ 20 มิ.ย. 2563 ที่กระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิด "การประชุมเพื่อเตรียมแผนการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ" พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ กว่า 80 บริษัท เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศได้ทันที เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและในต่างประเทศที่เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และในยุโรป ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งแรงงานไทยในภาพรวม ทำให้เป้าหมายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถจัดส่งแรงงานไทยที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ทันที หากรัฐบาลผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศให้สามารถเดินทางได้ตามปกติ จึงจัดได้การประชุมฯ นี้ขึ้น เพื่อให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ กว่า 80 บริษัท ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ให้ภาครัฐสามารถเตรียมแผนการจัดส่งแรงงานได้ทันทีเมื่อประเทศปลายทางเปิดรับแรงงานไทยตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ

ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวจากเมียนมา ว่า มีชาวเมียนมาที่เดินทางกลับจากประเทศไทยและมาเลเซีย ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 23 ราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ชาวเมียนมากลุ่มที่อ้างว่าติดเชื้อจากฝั่งไทยเดินทางไปจากที่ไหน และเข้ามาทางไหน มาทำอะไร เพราะด่านชายแดนไม่ได้เปิดเข้าออกเสรี แต่ยังมีช่องทางธรรมชาติอยู่ เพื่อความชัดเจนตนจะให้เจ้าหน้าที่กระทรวงตรวจสอบด้วย เพราะที่ผ่านมา ไทยดูแลแรงงานต่างด้าวได้ดีตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อีกทั้งในการประชุมทุกวันพุธที่กระทรวงแรงงานเท่าที่ดูตัวเลขแรงงานต่างด้าว 2.8 ล้านคน ไม่เคยมีรายงานว่า มีคนป่วยจากไวรัสโควิด อาจเพราะส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่ม-สาว อายุน้อยมีร่างกายแข็งแรง เข้ามาแล้วทำแต่งาน ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนจึงไม่มีคนติดเชื้อ

คาดไต้หวันรับแรงงานไทยมากสุด

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 (มิ.ย.-ก.ย. 2563) ตั้งเป้าหมาย 52,253 คน ตลาดแรงงานที่คาดว่าจะจัดส่ง เป็นแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น ไต้หวัน 20,120 คน ญี่ปุ่น 3,818 คน เกาหลีใต้ 6,421 คน มาเลเซีย 2,448 คน สิงคโปร์ 2,934 คน ภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ อิสราเอล 2,840 คน 

ในส่วนของตัวเลขแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศนั้น จากข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทย ไปต่างประเทศ ณ เดือน พ.ค. 2563 มีจำนวน 128,102 คน แบ่งเป็น กลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้ 96,486 คน พบมากที่สุดคือ ไต้หวัน 61,635 คน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 25,514 คน มากที่สุดคือ อิสราเอล 22,844 คน กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และอื่นๆ 5,626 คน มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา 724 คน และกลุ่มประเทศแอฟริกา 476 คน มากที่สุดคือ แอฟริกาใต้ 189 คน 

5 เดือนแรกปีนี้ แรงงานไทยในต่างแดนส่งรายได้กลับประเทศ 4.9 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ตัวเลขการประมาณการรายได้ที่คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศส่งกลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. 2563 มีจำนวนรวมทั้งหมด 49,087 ล้านบาท แยกเป็นเดือน ม.ค. จำนวน 12,270 ล้านบาท ก.พ.จำนวน 10,305 ล้านบาท มี.ค. จำนวน 11,361 ล้านบาท เม.ย. จำนวน 8,996 ล้านบาท และพ.ค. จำนวน 6,155 ล้านบาท

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวด้วยว่า สำหรับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 1.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 2.กรมการจัดหางานจัดส่ง ได้แก่ โครงการจ้างตรงจากไต้หวัน โครงการ IM จากญี่ปุ่น โครงการ EPS จากเกาหลี โครงการ TIC จากอิสราเอล 3. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน และ 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

คนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจเดินทางและควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบโดยศึกษาเงื่อนไขในสัญญาจ้างอย่างละเอียด กฎระเบียบเกี่ยวกับการจ้างงานในประเทศที่จะเดินทางซึ่งสัญญาจ้างนั้นจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานไทยหรือสถานทูต/กรมการกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ