ไม่พบผลการค้นหา
ผลการศึกษาชี้กลุ่ม “เจน-ซี” (Generation Z) หรือกลุ่มคนที่เกิดช่วงปีค.ศ.1997 - 2012 มีแนวโน้มเชื่อข่าวปลอมหรือข้อมูลที่บิดเบือนได้น้อยกว่ากลุ่มคนในช่วงอายุอื่นๆ

วารสารวิทยาศาสตร์ Science Advances เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดที่ระบุว่า ชาวอเมริกันอายุมากกว่า 65 ปี หรือกลุ่ม “เบบี้บูมเมอร์” มีโอกาสแชร์ข่าวปลอมทางเฟสบุ๊คมากกว่าชาวอเมริกันกลุ่มเจน-ซี (GenZ) หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 2540 - 2555

การศึกษาดังกล่าวระบุว่า จากผลสำรวจนักเรียนจำนวน 868 คน พบว่า 83% ของนักเรียนในกลุ่มเจน-ซีนั้นรับข่าวสารจากช่องทางโซเชียลมีเดียหรือเวบไซต์ข่าวสารออนไลน์เป็นหลัก

แต่ทั้งนี้มีนักเรียนกลุ่มเจน-ซี เพียง 7% เท่านั้นที่เห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ โดยนักเรียนกว่า 50% เห็นว่า หนังสือพิมพ์ออนไลน์และเว็บไซต์ข่าวเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุด และมี 16% ที่ระบุว่าหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือสุด 

การศึกษาครั้งนี้ได้อ้างอิงผลการสำรวจเมื่อปี 2559 ที่ระบุว่า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์แชร์บทความข่าวปลอมทางเฟสบุ๊คมากกว่าชาวอเมริกันอายุ 18 – 29 ปี ถึงเกือบ 7 เท่า โดยผลการศึกษาดังกล่าวยังชี้ว่า สัดส่วนการแบ่งปันข่าวปลอมของกลุ่มคนต่างช่วงอายุนี้ยังคงมีอยู่แม้ว่าพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น การศึกษา ความนิยมพรรคการเมือง อุดมการณ์ และพฤติกรรมการแผยแพร่เนื้อหาอื่น ๆ โดยรวม

ขณะที่ผลการสำรวจจากสำนักวิจัยพิว เมื่อปี ค.ศ. 2018 ที่มุ่งเน้นไปที่เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ระบุด้วยว่า มีกลุ่มคนอายุ 13 – 17 ปี ถึง 95% สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และมีถึง 97% ที่ใช้งานสื่อออนไลน์เจ้าหลักอย่างน้อย 1 ใน 7 แห่งด้วยกัน

รายงานการศึกษาชิ้นนี้ยังระบุว่า ความแตกต่างในการแบ่งปันข้อมูลเท็จของกลุ่มคนช่วงอายุต่างๆ อาจเป็นเพราะกลุ่มคนเจน-ซี และชาวอเมริกันรุ่นใหม่นั้นเป็นเจเนอเรชันแรกที่เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้เจน-ซีเข้าใจสื่อสังคมออนไลน์และการแผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ได้ดีกว่า และอาจทำให้พวกเขาสามารถแยกแยะแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้กับข่าวปลอมได้มากกว่า

ที่มา VOA / AXI0S