ไม่พบผลการค้นหา
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะชะงักงัน คนไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติได้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ จนมีความกังวลว่า วิกฤตครั้งนี้อาจทำให้มีคนล้มละลายจำนวนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ

มาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก จนมีการคาดการณ์ว่า อาจมีคนล้มละลายจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มากกว่าจำนวนคนที่ป่วยและตายจากโรคนี้

โควิด-19 ทำให้หลายคนไม่สามารถเดินทางออกไปทำงานได้ หลายบริษัทบังคับให้พนักงานต้องยอมหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจทำให้บริษัทต่างๆ ล้มละลาย รัฐบาลของหลายประเทศจึงจำเป็นต้องมีมาตรการพยุงเศรษฐกิจ

ต่อไปนี้คือ มาตรการพยุงเศรษฐกิจและบรรเทาความยากลำบากทางการเงินของ 10 ประเทศที่น่าสนใจ


ฝรั่งเศส

รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศระงับการจ่ายภาษี ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน รัฐบาลยังเรียกร้องให้โรงแรมและภาคเอกชนต่างๆ ช่วยสนับสนุนผู้ติดโควิด-19 จัดการให้สามารถทำงานทางไกลได้ หรือหากพนักงานไม่สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ ก็ให้บริษัทปรับมาตรการใหม่

นอกจากนี้ยังประกาศทุ่มงบประมาณหลายพันล้านยูโรให้ธุรกิจต่างๆ สามารถกู้เงินในช่วงที่เผชิญกับโรคระบาด เพื่อป้องกันการล้มละลาย 


อิตาลี

รัฐบาลอิตาลีประกาศว่าจะให้มีการพักหนี้ค่าผ่อนบ้านทั่วอิตาลี เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 นอกจากนี้ ABI กลุ่มล็อบบี้ธนาคารของอิตาลีระบุว่า สถาบันการเงินจะเสนอ “วันหยุดหนี้” ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนต่างๆ

ที่ผ่านมา การพักหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอิตาลี เนื่องจากช่วงวิกฤตการเงินปี 2551 ก็เคยมีการระงับการจ่ายหนี้ชั่วคราวให้กับธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนต่างๆ มาแล้ว


อินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. รัฐบาลอินโดนีเซียอนุมัติงบ 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 23,300 ล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมีการให้เงินอุดหนุน ตัดลดภาษี เงินชดเชยการว่างงาน 

รัฐบาลได้ช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สายการบิน และอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้เงินช่วยเหลือพิเศษกับสายการบินและบริษัทการท่องเที่ยวมูลค่า 98,500 ล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 211 ล้านบาท ช่วยการตลาดและส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกเป็นมูลค่า 103,000 ล้านรูเปียห์ หรือ 220 ล้านบาท และอีกประมาณ 72,000 ล้านรูเปียห์ หรือราว 154 ล้านบาทให้กับอินฟลูเอนเซอร์ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ในการโปรโมตจุดท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีประกาศว่า หากชาวอินโดนีเซียไปเที่ยว 10 จุดท่องเที่ยวที่รัฐบาลโปรโมตก็จะได้ลดราคาค่าเที่ยวบินต่างๆ ช่วงเดือน มี.ค.ถึง พ.ค. รวมเป็นมูลค่า 443,000 ล้านรูเปียห์หรือราว 948 ล้านบาท ส่วนบริษัท พีที เปอร์ตามินา บริษัทน้ำมันของรัฐจะลดราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินรวมมูลค่า 265,000 ล้านรูเปียห์หรือประมาณ 567 ล้านบาท

รัฐบาลอินโดนีเซียยังงดเว้นภาษีให้กับโรงแรมและร้านอาหารในจุดท่องเที่ยว 10 จุดที่รัฐบาลโปรโมตเป็นเวลา 6 เดือน และรัฐบาลกลางจะจ่ายเงินชดเชยให้รัฐบาลท้องถิ่นที่สูญเสียรายได้จากการงดเว้นภาษีรวมประมาณ 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 7,400 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 4.6 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเกือบ 10,000 ล้านบาทให้กับ “โครงการอาหารในราคาที่ซื้อได้” เพื่อช่วยเหลือให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ 15 ล้านครัวเรือนสามารถซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารในราคาถูกลง และครอบครัวที่มีรายได้น้อยจะได้รับเงินสวัสดิการเดือนละ 200,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 430 บาท เป็นเวลา 6 เดือน

รัฐบาลได้อัดฉีดเงิน 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 3,212 ล้านบาทไปในโครงการอุดหนุนเคหะ ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมบ้านใหม่ 175,000 หลัง และจะนำเงินอีก 800,000 ล้านรูเปียห์หรือ 1,713 ล้านบาทไปจ่ายค่าดอกเบี้ย


อังกฤษ

รัฐบาลอังกฤษประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและผู้บริโภคในช่วงเวลายากลำบาก เพิ่มกระแสเงินสดให้กับธุรกิจและครัวเรือน ลดค่าใช้จ่าย และได้เปิดแผนกระตุ้นเศษฐกิจสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงมีกองทุนให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางกู้ยืม กระตุ้นให้ธนาคารเพิ่มเครดิตกับธุรกิจและครัวเรือน

คณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษยังลดอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงจากร้อยละ 1 เหลือ 0 ทันที และคาดว่าจะคงที่ไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อให้สามารถนำเงินมาปล่อยกู้ให้ธุรกิจต่างๆ ได้มากขึ้นถึง 190,000 ล้านปอนด์หรือ 7.3 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ อังกฤษมีนโยบายนำเงิน 150 ล้านปอนด์หรือประมาณ 5,824 ล้านบาทให้กองทุนทรัสต์เพื่อการควบคุมและบรรเทาวิกฤต ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่อ่อนแอจากการรับมือโควิด-19

สำหรับเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายพนักงานเพื่อลาป่วยหรือ SSP ตามปกติจะต้องจ่ายเมื่อลาป่วยเกิน 4 วันขึ้นไป แต่ในกรณีที่ป่วยด้วยโควิด-19 หรือถูกกักตัวตามคำแนะนำของรัฐบาล พนักงานจะได้รับเงิน SSP ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ส่วนคนที่ไม่เข้าข่ายจะได้รับ SSP เช่น คนที่เป็นเจ้าของกิจการหรือมีรายได้ต่ำกว่า 118 ปอนด์หรือราว 4,518 บาทต่อสัปดาห์ก็จะเข้าถึงเครดิตสวัสดิการหรือเงินเดือนช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเข้าไปที่ศูนย์จัดหางานของรัฐ หากได้รับคำแนะนำให้ต้องกักตัวเอง และคนที่อายุมากกว่า 25 ปีจะได้รับเงินเดือนช่วยเหลือ 73.10 ปอนด์หรือราว 2,840 บาทต่อสัปดาห์ตั้งแต่วันแรกที่ป่วยหรือถูกสั่งให้กักตัว แทนที่จะต้องรอจนถึงวันที่ 8 ตามปกติ

รัฐบาลออกกฎหมายอนุญาตให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีพนักงานไม่ถึง 250 คนไปขอเงินค่า SSP ที่จ่ายให้กับพนักงานที่ป่วยจากโควิด-19 หรือต้องกักตัวเอง คืนจากรัฐบาลได้

รัฐบาลจะงดเก็บภาษีธุรกิจเป็นเวลา 1 ปีในธุรกิจค้าปลีก บริการและโรงแรม และจะลดภาษีให้ผับ 5,000 ปอนด์หรือราว 194,000 บาท และธุรกิจที่มีที่ดินเพียงแห่งเดียวที่มีการประเมินค่าเช่าต่ำกว่า 12,000 ปอนด์หรือราว 465,000 บาทจะได้รับการผ่อนปรนภาษีธุรกิจในปี 2563-2564

นอกจากนี้ รัฐบาลยังทุ่มเงิน 2,200 ล้านปอนด์หรือประมาณ 85,000 ล้านบาทให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไปช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่จ่ายภาษีธุรกิจน้อยหรือไม่ได้จ่ายภาษีธุรกิจ บริษัทละประมาณ 3,000 ปอนด์หรือประมาณ 116,000 บาท

โครงการกู้ยืมเงินเพื่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะเปิดให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงเงินกู้และเบิกเงินเกินบัญชี โดยรัฐบาลจะการันตีเงินร้อยละ 80 ของเงินกู้แต่ละสัญญา เพื่อให้ธนาคารมีความมั่นใจที่จะให้ธุรกิจขนาดเล็กกู้ยืมเงินได้ต่อไป โดยโครงการนี้จะช่วยเงินกู้สูงสุด 1.2 ล้านปอนด์หรือประมาณ 46.6 ล้านบาทต่อสัญญาเงินกู้

นอกจากนี้ รัฐบาลประกาศเพิ่มเงินกองทุนช่วยเหลือคนยากจนอีก 500 ล้านปอนด์หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่อ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจ


ออสเตรเลีย

รัฐบาลออสเตรเลียออกมาตรการเลื่อนกิจกรรมทางการเงินทั้งหมดของธุรกิจออกไปอีก 4 เดือน เช่น การชำระหนี้ การประเมินภาษีเงินได้ การประเมินภาษีจากสิทธิประโยชน์ซึ่งมีเงื่อนไขการจ้างงาน และผ่อนปรนดอกเบี้ยและค่าปรับ รวมถึง หนี้สินภาษีเงินได้นับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. และบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถทำเรื่องเข้าโครงการจ่ายดอกเบี้ยต่ำได้

นอกเหนือจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาทางการเงิน และออกมาตรการผ่อนปรนภาษีสำหรับคนที่ยากลำบากมากเป็นพิเศษ เช่น คนที่ไม่มีเงินซื้ออาหารหรือจ่ายค่าที่พักอาศัยได้


สิงคโปร์

สิงคโปร์อนุมัติงบช่วยเหลือและพยุงสถานการณ์ (Support and Stabilisation Package) 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 128,500 ล้านบาท เมื่อเดือน ก.พ. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงแรม สายการบิน ธุรกิจบริการ ฟรีแลนซ์ ผู้จัดงานอีเวนต์ รวมถึงแรงงาน และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ผู้ติดเชื้อ/ผู้ถูกกักตัวดูอาหาร)

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์กำลังพิจารณาอนุมัติงบประมาณก้อนที่ 2 เพื่อช่วยเรื่องกระแสเงินสดให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง ไม่ให้เกิดผลกระทบด้านฐานการผลิต โดยอาจพิจารณาช่วยเหลือธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่มก่อน


ญี่ปุ่น

เมื่อปลายเดือน ก.พ. รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเงินพยุงเศรษฐกิจฉุกเฉินก้อนแรก 270,000 ล้านเยนหรือราว 81 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินช่วยเหลือพ่อแม่ ครูและพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดโรงเรียน เนื่องจากการปิดโรงเรียนอาจทำให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องลางานมาดูแลลูกที่ยังเล็ก จึงขอให้บริษัทอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานที่จำเป็นต้องดูแลลูกด้วย อีกทั้งเงินพยุงเศรษฐกิจก้อนแรกนี้ยังนำไปกระตุ้นธุรกิจทางการแพทย์ ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์เพื่อรับมือกับการระบาดที่กระจายอย่างรวดเร็ว และช่วยพัฒนาวัคซีนและชุดตรวจไวรัสที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจครั้งที่ 2 มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 128,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องการความช่วยเหลือในช่วย 2-3 สัปดาห์นับตั้งแต่ประกาศนี้ ให้เงินอุดหนุนพ่อแม่ที่ต้องลางานช่วงที่ปิดโรงเรียน เปิดโครงการกู้ยืมเงินสำหรับบริษัทขนาดเล็ก รวมถึงปรับปรุงสถานที่และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพิ่มศักยภาพในการตรวจเชื้อ

ขณะนี้ ญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณาว่าจะอนุมัติเงินช่วยเหลือทางเศษฐกิจก้อนที่ 3 หรือไม่ โดยมีการวางแผนว่าจะให้เงินช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็ก 30,000 เยนหรือราว 9,000 บาท ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณราว 10-20 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3-6 ล้านล้านบาท


สหรัฐฯ

รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมทุ่มงบแจกเช็คเงินสดให้ชาวอเมริกันภายใน 2 สัปดาห์นี้เป็นจำนวนคนละ 1,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 32,000 บาท และทำเนียบขาวยังวางแผนว่าจะอนุญาตให้ผู้เสียภาษีชะลอการจ่ายภาษีได้มากถึง 1 ล้านดอลลาร์หรือ 32 ล้านบาท และบริษัทต่างๆ ชะลอการจ่ายภาษีได้มากถึง 10 ล้านดอลลาร์หรือ 320 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินไปประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 9.6 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะลงทุนพิเศษ 10,000 ล้านดอลลาร์หรือ 320,000 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อพันธบัตร จากเป้าหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 32 ล้านล้านบาท เพื่อให้ตลาดการเงินข้ามผ่านช่วงวุ่นวายนี้


เดนมาร์ก

เมตเทอ เฟรดริกสัน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กกล่าวว่า “หากบริษัททำงานได้น้อยลงมาก ต้องระงับการผลิต รัฐบาลเข้าใจความจำเป็นในการขอให้พนักงานหยุดทำงาน แต่ขอไม่ให้ไล่พนักงานออก” โดยรัฐบาลเดนมาร์กประกาศว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินร้อยละ 75 ของเงินเดือนพนักงาน ส่วนบริษัทจ่ายที่เหลืออีกร้อยละ 25 โดยกำหนดเพดานการจ่ายสูงสุดที่ 23,000 โครน หรือราว 110,600 บาท

นอกจากนี้ รัฐบาลเดนมาร์กตั้งงบ 91 ล้านโครนหรือประมาณ 436 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัทต่างๆ ที่จำเป็นต้องยกเลิกอีเวนต์ขนาดใหญ่ ที่มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1,000 คน หรือมีผู้เข้าร่วมงานไม่ถึง 1,000 คน แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรค เช่น คนแก่หรือกลุ่มอ่อนแอ


เยอรมนี

ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนผันภาษีและขอเลื่อนจ่ายภาษีได้ เช่น ภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังจ่ายเงินชดเชยร้อยละ 60 จากรายได้สุทธิที่ขาดไป จากกิจการสูญเสียรายได้จากการระบาดของโควิด-19 จากเดิมที่จะได้ร้อยละ 30

หลังจากผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว รัฐบาลเยอรมนีเตรียมงบประมาณหลายพันยูโร เพื่อช่วยกิจการขนาดเล็กที่มีพนักงานต่ำกว่า 250 คน และยังมีมาตรการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารต่างๆ โดยรัฐบาลเยอรมนีเสนอให้ธนาคารของรัฐเพื่อการพัฒนาให้เครดิตในการกู้ยืมแก่ธุรกิจโดยไม่มีเพดานจำกัด โดยรัฐบาลมีเงินก้อนแรกในการการันตีเงินกู้ประมาณ 614,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 2 ล้านล้านบาท

 

ที่มา : Gov.SG, Channel News Asia, Straits Times, BBC, ASEAN Briefing, Global News, CNBC, Japan Times, Euractiv, European Commision, Bank of England, ATO, Gov.UK, The Guardian, BMAS, Arbeitsagentur, The Local.de, Graphic