ไม่พบผลการค้นหา
รองอธิบดีกรมศุลการกร แจง กมธ.ปราบโกง ยืนยัน พ่อค้าส่งออกหน้ากากอนามัยสำแดงเท็จก่อน 4 ก.พ. ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เพราะส่งออกไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ด้าน กมธ. ให้ส่งข้อมูลทุกรายละเอียด หวังสะสางกรณีร้องเรียนการกักตุนเพื่อส่งออก

คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ป.ป.ช. เรียกผู้แทนกรมศุลกากร เข้าชี้แจงตามข้อร้องเรียนกรณีกลุ่มบุคคลร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกักตุนและลักลอบนำหน้ากากอนามัยส่งขายต่างประเทศ

ซึ่งกรรมาธิการ โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษก กมธ.ฯ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ปรึกษากมธ. ได้สอบถามถึงจำนวนการนำเข้าและส่งออกหน้ากากอนามัยในปีนี้และรายชื่อบริษัทส่งออก รวมถึงการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด และขอให้ส่งรายละเอียดทั้งหมดให้ กมธ.ป.ป.ช.หลังจากนี้ด้วย

โดยนายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร เป็นผู้เข้าชี้แจงและได้ให้ข้อมูลการส่งออกหน้ากากอนามัยปีนี้ว่า ในเดือน ม.ค. ทั้งสิ้นประมาณ 158 ตัน มีการนำเข้า 49 ตันจากมากกว่า 10 บริษัท และเดือน ก.พ. ส่งออก 187 ตัน นำเข้า 73 ตัน แยกการส่งออกเป็นช่วงแรกตั้งแต่ 1-4 ก.พ. ที่ยังไม่เป็นสินค้าควบคุม ส่งออกทั้งสิ้น 135 ตันหรือร้อยละ 72 ในการส่งออกเดือน ก.พ. และช่วงที่สองตั้งแต่วันที่ 5-20 ก.พ.ส่งออก 12 ตัน ส่วนช่วงที่สามคือควบคุมทั้งหมด โดยผู้ส่งออกต้องมีใบอนุญาต มีการส่งออกจำนวน 38 ตัน

นายชัยยุทธ ชี้แจงด้วยว่า มีผู้ส่งออกบางรายแจ้งพิกัดสินค้าไม่ตรงตามความเป็นจริงด้วย หรือสินค้าที่ไม่ใช่หน้ากากอนามัยแต่ยื่นในพิกัดว่าเป็นหน้ากากอนามัยและในทางตรงข้าม สินค้าที่เป็นหน้ากากอนามัย ยื่นพิกัดว่าเป็นสินค้าประเภทอื่นๆ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายสำแดงเท็จตามที่ กรรมาธิการได้ตั้งคำถาม แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่โทษร้ายแรง ไม่มีเจตนาว่าเลี่ยงภาษีและไม่ขัดประกาศใดๆ ของทางการก่อนที่จะประกาศสินค้าควบคุมในวันที่ 4 ก.พ. เนื่องจากปกติการส่งออกไม่มีการเก็บภาษี

โดยทางกรมศุลกากรได้พยายามหาสถิติจากใบขนส่งสินค้า เพื่อประเมินตัวเลขจริงในการส่งออกหน้ากากอนามัย โดยหลังจากวันที่ 4 ก.พ. ตรวจสอบแล้วพบว่า จำนวนการส่งออกจริงกับที่ขอตามใบอนุญาตตรงกัน

ส่วนการจับกุมผู้กระทำผิดในเดือนมกราคม มีการดำเนินคดีผู้นำเข้าหน้ากากอนามัย 8 คดี ไม่มีการจับกุมผู้ส่งออก

 -​ เดือน ก.พ. จับกุมการนำเข้า 3 คดี การส่งออก 2 คดี

 -​ เดือน มี.ค. จับกุมผู้นำเข้าไปแล้ว 8 คดี ยังไม่มีการจับกุมการส่งออก

ยอดรวมทั้งหมด มีคดีจากการนำเข้า 17 คดี ของกลาง 270,000 ชิ้น ส่งออก 2 คดี 158,000 ชิ้น

โดยคดีความผิดจากการส่งออกหน้ากากอนามัยพบเกิดขึ้นช่วงรอยต่อระหว่างการประกาศเป็นสินค้าควบคุมที่ผู้ประกอบการอาจขออนุญาตไม่ทันพบเพียงครั้งเดียวจำนวน 108,000 ชิ้น ส่วนอีกกรณีคือจับได้ที่เขตชายแดน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง