ไม่พบผลการค้นหา
นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์จีดีพีไทย อาจตกไปอยู่แค่ร้อยละ 2.2 จากไวรัสโคโรนา และการพึ่งพาจีนที่มากเกินไป แนะนำให้สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่าสกุลเงินบาทของไทยที่เคยแข็งเกร่งที่สุดในเอเชียในปี 2562 กลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนแอที่สุดของปีนี้ ตกลงกว่าร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจากประเทศจีน ความอ่อนแอดังกล่าว ยังส่งให้ธนาคารกลางของประเทศไทย (ธปท) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่อัตราร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดอย่างผิดคาด

'เหงียน ตรินห์' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากนาติซีส์ (Natixis) วาณิชธนกิจของฝรั่งเศส กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พึ่งพาอุปสงค์ภายนอกมากเกินไปตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน เนื่องจาก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากจีนมายังไทย คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของผลิตภัณฑ์ทวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อีกทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังคิดเป็นร้อยละ 6 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ

เหงียนกล่าวว่า "เรารู้อย่างชัดเจนว่าการท่องเที่ยวต้องได้รับผลกระทบแน่" อีกทั้ง การส่งออกก็จะกลายเป็น "อีกหนึ่งปัจจัยบั่นทอน" เศรษฐกิจไทยที่มีมูลค่ารวมเกือบ 15.5 ล้านล้านบาท 

ด้วยเหตุนี้ เหงียน ชี้ว่า จีดีพีของไทยในปีนี้อาจอยู่ที่เพียงร้อยละ 2.2 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าไทยพลาดเป้าจีดีพีร้อยละ 5 ที่จะส่งให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ตามที่รัฐบาลตั้งตัวเลขเอาไว้ 

การพึ่งพาจีนที่มากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลจีนออกมาควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยการปิดศูนย์ธุรกิจหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังไม่อนุญาตให้คณะทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศ

ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยมีสูงถึง 10.5 ล้านคน / ปี จากสถิติในปี 2561 เป็นรองเพียงฮ่องกงและมาเก๊า เท่านั้น ส่งผลให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์นักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย รวมถึงเม็ดเงินที่สูญเสียเกือบ 5 แสนล้านบาท 

ไทยต้องมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้มีความเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งต้องมาเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนายิ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท. อาจจะออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1 ในขณะนี้ จะถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งในรอบ 20 ปี แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ 'ภราคัช ซักพอล' นักเศรษฐศาสตร์จาก ไอเอ็นจี ธนาคารของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า "เราไม่คิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเพียงพอสำหรับป้องกันเศรษฐกิจที่ซบเซา นับประสาอะไรกับการจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น" ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ว่า ธปท. จะยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของตัวเอง และมองในทางที่ดี การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาครั้งนี้ก็อาจเป็นบทเรียนทำให้ไทยพึ่งพาภาคส่วนที่ "อ่อนไหวง่าย" อย่างการท่องเที่ยว ลดลง 

เหงียนปิดท้ายว่า "ฉันคิดว่าพวกเขาต้องลงทุนเพิ่มขึ้น คำถามคือจะลงทุนที่ไหน" เธอยังอธิบายต่อว่า เศรษฐกิจไทยต้องสร้าง "ความหลากหลายแจกแหล่งรายได้เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาการเติบโตจากตัวเอง" เพราะ "ไม่เช่นนั้น ไทยจะติดอยู่ในกับดักที่แม้พวกเขาจะทำอะไรก็ตาม พวกเขาก็จะไม่สามารถสร้างอุปสงค์ภายในประเทศที่ยั่งยืนโดยเฉพาะในฝั่งการลงทุนและการบริโภค"

อ้างอิง; CNBC