ไม่พบผลการค้นหา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิศทางมหาอำนาจโลกเปลี่ยนไปจากยุโรปภาคพื้นทวีปสู่ประเทศอเมริกา ถึงแม้ความทะเยอทะยานของมหาอำนาจอเมริกาในการแพร่ขยายลัทธิเสรีนิยมจะถูกท้าทายจากขั้วอำนาจคอมมิวนิสม์ก็ตาม แต่ทั้งสองฝั่งกลับมีลักษณะเหมือนกันคือ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ การแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์เป็นสนามรบตัวแทนที่สำคัญสนามหนึ่ง รวมถึงวิทยาศาสตร์สุขภาพ

30 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2จึงถือว่าเป็นยุคทองของการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบก้าวกระโดด เช่น ในแง่ปริมาณ การค้นพบยาตระกูลเพนิซิลลินและสามารถผลิตปริมาณมหาศาลช่วยให้การต่อสู้กับโรคติดต่อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโลกสัมฤทธิ์ผล เราใช้เวลาแค่ 33 ปีในการเพิ่มจำนวนประชากรจาก 2พันล้านเป็น 3 พันล้าน และ 14 ปี เพื่อเพิ่มเป็น 4 พันล้านคน หรือในแง่ความรู้เชิงลึก เช่น การรักษาโรคในระดับยีนหรือโมเลกุล เป็นต้น

การกลับมาของความเชื่อทางการแพทย์

อย่างไรก็ตามการกลับมาของความเชื่อทางการแพทย์ก็มีความสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมที่เปล่งบานไม่มากก็น้อย ประการแรก ช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นจุดเริ่มต้นของการชะลอตัวของประสิทธิภาพการรักษาจากวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น เพนิซิลลินที่เป็นตัวยามหัศจรรย์ (magical bullet) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อได้สารพัดและมีราคาถูก เริ่มประสบปัญหาเชื้อดื้อยา โลกต้องการการวิจัยพัฒนาตัวยาตระกูลใหม่เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มีวิวัฒนาการรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีการแพทย์ แต่การลงทุนวิจัยก็ต้องการงบประมาณมหาศาล อุตสาหกรรมยาเป็นองค์กรแสวงกำไรและต้องการการปกป้องลิขสิทธิ์ทางปัญญา อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรยาก็ทำให้ราคาค่ายาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ประการสอง ระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชน ส่งผลให้ปัจจัยการเกิดโรคและสาเหตุการตายของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป โรคไม่ติดต่อ และโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค เช่น โรคหัวใจ โรคพิษสุราเรื้อรังและโรคที่เกี่ยวข้อง การเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โรคถุงลมโป่พองและโรคเกี่ยวข้องจากยาสูบ ตลอดจนโรคทางจิตเวช เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า ซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้มีความซับซ้อนและไม่สามารถอธิบายกลไกการเกิดโรคได้อย่างตรงไปตรงมาได้ง่ายนักและมีปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการแพทย์ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น รายได้ อาชีพการงาน การศึกษา เป็นต้น ซึ่งต่างจากโรคติดต่อที่สาเหตุขอโรคมาจากเชื้อโรคและวิธีการรักษาโรคคือการฆ่าเชื้อโรค

ประการสาม ระบบทุนนิยมถึงแม้สร้างความจำเริญและพัฒนาการเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าการเติบโตนั้นก็ไม่ได้กระจายไปยังกลุ่มประชากรย่อยอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ทรัพยากรต่างๆ รวมถึงสวัสดิการและการบริการจากภาครัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งพบมากในกลุ่มประเทศเอเชียที่มุ่งไล่กวดการพัฒนาให้ทันประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมยุโรป ความเหลื่อมล้ำการพัฒนาทำให้เขตทุรกันดารที่อำนาจรัฐและความเจริญเข้าไปไม่ถึง ก็ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงระบบการแพทย์สมัยใหม่ การรักษาที่ทันสมัย ได้อย่างยากลำบาก และต้องอาศัยการรักษาแบบพื้นบ้าน หรือการรักษาด้วยความเชื่อท้องถิ่นต่อไป

จากสาเหตุข้างต้นทำให้อำนาจความรู้การแพทย์วิทยาศาสตร์เริ่มถูกตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพการรักษา และจำกัดการเข้าถึงกับประชากรบางกลุ่ม และเกิดการทบทวนหาวิธีการรักษาอื่นที่แตกต่างจากการรักษาแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งกระบวนการนี้ยิ่งถูกตอกย้ำจากการประกาศขององค์กรอนามัยโลก Alma-Ata declaration 1978 ที่สนับสนุนให้เกิดการยอมรับความหลากหลายในการรักษา รวมถึงการแพทย์แบบพื้นบ้าน การแพทย์แบบโฮมีโอพาธีย์ เป็นต้น ที่ไม่ได้อิงกับวิทยาศาสตร์เข้มข้น เป็นการแพทย์ทางเลือกให้กับผู้ป่วย                    

วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience): การปรับตัวของความเชื่อด้านการแพทย์

การประกาศขององค์กรอนามัยโลก Alma-Ata declaration 1978  เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในระบบสุขภาพโลก ถึงแม้ไม่ได้มีสถานะเป็นกฎมายบังคับแต่เป็นเพียงการแนะนำก็ตาม แต่ก็สร้างแนวโน้มใหม่ให้ประเทศสมาชิกดำเนินตามแนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่ขาดแคลนทรัพยากรการแพทย์และบุคลากรการแพทย์สมัยใหม่ อย่างไรก็ตามการรื้อฟื้นการแพทย์พื้นบ้านก็ต้องอาศัยอำนาจรัฐเช่นกัน ถึงแม้การแพทย์พื้นบ้านยังสามารถพบเห็นในในบางพื้นที่แต่ก็ต้องหลบซ่อนเพราะอำนาจรัฐได้ออกกฎหมายให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีความผิด และต้องออกกฎหมายย้อนกลับรับรองสถานภาพการแพทย์พื้นบ้านอีกครั้งหนึ่ง เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร ก็ต้องมีการออกกฎหมายรับรองกระบวนการผลิต รับรองคุณภาพ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ หรือบางประเทศรัฐไปไกลกว่านั้นโดยมีนโยบายที่สนับสนุนการแพทย์พื้นบ้านอย่างมาก เช่น การออกแบบกระบวนวิชาการแพทย์พื้นบ้าน การสร้างสถาบันหรือมหาวิทยาลัยในการศึกษาการแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนาระบบการศึกษาสมุนไพรด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณรัฐเพื่อพัฒนาด้านการแพทย์พื้นบ้าน 

ในขณะเดียวกันความเชื่อด้านสุขภาพเองก็มีการพัฒนาตามยุคสมัยเช่นเดียวกันเพื่อรวมเข้ากับสังคมแบบทุนนิยมและสังคมสมัยใหม่อย่างแนบเนียน จากเดิมการรักษาพื้นบ้านที่ผสมด้วยความเชื่อ เช่น การรักษาด้วยน้ำมนต์ การรักษาด้วยการขับไล่ผีร้าย ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นวิทยาศาสตร์เทียม โดยพยายามอธิบายสรรพคุณต่างๆด้วยเหตุผลที่คล้ายๆจะเป็นวิทยาศาสตร์แต่ไม่ได้ผ่านการรับรองทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ มูลค่าการตลาดการแพทย์ทางเลือกในระดับโลกสูงถึง 59.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสินค้ายาสมุนไพร ผลประโยชน์มหาศาลนี้ ส่งผลให้มีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยเข้ามาผลิตยาการแพทย์พื้นบ้าน โดยมีทั้งที่ดำเนินการผลิตตามระเบียบกฎหมายที่ร่างไว้ และมีทั้งที่ผลิตเองโดยไม่ได้ผ่านการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานรัฐ

บทบาทหน้าที่รัฐต่อความรู้และความเชื่อด้านการแพทย์

การรื้อฟื้นการแพทย์แผนโบราณนั้นถึงแม้มีประสงค์ดีเพื่อลดอำนาจผูกขาดของบุคลากรสุขภาพในระบบอุตสาหกรรมสุขภาพ และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกการรักษาที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่คำถามที่ตามมาคือ ขอบเขตและความรับผิดชอบของรัฐควรจะมีเท่าใดในการกำกับการแพทย์ทางเลือกเหล่านี้? อุตสาหกรรมการแพทย์ทางเลือกอาจจะเป็นอุตสาหกรรมรายได้ใหม่ในปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐมีหน้าที่หนึ่งคือการคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพประชาชนด้วยเช่นกัน การปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ผลิตสินค้าทางการแพทย์ทางเลือกโดยมิได้มีการตรวจสอบคุณภาพ โดยมิได้ผ่านกระบวนการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ผ่านการรับรองจากรัฐ ย่อมอาจเกิดผลร้ายต่อสุขภาพประชาชนตามมา 

ไม่ใช่ว่ารัฐกลับเป็นคนที่สนับสนุนให้ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องด้านสุขภาพไหลเวียนอยู่ในระบบสุขภาพต่อเนื่องไป


อ้างอิง

[1] Complementary And Alternative Medicine Market Size, Share & Trends Analysis Report By Intervention (Botanical, Acupuncture, Mind, Body, Yoga), By Distribution (Direct Contact, E-training), And Segment Forecasts, 2019 – 2026. Retrieved from:

https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/complementary-alternative-medicine-market

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog