ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มผู้ประท้วงการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติในหลายประเทศทั่วโลก ทำลายอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญที่มีประวัติครอบครองและค้าทาส รวมถึงนักล่าอาณานิคมในอดีต ในฐานะที่เป็นต้นตอความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน

กลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงบรัสเซลส์ และเมืองแอนต์เวิร์ปของเบลเยียม, กรุงลอนดอนของอังกฤษ หลายเมืองในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย พุ่งเป้าทำลายรูปปั้นและอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองหรือการค้าทาส การล่าอาณานิคม และทัศนคติเหยียดเชื้อชาติ

สำนักข่าว AP รายงานว่า ผู้ชุมนุมประท้วงร่วมทำลายรูปปั้นและอนุสาวรีย์ต่างๆ ในฐานะที่เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต พร้อมทั้งเรียกร้องให้เกิดการ 'ชำระประวัติศาสตร์' เพื่อให้คนในสังคมปัจจุบันได้เรียนรู้ว่าการกระทำในอดีตของบุคคลที่เคยได้รับการยกย่องนั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อคนจำนวนมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน

AFP-ประท้วงต่อต้านเหยียดผิว ทำลายรูปปั้นอดีตผู้ค้าทาส นักล่าอาณานิคมทั่วโลก king leopol

อนุสาวรีย์ กษัตริย์เลออปอลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม เป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ที่ถูกพ่นสีสเปรย์ใส่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเอพีรายงานว่า กษัตริย์เลออปอลด์ที่ 2 ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ทรงสร้างความมั่งคั่งให้กับรัชสมัยของตัวเอง ช่วง ค.ศ.1865-1909 (พ.ศ.2408-2452) แต่สำหรับชาวคองโกในแอฟริกามองว่า เขาคือผู้ก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เอพีรายงานว่า คองโกในยุคที่ตกเป็นอาณานิคม ภายใต้การปกครองของกษัตริย์เลออปอลด์ ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากให้กับราชอาณาจักรผู้ปกครอง โดยเฉพาะเหมืองเพชรและการปลูกยางพารา แต่ที่เลวร้ายที่สุด คือ การบังคับใช้แรงงานทาสชาวคองโกอย่างทารุณ รวมถึงการค้าทาส ซึ่งถูกบังคับนำตัวมายังยุโรป และนักประวัติศาสตร์ประเมินว่าช่วงเวลานั้นอาจมีผู้เสียชีวิตราว 10 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 70,000 คน เสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ของกษัตริย์เลออปอลด์ที่ 2 ไปจากพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังจะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้คนรุ่นหลังทราบถึงผลกระทบของการล่าอาณานิคมอย่างรอบด้าน ไม่ใช่กล่าวถึงแต่ด้านที่คนในสังคมของเจ้าอาณานิคมได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว

AFP-ประท้วงต่อต้านเหยียดผิว ทำลายรูปปั้นอดีตผู้ค้าทาส นักล่าอาณานิคมทั่วโลก วินสตัน เชอร์ชิล Black Lives Matter

ส่วนที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ กลุ่มผู้ประท้วงการเหยียดผิวได้แขวนป้ายข้อความประณามและพ่นสีอนุสาวรีย์ 'เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล' อดีตนายกรัฐมนตรีที่ชาวอังกฤษฝั่งอนุรักษนิยมและชาตินิยมมองว่าเป็น 'วีรบุรุษคนสำคัญ' แต่ก็มีบันทึกบ่งชี้ว่าเขามีทัศนคติเหยียดเชื้อชาติ

นอกจากนี้ VOA รายงานว่า รูปปั้น 'เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน' พ่อค้าคนสำคัญที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างความเจริญมั่งคั่งให้กับเมืองบริสตอลของอังกฤษ ช่วงศตวรรษที่ 17 ถูกกลุ่มผู้ประท้วงนับร้อยคนดึงรูปปั้นจนหล่นจากฐานและถูกทำลายจนเสียหายเมื่อ 8 มิ.ย.

กลุ่มผู้ทำลายรูปปั้นระบุว่า กิจการที่ทำให้โคลสตันร่ำรวยก็คือ 'การค้าทาส' ขณะที่ข้อมูลซึ่งถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าชาวแอฟริกันอย่างน้อย 20,000 คน รวมถึงเด็กและผู้หญิง เสียชีวิตอยู่ในเรือค้าทาสของโคลสตัน ในระหว่างที่เขาลำเลียงทาสชาวแอฟริกันเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมายังยุโรปในช่วงดังกล่าว

ขณะเดียวกัน TRT World รายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงในออสเตรเลียได้รวมตัวกันตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ทำลายรูปปั้น 'ชาลส์ คาเมรอน คิงสตัน' นักการเมืองคนสำคัญในยุคศตวรรษที่ 19 ผู้ผลักดันนโยบาย White Australia Policy ที่มองว่าออสเตรเลียต้องเป็นดินแดนของคนขาวเท่านั้น รวมถึงอนุสาวรีย์ 'กัปตัน เจมส์ คุก' นักสำรวจในยุคอาณานิคมซึ่งนำกำลังเข้ายึดครองดินแดนออสเตรเลียจากชนพื้นเมืองอะบอริจินัล

AFP-ประท้วงต่อต้านเหยียดผิว ทำลายรูปปั้นอดีตผู้ค้าทาส นักล่าอาณานิคมทั่วโลก เนลสัน แมนเดลา

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นผลพวงจากการประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟริกันอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรมในสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากการตายของ 'จอร์จ ฟลอยด์' ซึ่งถูกถูกตำรวจจับกุมในเมืองมินนิแอโพลิส เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา

การตายของฟลอยด์นำไปสู่ข้อถกเถียงว่า การเลือกปฏิบัติอันเกิดจากสีผิวและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอเมริกัน หยั่งรากลึกมานาน โดยสามารถย้อนไปตั้งแต่ที่มีการบังคับนำตัวทาสชาวแอฟริกันเข้าในทวีปอเมริกาเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว แม้จะเลิกทาสได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีการใช้กฎหมายจำกัดสิทธิชาวแอฟริกันอเมริกันที่สืบเชื้อสายจากทาสต่อมาหลายชั่วอายุคน

ส่วนกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิคนผิวดำ Black Lives Matter เป็นแกนนำจัดการชุมนุมในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบตำรวจและเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชาวแอฟริกันอเมริกันที่เสียชีวิตจากการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังได้บุกทำลายรูปปั้นและอนุสาวรีย์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาส การเหยียดเชื้อชาติ และการล่าอาณานิคมในอดีตเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น 'คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส' นักสำรวจจากยุโรปที่ถูกยกย่องว่าเป็น 'ผู้ค้นพบอเมริกา' ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบอสตัน ถูกผู้ชุมนุมตัดศีรษะทิ้ง โดยให้เหตุผลว่า ถ้าหากมองในมุมของชนพื้นเมืองอเมริกัน และทาสที่ถูกนำตัวมายังดินแดนแห่งนี้ โคลัมบัสก็คือนักล่าอาณานิคมและผู้ละเมิดสิทธิทาสที่ถูกบังคับใช้แรงงาน

ส่วน Euro News รายงานว่ารูปปั้นของ 'นายพลวิลเลียม คาร์เตอร์ วิกแฮม' อดีตทหารคนสำคัญของฝ่าย 'สมาพันธรัฐอเมริกา' (Confederate States of America หรือ CSA) ซึ่งเป็นการรวมตัวของรัฐที่สนับสนุนการครอบครองทาสในสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกา ก็ถูกผู้ชุมนุมลากไปทิ้งลงแม่น้ำในเวอร์จิเนียด้วยเช่นกัน

AFP-ประท้วงต่อต้านเหยียดผิว ทำลายรูปปั้นอดีตผู้ค้าทาส นักล่าอาณานิคมทั่วโลก Black Lives Matter

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: