ไม่พบผลการค้นหา
2 มหาวิทยาลัยไทย ได้รับเลือกจาก AUF ให้ทุนสนับสนุนโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อป้องกันและต้านโควิด-19 จาก 79 ประเทศทั่วโลก

มหาวิทยาลัยทั่วโลกจาก 79 ประเทศ ส่งโครงการนวัตกรรมกว่า 2,000 โครงการ เพื่อเข้ารับการคัดเลือก ให้ดำเนินโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อป้องกันและต้านโควิด-19 โดยมหาวิทยาลัยรังสิต (2 โครงการ) และมหาวิทยาลัยพะเยา (1 โครงการ) เป็นเพียงมหาวิทยาลัยสองแห่งของไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกผู้พูดภาษาฝรั่งเศส (AUF) โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีโครงการที่ได้รับคัดเลือกเพียง 8 โครงการ ซึ่งมาจากประเทศลาว ไทย เวียดนาม และฟิจิ

ผศ.ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้รับการคัดเลือก ประกอบด้วย โครงการที่ 1 นวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสออนไลน์ และโครงการที่ 2 การผลิตหน้ากากดำน้ำทดแทนหน้ากาก N95 ทั้งสองโครงการนี้คณะศิลปศาสตร์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ประสานความร่วมมือจาก อาจารย์ผู้สอน นักวิจัย วิศวกร และนักศึกษาจากหลากหลายคณะของมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง อาทิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยเพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมให้โดดเด่นและเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในช่วงวิกฤติโควิดนี้ด้วย

คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.รังสิต

“ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ AUF เรามีแนวคิดและแนวทางเหมือนกัน คือ เมื่อคิดโครงการอะไรขึ้นมา จะไม่ใช่โครงการที่ยังประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยที่คิดถึงสังคม คิดถึงชุมชนอยู่เสมอ เวลาสอนหนังสือ โดย AUF ยังย้ำเตือนเสมอว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ เรื่องของการศึกษาเพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างคนให้เป็นคน พร้อมกันนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณูปโภค สุขภาพ การแพทย์ ความปลอดภัยในชีวิต ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด" ผศ.ดร.ปิยสุดา กล่าว  

ขณะที่มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ได้เสนอโครงการต้านโควิด และได้รับการสนับสนุนจากองค์กร AUF เป็นโครงการสร้างระบบคัดกรอง COVID-19 โดยนักวิจัยหน้าใหม่ของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันวิจัยและพัฒนา (IRD) พยายามที่จะจัดตั้งกระบวนการที่ปลอดภัยสำหรับการรวบรวมและขนส่งตัวอย่างและเพื่อพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการจัดการการนัดหมาย การระบุตัวอย่างและการจัดส่งผลลัพธ์ ทีมงานโครงการหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะสามารถนำนวัตกรรมไปปรับใช้ในจังหวัดอื่นในประเทศไทย

ด้าน อุยดั๊ด เต๊บบา ผู้อำนวยการองค์กร AUF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “โครงการ COVID -19 ขององค์กร AUF เผยให้เห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยสมาชิกทุกแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการพยายามพัฒนาด้านนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ขอแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกทุกแห่ง AUF เล็งเห็นบทบาทที่สำคัญของทุกมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่พยายามช่วยกันพัฒนาประเทศและเร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อช่วยให้แต่ละประเทศก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้  

โครงการคอร์สออนไลน์_2.png


โครงการหน้ากากม.รังสิต