ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ อีอีซี ยัน 19 มิ.ย.นี้ ลงนามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แจงคืบหน้ารถไฟ 3 สนามบิน ยันเดินตามแผน ฟากนักลงทุนต่างชาติขอผ่อนปรนเดินทางเข้าไทยพร้อมปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระบาด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 3/2563 ว่า ในวันที่ 19 มิ.ย. 2563 จะมีการลงนามในสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นการพัฒนาในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมการบิน

ทั้งนี้ เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท โดยประเมินว่ารัฐจะได้รับผลตอบแทนทางการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) คิดในมูลค่าปัจจุบัน 3.05 แสนล้านบาท รายได้ภาษีอากร 6.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก โดยผู้ได้รับสัมปทาน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบไปด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่ได้มีการลงนามในสัญญาไปแล้ว ยืนยันว่า ยังสามารถเดินหน้าได้ตามแผน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่และการเวนคืนที่ ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายเดือนนี้

ตามผล EEC
  • คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้นายคณิศ เปิดเผยว่า ขณะนี้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO หอการค้าประเทศญี่ปุ่น หรือ JCC ภาคธุรกิจเกาหลี และประเทศอื่นๆ ได้ยื่นหนังสือขอให้ภาครัฐผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศของนักลงทุน ช่างเทคนิคต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ โดยภาคธุรกิจยินดีเข้ากระบวนการกักตัว พร้อมมาตรการตรวจคัดกรองติดตามอย่างเข้มข้น และพร้อมที่รองรับค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด อย่างไรก็ตา มจะต้องนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง และคาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายเดือน มิ.ย. นี้เช่นกัน

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ อีอีซี ที่ยืดเยื้อมานาน ปัจจุบันได้ถูกแก้ไขแล้ว และจะวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว เช่น นิคมอุตสาหกรรมใหม่ต้องมีแหล่งน้ำของตนเอง ผลักดันการทำประปาหมู่บ้าน แยกภาคอุตสาหกรรมกับครัวเรือน ไม่พึ่งพาแหล่งน้ำจากน้ำฝน

Infographic แผนเกษตร (กบอ 2-2563).jpg

นอกจากนี้ว่าที่ประชุมได้รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซีเป้าหมาย ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ โดยใช้แนวทางใช้ความต้องการนำการผลิต ยกระดับการตลาด การแปรรูป การเกษตร ด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน

โดยในระยะแรกจะเริ่มกับกลุ่ม 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน และสามารถดำเนินการได้ทันที คือ ผลไม้ พืช Bio-Based ประมง สมุนไพร และพืชมูลค่าสูง เช่น ไม้ประดับ ผักปลอดสารพิษ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ. เป็นเลขานุการร่วม

สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซีเป้าหมาย ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนจีดีพีของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นให้ใกล้เคียงกับจีดีพีภาคอุตสาหกรรม จากพื้นที่ภาคตะวันออกภาคเกษตรมีการใช้ที่ดินรวมร้อยละ 66 มีแรงงานร้อยละ 13 แต่มีสัดส่วนจีดีพีเพียงร้อยละ 2 และจะสามารถทำให้เห็นว่าตามกฏหมายอีอีซีไม่ได้ทำแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในพื้นที่อย่างเดียวเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :