ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ค้าสำเพ็งกำลังฝ่าคลื่นมรสุมด้านเศรษฐกิจ หลังผู้บริโภคลดลง ต้นทุนสูง มีคู่แข่งจากจีน รวมถึงยังต้องเผชิญหน้ากับอีคอมเมิร์ซ

เสียงร้องโอดโอยจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ดังออกมาจากย่าน 'สำเพ็ง' พื้นที่การค้าสำคัญของไทยกระจายไปทั่วโลกออนไลน์ ภายหลังมีภาพความเงียบเหงาของผู้ซื้อและท่าทีหลับใหลอย่างสงบจากผู้ค้า

ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว นาฬิกาบอกเวลา 13.00 น. 'วอยซ์ ออนไลน์' ลงพื้นที่พบปะรับฟังปัญหาจากปากผู้ค้าตัวจริงเสียงจริง

เศรษฐกิจแย่หรือแค่คิดไปเอง ?


3 ปัจจัยทำเงินสะดุด

ตลาดสำเพ็ง คือถนนเศรษฐกิจที่สำคัญ ชื่อว่า “ถนนวานิช 1” เดิมทีเป็นชุมชนชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่เมืองไทย และได้สร้างชุมชนให้เป็นย่านการค้า เจริญรุ่งเรืองมากในรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบันยังเป็นแหล่งค้าขายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นแหล่งค้าส่งที่สำคัญของประเทศ

การค้าแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก คือ ตลาดเช้า เริ่มตั้งเเต่ 01.00 - 06.00 น. ร้านที่เปิดช่วงนี้เน้นขายส่งเป็นหลัก ขณะที่ตลาดสาย เริ่มตั้งแต่ 8.00 - 17.00 น. สินค้าส่วนใหญ่เป็นกิฟต์ช็อป ของเล่น เครื่องประดับ หมวก กระเป๋า ผ้า และอุปกรณ์งานฝีมือ ตลาดสายเป็นช่วงที่มีทั้งแม่ค้าและลูกค้าทั่วไปมาเดินเล่นจับจ่ายซื้อของ

สำเพ็ง

สังวาลย์ กวินส่งสุข ผู้ค้าเสื้อผ้า-ชุดชั้นใน บอกว่า 4-5 ปีหลัง เศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สังเกตจากจำนวนผู้คนลดน้อยลงน้อยไปมากไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

“เต็ม 100 นะ วันธรรมดาเหลือ 30 วันเสาร์-อาทิตย์ ต้นเดือนปลายเดือนเหลือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เอง” แม่ค้าผู้ปักหลักทำมาหากินย่านนี้มานานกว่า 24 ปีบอก

เธอวิเคราะห์อย่างมั่นใจว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจย่านสำเพ็งซบเซาเกิดจาก 3 ปัจจัยสำคัญดังนี้

1.การปรับปรุงพื้นที่การค้าขาย ผลจากการจัดระเบียบพื้นที่การค้าทั่วกรุงเทพฯ เช่น ประตูน้ำ คลองถม เป็นต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่ง จนนำมาซึ่งการจับจ่ายใช้สอยและเงินหมุนเวียนในตลาดการค้าลดลง โดยเฉพาะย่านค้าส่งสำคัญอย่างสำเพ็ง

2.การค้าออนไลน์ – วิถีการช้อปเปลี่ยนไป

“ต้องยอมรับว่าแม่ค้าสมัยดั้งเดิมปรับตัวได้ช้า โดยเฉพาะในพื้นที่เก่าแก่อย่างสำเพ็ง การค้าส่วนใหญ่ยังหวังพึ่งเพียงแค่ลูกค้าหน้าเก่าๆ พวกเด็กวัยรุ่นไม่มาเดินหรอกแถวนี้”

ทั้งนี้การจับจ่ายซื้อของย่านสำเพ็งเป็นที่รู้กันดีว่าต้องเจอกับสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าว รวมถึงยังหาที่จอดรถได้ยาก ทำให้กลายเป็นอุปสรรคสำหรับลูกค้าหน้าใหม่

3.การบุกตลาดของจีน

เดิมทีผู้ค้าชาวไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีน แต่ปัจุบันกลายเป็นว่าคนจีนได้เข้ามาทำหน้าที่ทั้งผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และเช่าพื้นที่ขายด้วยตัวเอง โดยมีนายหน้าเป็นคนไทย ผลก็คือสามารถขายได้ราคาถูก

“คนไทยกลายเป็นลูกจ้างเขา” เธอยกตัวอย่าง “เสื้อผ้าปกติเราขายกัน 50 บาท แต่คนจีนขาย 3 ตัวร้อย เราก็อยู่ไม่ได้” แม่ค้าวัย 48 ปีบอกอย่างเซ็งๆ


ต้นทุนสูง - เงินลด – ยอดขายหด

อารมณ์ กรัดแพร เจ้าของร้านข้าวแกงแม่อ้อน ซึ่งโดนจัดระเบียบย้ายจากริมคลองสะพานหัน และย้ายมาอยู่ที่สำเพ็ง เมื่อ 4 ปีก่อน เล่าว่า ปัจจุบันต้นทุนการค้าสูงขึ้น คนซื้อน้อยลงอย่างชัดเจน จากอดีตค่าวัตถุดิบไม่เกิน 2,500 บาท ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท ขณะที่ราคาขายกลับปรับตัวตามไม่ทัน

“เมื่อก่อนช่วงบ่ายๆ เราไม่มีเวลามานั่งคุยกับใครหรอก” เจ้าของร้านวัย 47 ปีบอกอย่างอารมณ์ดี “สมัยนี้สบายๆ ชิวๆ แต่เงินลดลง”

สำเพ็ง

“จริงมากๆ” พิชัย พ่อค้าร้านตุ๊กตาพยักหน้า หลังถูกถามว่าเศรษฐกิจการค้าย่านสำเพ็งแย่จริงหรือไม่ เขาสะท้อนปัญหาให้ฟังว่า “สถานการณ์บ้านเมืองไม่ดี คนไม่มีเงินใช้ มันเป็นลูกโซ่มาเลย”  

หนุ่มใหญ่มากประสบการณ์บอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า เมื่อผู้บริโภคไม่มีเงินใช้ ก็กระทบไปทั้งระบบค้าปลีกถึงค้าส่ง ซึ่งปัจจุบันถือว่ายากลำบากที่สุดนับตั้งแต่ค้าขายมาหลายสิบปี และยังเชื่อด้วยว่า นี่ไม่ใช่จุดต่ำสุด

“น่าจะแย่กว่านี้อีก” เขาบอกพร้อมกับชี้ให้ดูผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา “วันนี้ยังดีนะ บางวันไม่มีคนเดินเลย เมื่อก่อนไม่ต้องเดินครับ ไหล มันดันกันไป เบียดเสียดลอยไปเลย ตอนนี้เดินสบาย”

ยอดขายตุ๊กตาและสินค้าของร้านเขา ตกลงราว 70 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ ว่าหากได้กำไรวันละ 1,000 บาท ปัจจุบันก็เหลือเพียงแค่ 300 บาทเท่านั้น

ด้าน คีภัทร เจ้าของร้านรองเท้าแห่งหนึ่งที่ขายมานานกว่า 10 ปี บอกว่า การจัดระเบียบพื้นที่การค้าหลายแห่ง การแข่งขันในโลกออนไลน์ และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งกระทบการค้าขายกับชาวต่างชาติ ทั้งหมดล้วนมีผลให้เกิดความเงียบเหงาขึ้นที่สำเพ็ง

เขายืนยันว่าเสียงสะท้อนถึงความซบเซาของสำเพ็งที่กำลังดังในโลกออนไลน์เป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงไม่ใช่เพียงแค่ร้านใดร้านหนึ่ง

“โทรศัพท์มีประโยชน์มากๆ ดูโน่นดูนี่ในช่วงเวลานี้เพราะมันเหงา” ภรรยาของเขาเสริม

สำหรับเธอความวุ่นวายจากการชุมนุมไม่ได้กระทบกับยอดขายมากเท่ากับความสงบเรียบร้อยในแบบที่เป็นมาตลอด 4-5 ปี

“เอางี้นะ ช่วงเสื้อเหลือง เสื้อแดง รถถังเข้ามาพี่ขายดีกว่าตอนนี้อ่ะ”

สำเพ็ง

จีนมาเอง ต้นทุนต่ำ

สำหรับพื้นที่การค้าสำเพ็ง แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่

โซน A ร้านค้าส่วนใหญ่เน้นขายผ้าเป็นหลัก ทั้งแบบเรียบและแบบลวดลาย นอกจากนี้ยังมีร้านอุปกรณ์งานฝีมือ เครื่องประดับ กิฟต์ช็อป ดอกไม้ประดิษฐ์ และตัวรีดติดเสื้อ

โซน B เป็นโซนที่มีผู้เดินหนาแน่นสุด ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นร้านกิฟต์ช็อป ต่างหู เครื่องประดับ กระเป๋า หมวก

โซน C ร้านส่วนใหญ่เป็นพวกกระเป๋า หมวก รองเท้า

ศิริพร อินทอง เจ้าของร้านฮีร่า แฟชั่น ศูนย์รวมลูกปัด อุปกรณ์ อะไหล่ ทำเครื่องประดับทุกชนิด บอกว่า สินค้าฟุ่มเฟือยได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยอดขายของร้านหดหายไปประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หลายร้านบางวันถึงกับขายไม่ได้แม้แต่บาทเดียว

“ไม่ได้เปิดบิลเลย เพราะไม่มีลูกค้า” เธอส่ายหัว “ล้มหายตายจากกันไปหลายแห่งแล้ว ขายไม่ได้ เจอค่าเช่าที่แพง โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา”


สำเพ็ง

เธอให้ข้อมูลว่าค่าเช่าที่ย่านสำเพ็งเริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 ถึง 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาด

“ร้านที่อยู่ได้คือพยุงกันไป ไม่ใช่กำไรมากมายรุ่งเรืองเหมือนในอดีต ลูกค้าบางเจ้าเมื่อก่อนซื้อกันหลักหมื่น ตอนนี้ 3,000 ยังควักยากเลย เพราะเขาก็เอาไปขายต่อไม่ได้”

ศิริพร เป็นอีกคนที่พูดเรื่องผลกระทบจากชาวจีน เธอบอกว่าเมื่อผู้ผลิตตัวจริงเอาของเข้ามาขายเอง ก็ยากที่พวกเราจะเอาชนะในเรื่องของราคา

“ราคาต่างกัน 50-60 เปอร์เซ็นต์ ต่อให้เราเอากำไรน้อย ก็สู้เจ้าของมาเองไม่ได้”

สุภาพรรณ ทายาทร้านผ้าที่เปิดมาเกือบ 50 ปี เล่าว่า จีนเข้ามาพร้อมกับสินค้าและต้นทุนที่ถูกว่า แม้คุณภาพจะสู้ไทยไม่ได้ แต่ก็สามารถดึงดูดใจกลุ่มลูกค้าที่เน้นความประหยัด

“บริษัทหลายแห่งเลือกซื้อผ้าของเราไปตัดยูนิฟอร์มพนักงาน เฉลี่ยตัวละ 400-500 บาท แต่ไปเลือกของจีนเหลือตัวละไม่กี่ร้อยบาท ห่างกันไม่ต่ำกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์”

เธอยืนยันว่า 3 ปีหลัง ยอดขายตกลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และต้องปรับตัวด้วยการลดการจ้างพนักงานลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับร้านอื่นๆ

“ไม่ได้ไล่ออก แต่ใครออกก็ไม่จ้างใหม่แล้ว” สุภาพรรณ ยิ้มให้กับความเปลี่ยนแปลง

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ของสำเพ็งล่าสุด พื้นที่การค้าชื่อดังที่กำลังถูกท้าทายด้วยหลากหลายปัญหา


สำเพ็งสำเพ็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog