ไม่พบผลการค้นหา
รายงานดัชนีชี้วัดความสุขของยูเอ็นระบุ ความสุขของคนในสังคมไทยลดลง ขณะที่ฟินแลนด์ยังคงครองแชมป์ประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก

รายงานดัชนีความสุขโลกของสหประชาชาติประจำปี 2019 ระบุว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และในลำดับ 1 - 10 ของประเทศที่มีความสุขที่้สุดในโลกนั้นเป็นประเทศจากกลุ่มสแกนดิเนเวียและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลียต่างก็ติดอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีความสุขที่สุดเช่นกัน

สหประชาชาติใช้ดัชนี้ชี้วัด 6 ข้อสำคัญในการจัดอันดับความสุข คือ รายได้, เสรีภาพ, ความเชื่อมั่น, การได้รับการสนับสนุนจากสังคม, ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสุขภาพของประชาชน

รายงานระบุว่า แม้ว่าฟินแลนด์จะมีฤดูหนาวที่มืดมนและยาวนาน แต่ความสุขที่เพิ่มขึ้นของประชากรในฟินแลนด์นั้นมาจากการสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการพื้นฐานในการดำรงชีวิตจากภาครัฐ ทั้งสิทธิการเข้าถึงธรรมชาติ ความปลอดภัยจากรัฐ การศึกษาฟรี การมีศูนย์เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงการสนับสนุนการรักษาสุขภาพจากภาครัฐในงบประมาณที่สูง

รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่เป็นมหาอำนาจหลายประเทศนั้นประชาชนภายในประเทศต่างมีความสุขลดน้อยลง โดยในปีนี้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนก็ตกจากอันดับที่ 86 ในปีที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 93 ในปีนี้ รัสเซียก็ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 68 จาก 59 ในปี 2018 ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ประชาชนในประเทศต่างมีความสุขลดน้อยลงเช่นกัน โดยปีนี้สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 19 ซึ่งตกลงมาจากอันดับที่ 18 เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่คะแนนด้านเสรีภาพของสหรัฐฯ นั้นอยู่ที่ลำดับที่ 61 และอันดับคอร์รัปชันอยู่ในลำดับที่ 42 

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ดัชนีความสุขของประชาชนในประเทศอยู่ในลำดับที่ 59 ซึ่งลดลงจากปี 2018 ในรายงานยังระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบริจาคเงินหรือสิ่งของให้แก่การกุศลสูงถึง 72.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับ 134 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มสำรวจทั่วโลก แต่ชั่วโมงในการทำงานจิตอาสาของไทยนั้นมีเพียงแค่ 15.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การจัดอันดับดัชนีชี้วัดความสุขนี้ถูกผลักดันโดยประเทศภูฏานเมื่อปี 2011 อย่างไรก็ตาม ในรายงานประจำปี 2019 นี้ ภูฏานได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 95 ซึ่งขยับขึ้นมาจากปีที่ผ่านมา 2 อันดับ จากทั้งหมด 156 ประเทศ

ที่มา Reuters / CNN