ไม่พบผลการค้นหา
วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถูดจุดขึ้นมาอีกครั้งโดยแฟลชม็อบ อีกด้านหนึ่งนักเลือกตั้งที่ประจำการอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ดาวรุ่งแห่งตึกไทยคู่ฟ้าที่นายกฯหยิบชื่อมาใช้เคลียร์ปมร้อนทั้งเกมแก้รัฐธรรมนูญ และ ฟื้นฟูการบินไทย

กมธ.คณะนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อ 'ศึกษา' ปัญหารัฐธรรมนูญ เป็นโมเดลแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในวันข้างหน้า ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา 2 คณะ 

หนึ่ง คณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น มี 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน กมธ.คนที่ 1 รับหน้าที่เป็นประธานอนุฯ

สอง คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มี 'วัฒนา เมืองสุข' อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 

ตั้งกรอบการ "ศึกษากระบวนการ" แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ 6 เดือน แต่ที่เป็นไฮไลต์คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกองคาพยพการเมือง รู้ว่าเป็น "ด่านหิน" เพราะต้องได้รับการยินยอมจากทุกพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่ในสภา รวมถึงต้องใช้เสียงของ ส.ว.มารวมด้วย 

โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 มี 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 ถ้าจะแก้ไข การแก้ไขจะต้องเริ่มจากคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (100 คนขึ้นไป) 

ขั้นที่ 2 ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็น "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" ต่อรัฐสภา (สภาผู้แทนฯ + วุฒิสภา) และให้รัฐสภา พิจารณาเป็น 3 วาระ 

วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา (ส.ส.500 คน + 250 ส.ว. = 750) คือ 376 เสียงขึ้นไป (หากแก้รัฐธรรมนูญใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้ง) ซึ่งในจำนวนนี้ ส.ว.จะต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (84 เสียง) จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา 

วาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ในการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อการพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วันแล้วจึงพิจารณาวาระที่ 3 ต่อไป 

วาระ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 376 เสียง โดยในจํานวนนี้ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มีคนในพรรคเป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาล ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา 

ขั้นที่ 3 ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนายกฯ จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ 

พีระพันธุ์ วัฒนา แก้รัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญ กรรมาธิการ w0717.jpg

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น "ด่านหิน" คณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ชุดที่มี 'ไพบูลย์' เป็นประธาน

ได้สรุป 'ความเห็น' ช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากทั้งตัวแทนฝ่ายค้าน - รัฐบาล ได้สองกลุ่ม คือ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่ การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

และอีกกลุ่มเห็นว่า แก้รายมาตรา โดยเริ่มในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ไม่แตะประเด็นที่จะต้องทำประชามติ คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ คุณสมบัติ - อำนาจองค์กรอิสระ อำนาจศาล

กมธ.แนวทางแก้ไข รธน.

กลุ่มแรกที่เห็นว่าต้องทำประชามติให้มี ส.ส.ร. เช่น 'โภคิน พลกุล' แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า หัวใจของความสำเร็จในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น จะมาจาก

1.ความร่วมมือของทุกฝ่ายในคณะกรรมาธิการเป็นเบื้องต้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคการเมือง

2. แสวงหาความร่วมมือจากพรรคการเมือง รัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้เป็นไปบนทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของสังคม ไม่ใช่ให้ใครได้เปรียบ ต้องมีความเป็นกลาง ดังนั้น ถ้าสามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นรัฐธรรมนูญประชาชนอย่างแท้จริงและเป็น "แผนที่นำทาง" ของทุกฝ่าย บ้านเมืองก็จะมีทางออกร่วมกัน

3.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายประเด็นนั้น ต้องแสวงหาความเห็นพ้องร่วมกัน และสามารถแก้ไขได้โดยอาศัยกลไกตามมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยควรทำคู่ขนานไปกับการแก้ไขมาตรา 256 ให้มีหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่นเดียวกับการแก้ไขมาตรา 211 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

สรุป คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นก็ดำเนินการโดยใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายประเด็นนั้น ก็ดำเนินการโดยรัฐสภาตามกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

'ปิยบุตร แสงกนกกุล' แกนนำคณะก้าวหน้า เห็นว่า จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น และเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นจะต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จในอนาคต คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

ปิยบุตร -9CE5-1078A8EFE5C5.jpeg

'ประยุทธ์ ศิริพานิชย์' จากพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อแก้ไขให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ขณะที่อีกกลุ่มก้อน ที่เห็นว่าควรแก้มาตรา 256 แต่ไม่ควรแตะประเด็นร้อนๆ อย่างปม ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล 

'นิกร จำนง' แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ยังไม่ควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 256 โดยให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ 11 พ.ค. 2567 (ซึ่งเป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล) และควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ประเด็นเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจการกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้ต้องรายงานต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ซึ่งในทางปฏิบัติจริงทำได้ยาก เป็นต้น ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นที่จำเป็นเร่งด่วนนั้น ให้แก้ไขโดยอาศัยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๕๖ ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน โดยให้การแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่จำเป็นเร่งด่วนนี้มีผลทันที

มีหนึ่งเสียง ทศพล เพ็งส้ม จากพรรคพลังประชารัฐ ให้ความเห็นว่าถ้ายังไม่มีความชัดเจนว่าแก้ประเด็นไหนก็ยังไม่ต้องแก้

"เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 แล้ว จะต้องมีกรอบเนื้อหาที่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตรา ซึ่งถ้าหากยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบใดแล้ว ก็เห็นว่ายังไม่ควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256"

ไพบูลย์.jpg

ด้านความเห็นของประธานอนุฯ 'ไพบูลย์' เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการแก้ไขกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น ก็อาจมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากจะต้องทำประชามติหลายครั้ง เสียงบประมาณแผ่นดิน

เป็นจำนวนมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาทแล้วแต่กรณี ซึ่งจะต้องถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การใช้เงินจำนวนดังกล่าว และต้องใช้เวลาในการดำเนินการยาวนาน รวมทั้งการจัดทำประชามติแต่ละครั้งอาจจะผ่านหรือไม่ผ่านซึ่งไม่อาจคาดเดาได้

"จึงเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 บัญญัติไว้เป็นรายมาตรา แต่ควรยกเว้นส่วนที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (ค) ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ จะต้องดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของบทเฉพาะกาล แม้จะเป็นรายมาตราที่ไม่ต้องทำประชามติ แต่เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา ที่มาตามบทเฉพาะกาลซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี จะไม่เห็นชอบญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนบทเฉพาะกาลนั้น"

เป็นข้อสรุปของ อนุฯ ที่จะชงที่ประชุม กมธ.ชุดใหญ่ก่อนนำไปสู่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะส่งต่อไปให้รัฐบาลอีกครั้ง

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง: