ไม่พบผลการค้นหา
ศาลยุติธรรม แถลงผลงานปี 2562 จำนวนคดีสูงสุดยังเป็นคดียาเสพติด มี 363,125 คดี เตรียมนำระบบไบโอเมตริกซ์ หรือ ลักษณะทางชีวภาพ มาใช้ในงานศาล

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2562 ว่า จัดตั้งศาลใหม่ 2 แห่ง ยกฐานะศาลจังหวัด 3 ศาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดีที่มีจำนวนมาก ส่วนภาพรวมคดีความเข้าสู่การพิจารณา สูงสุดยังเป็นคดียาเสพติด 

ส่วนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทั่วประเทศในปี 2562 มีทั้งหมด 1,963,771 คดี ในจำนวนนี้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วร้อยละ 86 ขณะที่สถิติจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุดคือ ความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 363,125 คดี รองลงมาคดีสินเชื่อบุคคล 293,899 คดี และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 213,899 คดี  

นายสราวุธ ยังเปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของคดีจราจร และคดีสินเชื่อ อาจบ่งบอกถึงพฤติกรรมการรักษากฎระเบียบของประชาชน ส่วนคดีสินเชื่อชี้ให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคมได้เช่นกัน แต่แน่นอนว่า คดีที่ยังมีสถิติสูงและเป็นปัญหาใหญ่ คือยาเสพติด นอกจากการพิจารณาดำเนินคดีแล้ว ศาลได้ยกระดับพัฒนาการปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ กำไล EM เพื่อจำกัดพื้นที่ การเดินทางของผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แยกเป็นคดียาเสพติดมากที่สุด 2,332 คดี, ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 1,609 คดี, คดี พ.ร.บ.จราจรทางบก 769 คดี  

และเพื่อให้การพิจารณาคดีสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน และรองรับจำนวนคดีความที่มีจำนวนมาก จึงมีการจัดตั้งศาลใหม่ 2 แห่ง คือศาลแขวงเชียงราย และศาลแขวงบางบอน อีกทั้งเตรียมเปิดตัวอีกแห่งในปีนี้ คือศาลแขวงเชียงดาว กำหนดเปิดศาล 1 เม.ย. นี้ ขณะเดียวกัน มีการยกฐานะ ศาลจังหวัด 3 ศาล ได้แก่ ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดพระโขนง และศาลจังหวัดตลิ่งชัน ให้เป็น ศาลแพ่งตลิ่งชัน ,ศาลอาญาตลิ่งชัน ,ศาลแพ่งมีนบุรี, ศาลอาญามีนบุรี และศาลอาญาพระโขนง ศาลแพ่งพระโขนง ซึ่งทั้งหมดเปิดดำเนินการเมื่อ ส.ค. 2562 เนื่องด้วยตามขอบเขตของศาลจังหวัดจะต้องพิจารณาทั้งคดีแพ่งและอาญาจึงได้ยกฐานะศาลจังหวัดทั้ง 3 แห่ง เป็นเฉพาะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีให้สอดคล้องกับปริมาณคดี ที่ถูกฟ้องเข้ามาเป็นจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว 

ส่วนแผนงานในปี 2563 ศาลยุติธรรมจะพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลผู้ต้องหา กับหน่วยงานอื่น เช่น ระบบไบโอเมตริกซ์ ตรวจสอบใบหน้าบุคคล สแกนลายนิ้วมือ แทนระบบกระดาษแบบเดิม ซึ่งจะช่วยระบุตัวตน การประมวลผลผู้กระทำผิดได้แม่นยำและลดขั้นตอน โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งพ้นโทษถูกปล่อยตัวออกไปแต่ไปกระทำผิดซ้ำ โดยจะมีการหารือร่วมกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อพัฒนาร่วมกันภายในเดือน ก.พ. ให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ และติดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ได้เพิ่มอัตรากำลังตำรวจศาล ส่วนการติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้นในเดือน เม.ย. นี้