ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า ภายในปี 2070 หรืออีก 50 ปีข้างหน้าประชากรโลกกว่า 3,000 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ร้อนเกินกว่ามนุษย์ และพื้นที่มีอากาศร้อนจัดจะขยายพื้นที่ครอบคลุมร้อยละ19 ของพื้นผิวโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร National Academy of Sciences ระบุว่า ในเงื่อนไขที่แย่ที่สุดในการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกนั้น หากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันจะส่งผลให้ภายในปีค.ศ. 2070 ประชากรโลกประมาณ 3,500 ล้านคนจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่มีอากาศที่ร้อนจัดเกินความเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์

และแม้ว่าในเงื่อนไขที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่รุนแรงมากนัก ในงานวิจัยก็ระบุว่า ภายใน 50 ปีประชากรโลก 2,000 - 3,000 ล้านคนก็จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ร้อนที่สุดโดยปราศจากเครื่องปรับอากาศหรือแอร์

ทั้งนี้ในงานวิจัยชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส ประชากรประมาณ 1,000 ล้านคนจะต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยไปหาพื้นที่ที่มีอุณภูมิที่เย็นกว่าอาศัย หรือไม่ก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนจัดเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเทคโนโลยีเป็นตัวผลักดันให้มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นได้

คลื่นความร้อนที่ร้อนจัดจะขยายตัว

ปัจจุบันพื้นที่ที่ร้อนที่สุดอย่างดินแดนซาฮาร่าในทวีปแอฟริกาที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 29 องศาฯและครอบคลุมพื้นที่ 0.8 เปอร์เซ็นของโลก ขณะที่พื้นที่อื่นๆของโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 11 -15 องศาฯ และในบางพื้นที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 20 - 25 องศาฯ อย่างในดินแดนเอเชียใต้

อย่างไรก็ตามในรายงานชี้ว่าภายในปีค.ศ. 2070 พื้นที่ของคลื่นความร้อนที่ร้อนจัดจะขยายตัวครอบคลุมถึง 19 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลกโดยภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบนั้นรวมไปถึงดินแดนซับซาฮาร่า ทวีปอเมริกาใต้ ประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบสมุทรอาหรับและทวีปออสเตรเลีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วจะเกิดคลื่นความร้อนในระดับที่อันตรายกับการอยู่อาศัยในทุกๆปี

ทางด้านเมืองอย่างลอสแองเจลิส และปารีสจะมีอุณหภูมิเดียวกับทะเลทราย ขณะที่บางเมืองในทวีปอเมริกาเหนือและในยุโรปที่ปัจจุบันมีอุณหภูมิที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย (ประมาณ 17-20 องศาเซลเซียส) ก็จะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเทียบเท่ากับอุณหภูมิทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาในช่วงปลายศตวรรษนี้

รายงานของ UN ระบุว่า ภายในปีค.ศ. 2100 อุณภูมิโลกจะร้อนขึ้น 3 องศาฯ แต่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า เพราะในส่วนของพื้นดินของโลกมีอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่สูงขึ้นเร็วกว่ามหาสมุทร จึงทำให้อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นถึง 7.5 องศาในปีค.ศ. 2070 

มาร์เท่น เชฟเฟอร์ นักนิเวศวิทยา หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า ‘หากคุณมีเงินมากพอ ก็สามารถย้ายไปอยู่บนดวงจันทร์ได้ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้กับคนยากจนและประชากรโลกทั่วๆไป’

ที่มา CNN / VOA / inside climate news