ไม่พบผลการค้นหา
"ปณิธาน" ชี้แจงนิสิต 86 คนลงชื่อถอดถอนจากเป็นผู้สอน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยืนยันทำทุกขั้นตอนโปร่งใส ชี้ระเบียบการสอนวิชาของตนได้ตกลงกันในคาบเรียนวันแรกแล้ว

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังมีข่าวว่าถูกนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงชื่อถอดถอนจากการเป็นผู้สอนวิชาการต่างประเทศของไทยในการเมืองโลกสมัยใหม่ ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

ตามที่มีนิสิตบางคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนของตนในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้น

ตนได้ชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้วส่วนหนึ่งตั้งแต่แรกเมื่อได้รับทราบ แต่ปรากฏว่ามีนิสิตบางคน ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือไม่สบายใจบางประการอยู่ และได้สื่อสารข้อสงสัยดังกล่าว 4 ข้อผ่านสาธารณะไปเมื่อเร็วๆ นี้

ตนจึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมต่อข้อสงสัยที่ได้ตั้งขึ้นมา ดังนี้

ข้อสงสัยที่ 1 ผู้สอนได้แต่งตั้งนิสิตผู้ช่วยสอนซึ่งเป็นนิสิตจากในชั้นเรียน โดยวิธีการประกาศรับสมัครในขั้นต้นเพียงไม่กี่คน การใช้นิสิตในชั้นเรียนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นการใช้งานที่ไม่ควรอย่างยิ่งเพราะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในเรื่องการให้คะแนน ความไม่เป็นกลางต่อนิสิตในชั้นเรียนคนอื่นๆ รวมถึงอภิสิทธิ์ของผู้ช่วยสอน เช่น ได้เห็นผลการประเมินที่คนอื่นในชั้นเรียนไม่เห็น การใช้งานผู้ช่วยสอนที่เป็นนิสิตในชั้นเรียนยังเป็นการเพิ่มภาระให้นิสิตโดยไม่จำเป็น

ตอบ: วิชานี้มี "นิสิตผู้ช่วยสอน" ระดับนิสิตปริญญาเอกที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐศาสตร์อย่างเป็นทางการ 1 คนอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่นิสิตในชั้นเรียนตามที่อ้าง โดยนิสิตผู้ช่วยสอนดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและข้อบังคับโดยเรียบร้อย 

ส่วนการมี "นิสิตอาสาสมัคร" มาช่วยประสานงานในวิชานี้ ซึ่งมีนิสิตลงทะเบียนเรียนจำนวน 269 คนนั้น มาจากการประกาศและรับสมัครอย่างโปร่งใสในระบบออนไลน์ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเรียนการสอน และได้มีการลงคะแนนเลือกตัวแทนของนิสิตจาก 4 ภาควิชา คือ ภาควิชาการปกครอง ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 10 คน ด้วยความสมัครใจระหว่างนิสิตด้วยกันเองในคาบวิชาแรกที่มีการเรียนการสอนในห้อง ซึ่งนิสิตที่ไม่ได้มาเรียนและออกเสียงในคาบวิชาแรกนั้น จะเสียโอกาสในการมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการเรียนการสอน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของตนตลอดเวลามากกว่า 30 ปี ในการสอน รวมทั้งที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศหรือกว่า 27 ปีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ในการประสานงานของนิสิตทั้ง 10 คนนี้ คือการช่วยประสานงานให้นิสิตทุกคนที่เรียนวิชานี้ได้รับความสะดวก เช่น ช่วยนัดหมายกับผู้สอน ช่วยประสานงานเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ช่วยเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชา และที่สำคัญก็คือช่วยให้นิสิตทั้ง 269 คน ได้เตรียมโครงงานและพบกับผู้สอนหลายครั้ง เพื่อการนำเสนอโครงงานในรูปแบบวิดีทัศน์ในช่วงปลายภาคเรียน ซึ่งรวมทั้งการประสานให้ผู้เชี่ยวชาญจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มานำเสนอเทคนิคการทำวีดีทัศน์ที่คณะหลายครั้ง ซึ่งตนก็อยู่ร่วมรับฟังด้วย

ดังนั้น นิสิตทั้ง 10 คนนี้ จึงมีจิตอาสาที่จะทำงานให้ส่วนรวม เสียสละเวลาบางส่วนนอกเหนือเวลาเรียน และยินดีที่จะเข้ารับการประเมินผลเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งจากการอาสามาทำงานให้กับเพื่อนๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเห็นผลการประเมินของผู้อื่นในชั้นเรียน หรือไม่เป็นกลาง หรือมีอภิสิทธิ์อื่นใดอย่างที่นิสิตบางท่านเข้าใจผิด ในความเป็นจริงแล้ว ตนต้องขอขอบคุณนิสิตทั้ง 10 คนมา ณ ที่นี้ด้วย และต้องขออภัยแทนเพื่อนบางคนที่เข้าใจผิด และอาจจะคิดหรือทำอะไรให้ทั้ง 10 คนนี้เสียชื่อเสียงได้

ข้อสงสัยที่ 2 ผู้สอนมีกิริยาท่าทางในลักษณะข่มขู่คุกคามนิสิตในชั้นเรียน รวมถึงพูดจาไม่เหมาะสม เช่น ยื่นไมโครโฟนถามเรื่องส่วนตัวของนิสิต, ชี้นิ้วสั่งให้นิสิตย้ายที่นั่งด้วยเหตุผลที่ไม่จำเป็น, อวดอ้างตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง เช่น บอกว่ามีตำแหน่งหน้าที่ระดับประเทศที่สามารถล้วงข้อมูลส่วนตัวทางไซเบอร์ของนิสิตได้, ต่อว่านิสิตที่คิดเห็นต่างว่าเพี้ยน เลอะเลือน, กล่าวถ้อยคำที่มีนัยเหยียดเพศ เช่น ผู้ชายควรอยู่ตำแหน่งนี้ของกลุ่ม ผู้หญิงควรอยู่อีกตำแหน่งของกลุ่ม ฯลฯ

ตอบ: การถามคำถามแบบระบุตัวนิสิตก็เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการเรียนการสอน ถ้านิสิตบางคนรู้สึกว่าถูกคุกคาม ตนก็จะรับไว้พิจารณา ส่วนการขอให้นิสิตมาตรงเวลาและนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในชั้นเรียนตั้งแต่คาบแรก ส่วนคนที่ไม่ได้มาเรียนและไม่ได้ลงคะแนนสำหรับข้อตกลงต่างๆ นั้น ก็อาจจะไม่ทราบในเรื่องนี้

ส่วนการแนะนำตัวของผู้สอนนั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตนก็ทำในช่วงแรกของการเรียนการสอนเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำ และปรากฏว่ามีนิสิตที่เมื่อเรียนจบวิชาไปแล้ว ยังไม่ทราบแม้แต่ชื่อผู้สอนเลยก็มี

ในวิชานี้ มีการห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารในห้องเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้วย เป็นข้อตกลงกันในชั้นเรียนตั้งแต่แรกเช่นกัน ส่วนที่บอกว่าตนมีตำแหน่งหน้าที่ระดับประเทศที่สามารถล้วงข้อมูลส่วนตัวทางไซเบอร์ของนิสิตได้นั้น ตนมิได้กล่าวอ้างเช่นนั้น เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าในบริบทของโลกสมัยใหม่ ข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในระบบออนไลน์นั้น ไม่สามารลบออกได้ และใครๆ ก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ 

ในเรื่องต่อว่านิสิตที่เห็นต่างนั้น ไม่จริง โดยเฉพาะการใช้คำพูดที่ไม่ดี หรือไม่ให้เกียรตินิสิต ตนเปิดโอกาสและยินดีที่จะให้นิสิตมีส่วนร่วมในชั้นเรียนอยู่เสมอ หลายครั้งก็ต้องเรียกให้นิสิตแสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนกันในชั้น อย่างที่นิสิตหลายคนบ่น แต่ในส่วนตัวนั้น ชอบที่จะฟังความเห็นต่างและแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกันกับคนรุ่นใหม่ แต่ในการแลกเปลี่ยนดังกล่าวนั้น ก็ย่อมจะต้องมีการเห็นพ้องและเห็นต่างบ้างตามปกติ

ส่วนเรื่องการกำหนดว่านิสิตแต่ละกลุ่มทั้ง 16 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 16-17 คนที่จะต้องทำโครงงานนั้น จะต้องมาจากทั้ง 4 ภาควิชา รวมทั้งจะต้องมีทุกเพศ และตามเพศสภาพนั้น ก็เป็นข้อตกลงตั้งแต่แรกอีกเช่นกัน 

ทั้งหมดเหล่านี้ หากนิสิตคนใดเข้าใจเจตนาของตนผิดไป ตนก็เสียใจ

ข้อสงสัยที่ 3 ผู้สอนไม่ตรงต่อเวลาอยู่เสมอ ในชั้นเรียน ผู้สอนนัดหมายนิสิตเข้าชั้นเรียน 13.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ช้ากว่าเวลาเรียนปกติ 30 นาที และผู้สอนก็ยังคงมาสายกว่าเวลาดังกล่าว ผู้สอนมักจะนัดหมายให้นิสิตไปพูดคุยเพื่อปรึกษางานหลังเลิกเรียนซึ่งผู้สอนก็มักไม่ตรงเวลานัดกับนิสิต ทำให้นิสิตต้องรอคอยเป็นเวลานาน

ตอบ: ไม่จริงการนัดหมายให้นิสิตทั้ง 269 คนมาเข้าชั้นเรียนในเวลา 13.30 น.นั้น มาจากข้อเสนอของนิสิต และได้มีการออกเสียงลงคะแนนกันในชั้นเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคาบเรียนแรกด้วย เหตุผลก็คือมีนิสิตหลายคนไปเรียนที่คณะอื่นๆ ในช่วงเช้า ซึ่งอยู่ห่างจากคณะของเราพอสมควร และจะต้องรอรถบัสของมหาวิทยาลัย เพื่อกลับมาคณะและยังจะต้องมาเข้าแถวเพื่อรอขึ้นลิฟต์ไปที่ห้องเรียนของเราที่ชั้น 13 ซึ่งนิสิตแจ้งว่าจะไม่ทันเวลา 13.00 น. จึงเป็นที่มาของข้อเสนอของนิสิตในเรื่องนี้ และก็ได้ปฏิบัติกันมาแบบนี้มาทุกปีครับ โดยมีการทดเวลาด้วยการไม่มีพักระหว่างสอน

ส่วนเวลาการเริ่มสอนก็เป็นไปตามข้อตกลงเช่นกัน คือตนจะมารอนิสิตและเตรียมสอนอยู่ในห้องทำงานที่ภาควิชาฯ ตั้งแต่ช่วงก่อนเที่ยงในวันที่มีการเรียนการสอน ในขณะที่นิสิตผู้ประสานงานทั้ง 10 คนจะแบ่งหน้าที่กัน เพื่อเตรียมความเรียบร้อยต่างๆ ในห้องเรียนและอื่นๆ เมื่อเพื่อนๆ พร้อมแล้ว ก็จะแจ้งให้ตนทราบเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งมีข้อตกลงกันว่าจะปิดประตูไม่ให้ใครเข้าออกห้องเรียนอีกหลังเวลา 13.45 น.ยกเว้นจะมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ

ส่วนการนัดปรึกษานั้น นิสิตช่วยประสานงานทั้ง 10 คนก็จะจัดเวลาและควบคุมเวลาในการนัดต่างๆ ซึ่งในบางครั้งนิสิตส่วนใหญ่ที่มาปรึกษาโครงงานนั้น ทำการบ้านมามากและมีประเด็นมาสอบถามหลายประเด็น ทำให้เวลาอาจจะเกินกำหนดของแต่ละกลุ่มไปบ้าง ซึ่งตนก็ได้ให้นิสิตผู้ช่วยประสานงานแจ้งและสอบถามกลุ่มอื่นๆ เพื่อขอเวลาเพิ่มอยู่เสมอ ตนต้องขอขอบคุณนิสิตส่วนใหญ่ที่เข้าใจในเรื่องนี้ และต้องขออภัยหากเรื่องนี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อนิสิตบางคนด้วย

ข้อสงสัยที่ 4 ผู้สอนนำเนื้อหาบางส่วนของหนังสือจำนวนมากมารวมแล้วถ่ายเอกสารประกอบการเรียนการสอน ส่วนการเรียนในชั้นเรียน ผู้สอนอธิบายเนื้อหาเพียงเล็กน้อยวกไปวนมา ไม่เหมาะสมกับระยะเวลา ขาดความละเอียดในการถ่ายทอด ข้อสอบของผู้สอนเป็นข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและแบบเลือกคำตอบถูกและผิด การสอนและออกข้อสอบเช่นนี้เป็นการตีกรอบให้นิสิตและมิได้เสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์และตีความอันเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21

ตอบ: ข้อนี้ยอมรับว่าวิชานี้มีเนื้อหามาก เพราะการต่างประเทศของไทยในการเมืองโลกสมัยใหม่นั้น มีความซับซ้อนและมีงานทางวิชาการหลายหลาก โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดที่ขัดแย้งกันพอสมควร ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและอื่นๆ ดังนั้น วิชานี้ จึงมีเอกสารบังคับที่นิสิตจะต้องอ่านในสองภาษารวม 30 ชิ้น และเอกสารแนะนำให้อ่านอีก 38 ชิ้น สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านการต่างประเทศนัก แต่ทั้งหมดเหล่านี้ นิสิตมีเวลาประมาณ 15-17 สัปดาห์ในการศึกษาและทำความเข้าใจกับเนื้อหา

ในส่วนของเนื้อหาวิชานั้น ครอบคลุมหัวข้อสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. เรื่องประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในอดีต (ซึ่งก็ต้องสอบเก็บคะแนน 1 ครั้ง 30 คะแนน) 2. เรื่องนโยบายการต่างประเทศของไทยและความท้าทายในปัจจุบัน (ก็ต้องสอบเก็บคะแนนกันอีก 1 ครั้ง 30 คะแนน) และ 3. เรื่องทิศทางและแนวทางการแก้ปัญหาในการต่างประเทศของไทยในอนาคต ซึ่งในส่วนนี้ นิสิตทั้ง 16 กลุ่มจะต้องนำเสนอในรูปแบบวีดีทัศน์ 40 คะแนน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงการต่างประเทศ จากสื่อสารมวลชน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ 4-5 ท่านมารับชมและให้ความเห็นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ตนได้นำความเห็นไปประกอบการประเมินและให้คะแนน (รายละเอียดอยู่ในประมวลรายวิชา 14 หน้าที่ได้แจกจ่ายให้นิสิตในคาบแรก) 

ส่วนการบรรยายของตนทุกครั้ง ก็จะเป็นการเน้นสรุปประเด็นที่ซับซ้อนให้ง่ายต่อความเข้าใจด้วย PowerPoint ทุกครั้ง โดยถือว่านิสิตทุกคนได้อ่านเอกสารบังคับอ่านมาเป็นอย่างดีแล้ว อีกทั้งตนยังได้เน้นแทบทุกครั้งว่า ในเมื่อเราตกลงกันแล้วด้วยการออกเสียงลงคะแนนว่าจะต้องสอบในรูปแบบข้อสอบปรนัย ซึ่งนิสิตก็ทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า เหมาะกับผู้เรียนจำนวนมากๆ สามารถใช้วัดความรู้พื้นฐานได้ดี และครอบคลุมรายละเอียดหรือเนื้อหาได้มาก ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์ของวิชานี้ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการเรียนวิชาอื่นๆ ที่สูงขึ้น ต่างกับข้อสอบอัตนัย ซึ่งเน้นการวัดเจตคติ ทักษะ หรือความความเห็นส่วนบุคคล เพราะฉะนั้น สิ่งที่นิสิตจะต้องทำเพื่อให้ได้คะแนนดีในวิชานี้ก็คือ ต้องอ่านเอกสารบังคับให้ครบทุกชิ้น และเก็บประเด็นในการบรรยายของตนให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็สรุปให้นิสิตแล้วใน PowerPoint

ทั้งนี้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อนิสิตบางคนที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดในเรื่องข้อสังเกตทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้ เมื่อได้อ่านข้อเท็จจริงนี้แล้ว จะได้เข้าใจและสบายใจขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง