ไม่พบผลการค้นหา
พายุไซโคลนอำพันเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งในอินเดียและบังกลาเทศแล้ว เจ้าหน้าระบุมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 16 ราย บ้านเรือนนับพันหลังเสียหาย ต้องอพยพผู้คนราว 2.4 ล้านคนออกจากพื้นที่เสี่ยง ฟากนักวิทยาศาสตร์ชี้โลกจะเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน

พายุไซโคลนอำพันพัดขึ้นฝั่งทางตะวันออกของอินเดียและบังกลาเทศแล้ววานนี้ (20 พ.ค.) ทางการอินเดียรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 16 ราย และบ้านเรือนประชาชนหลายพันหลังเสียหายจากพายุ รวมถึงไฟฟ้าและทางสัญจรถูกตัดขาด

มามาทา เบเนร์จี หัวหน้าคณะรัฐบาลของรัฐเบงกอลตะวันตกกล่าวว่า ภัยพิบัติในครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 และทางภาคใต้ของรัฐเบงกอลได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งทางการอินเดียอาจจะต้องใช้เวลา 3-4 วันในการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของรัฐเบงกอลยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตจากพายุลูกนี้แล้วอย่างน้อย 12 ราย ขณะที่ในบังกลาเทศมีรายงานผู้เสียชีวิตจากพายุแล้วอย่างน้อย 4 ราย

พายุโซโคลนอำพันทำให้ทางการอินเดียและบังกลาเทศต้องอพยพประชาชนประมาณ 2.4 ล้านคน ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังที่พักอาศัยชั่วคราวมากกว่า 15,000 แห่ง รวมถึงการอพยพโยกย้ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะของอ่าวเบงกอลด้วยเช่นกัน

พายุไซโคลนอำพันเป็นพายุในระดับ 'ซูเปอร์ไซโคลน' ลูกที่ 2 ที่มีการบันทึกการเกิดไซโคลนในมหาสมุทรอินเดีย โดยระดับความรุนแรงนี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดคือ พายุโซโคลนโอดิชาในปี 2542

ทางด้านนักวิทยาศาสตร์ชี้อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดพายุระดับรุนแรงเหมือนไซโคลนอำพันมากขึ้น

ศาสตราจารย์มาร์ค ฮาวเดน ผู้อำนวยการสถาบันภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่า ปัจจัยด้านภูมิอากาศเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพายุ ซึ่งอุณหภูมิพื้นผิวของน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อความรุนแรงของพายุรวมไปถึงจำนวนของพายุที่เกิดขึ้นด้วย

ขณะที่รายงานชิ้นใหม่ของสมาคมอุตุนิยมวิทยาอเมริกันระบุว่า ในพื้นที่บริเวณมหาสมุทรอินเดียจะเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณมรสุมบ่อยครั้งมากกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะโลกร้อนและมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ชายฝั่งที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาเกี่ยวข้องทั้งพายุไซโคลนและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณมหาสมุทรอินเดียเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติในระดับรุนแรง

ที่มา CNA / CNN / Aljazeera