ไม่พบผลการค้นหา
สส.หลายพรรคประสานเสียงร้องให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณให้กับกสศ. เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริงและครอบคลุมทุกมิติ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีวาระรับทราบรายงานประจำปี 2561 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายประเด็นที่กสศ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจงานที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กองทุนกสศ. ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจ และวัตถุประสงค์ของกสศ. ทำอย่างไรให้กสศ.แก้ปัญหาให้ได้ตรงเป้าให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่ดี แต่ตอนนี้จัดสรรนักเรียนยากจนพิเศษ 5 แสนราย เงินอุดหนุน 1,600 บาทต่อปี หรือวันละ 4.50 บาท เงินจำนวนเท่านี้จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ไหม หรือช่วยเหลือเด็กนักเรียน 5 แสนคน เท่านี้เงินก็หมดกองทุน แล้วจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร 

“ตนเป็นอนุกรรมาธิการกองทุนและองค์กรมหาชน พบว่ามีหลายกองทุนที่มีเงินมากมายมหาศาล เช่น กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บางกองทุนมีเงินเป็นหมื่นล้าน พันล้าน เอาเงินไปใช้สะเปะสะปะในขณะที่กองทุนกสศ.สามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสจริงแต่กลับได้รับงบประมาณน้อยมาก นี่คือความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การบริหารกองทุน ควรนำเงินเหล่านั้นมาแบ่งให้กองทุนนี้” นายอัครเดช กล่าว 

ด้านนางสาววรรณวรี ตะล่อมสิน พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า อ่านรายงานประจำปีแล้วมีความหวังกับประเทศนี้ว่าเป็นกองทุนลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง แต่พออ่านจบความหวังริบหรี่ เพราะกสศ.ได้รับงบประมาณน้อย กสศ. เป็นกองทุนที่ดีมาก เสียดายได้รับจัดสรรงบไม่เพียงพอ ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีได้ยินเสียงนี้ อยากให้ช่วยจัดสรรงบเพียงพอตามที่กองทุนนี้ต้องการ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กองทุนบรรลุเป้าหมาย ประเทศนี้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี แต่การลดความเหลื่อมล้ำยังช่วยเติมความฝันเด็กนักเรียนในประเทศไทย เติมความฝันพ่อแม่ ท่านนายกฯที่เป็นคุณพ่อน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ 

นางสาววรรณวรี กล่าวว่า ทั้งนี้ขอให้กองทุนจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยมากกว่านี้จากเดิมงบประมาณ 115 ล้านบาท และควรเพิ่มพื้นที่กทม.ให้เป็นจังหวัดที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ พ่อแม่ส่วนใหญ่ในกทม. มีอาชีพใช้แรงงาน พนักงานบริษัทระดับล่าง ต้องฝากลูก ไว้กับปู่ย่าตายายต่างจังหวัด ถ้ากทม.มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องมีความกังวล จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะสิ่งที่พ่อแม่ต้องการง่ายมาก คืออยู่กับลูก เห็นพัฒนาการทุกวัน

“ขณะนี้ยังมีปัญหาความด้อยคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กทม.เช่น เขตบางคอแหลม ซึ่งเป็นเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน สถานที่ไม่สะอาดไม่ปลอดภัย ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่เหมาะสมกับเด็ก ยังมีปัญหาเรื่องค่าแรงของบุคลากรที่ได้รับ จำนวนครูต่อนร.ไม่พอ งบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอให้ของที่ไม่ได้ต้องการ เช่น ได้สีน้ำมันสำหรับทากำแพง ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ถ้ามีทางเลือกใครจะฝากชีวิตลูกไว้ในศูนย์แบบนี้” นส.วรรณวรี ระบุ

ขณะที่ นายกนก วงศ์ตระหง่าน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ทำไมต้องมี กสศ.เพราะระบบการศึกษาปกติในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของ กสศ. ที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการศึกษา โดยทำเรื่องสำคัญ 2 ส่วนคือ 1.ประคองสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำการศึกษา และ2.วิจัยในเชิงปฏิบัติการการยกระดับการศึกษา อย่าง 7 โครงการของกสศ.ทำเป็นแนวคิดที่ดี เช่นการใช้เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ทั้งยังเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีที่ได้รางวัลโนเบล ไม่ใช่แค่ใช้กับนักเรียน แต่ควรใช้กับครูด้วยเช่นกัน

นายกนก กล่าวว่า อยากให้มีการคิดวิธีการสอนนักเรียนยากจนพิเศษ ว่าจะสอนอย่างไรให้เขารู้เรื่องเพราะเขาไม่พร้อม ตอนเช้าไม่มีอาหารเช้า ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ตรงนี้เราต้องการคำตอบ นอกจากนี้ยังอยากได้เครื่องมือการสอนเด็กที่ไม่มีความพร้อมทางวิชาการ เชื่อว่า กสศ.ได้ประสบการณ์และบทเรียนในการแก้ปัญหาต่างๆ มาแล้ว และสามารถถอดบทเรียนจากหน่วยงานที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ รวมถึงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนขนาดเล็ก จะมีมาตรการวิธีการอย่างไรที่จะเข้าไปฉีดวัคซีน และไม่ยอมให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กแต่ควรมีการสื่อสารกับกระทรวงศึกษาธิการให้ชัดเจน รวมถึงเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมี 3 ด้าน 1.สติปัญญา 2.บุคลิกภาพ และ3.อารมณ์ เรื่องการใช้ชุมชนเป็นฐานในการทำงานซึ่งเป็นการตรงเข้าไปหาประชาชน และเรื่องการแก้ไขปัญหาทางการศึกษาเชิงพื้นที่ ทั้งหมดขอให้นำเรื่องเหล่านี้ไปหารือกับ สพฐ.เพราะแนวคิดทั้งหมดไม่เคยเข้าไปใน สพฐ.

“แต่ในขณะที่ กสศ.พยายามดึงนักเรียนยากจนเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ทาง สพฐ.กำลังผลักเด็กออกจากระบบการศึกษา สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่คือปัญหา ทางกสศ. กรุณาอย่าสุภาพเกินไป ต้องลุกขึ้นมาพูดเสียงดังว่าต้องการเปลี่ยนแปลง”นายกนก กล่าว 

ด้าน นพ.สุภภร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ที่ชี้ว่าจุดอ่อนมากที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศคือความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคโดยมีข้อเสนอรัฐบาล 2 เรื่อง คือ การจัดตั้งกสศ.เพื่อเป็นกลไกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และถ้าจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มเติมเท่าไหร่ ซึ่งไม่ใช่เพิ่มเติมที่ใดก็ได้ ต้องชี้เป้าให้ถูก ทางคณะกรรมการอิสระได้เสนอว่าควรจะใช้งบประมาณ 5 % ของงบประมาณด้านการศึกษาปัจจุบันจนเป็นที่มางบที่ตั้งไว้ 25,000 ล้านบาทต่อปี 

“อย่างไรก็ตามจำนวนงบประมาณเป็นคำตอบแค่ครึ่งเดียว ไม่สำคัญเท่ากับเงินจำนวนนี้ไปเติมที่จุดไหน ไม่จำเป็นต้องเข้าที่กสศ.ทั้งหมด เข้ามาเป็นส่วนน้อยก็ได้ โดยมีข้อแม้ 2 ข้อ คือเน้นเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะไม่ใช่จับจ่ายเหมือนงบปกติหลายแสนล้าน และต้องเติมงบประมาณให้ผูกกับผู้เรียน เป็นดีมานด์ไซด์ไฟแนนซิ่งโดยมีเงื่อนไขต้องเปลี่ยนผู้เรียนให้ได้ ไม่ได้เติมไปในระบบราชการปกติที่เป็นฝั่งซัพพลายไซด์” นพ.สุภกร กล่าว

นพ.สุภกร กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของกสศ.ตามมาตรา5เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงวัยเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ ไปจนถึงทรัพยากรมนุษย์ที่พ้นวัยเรียนแล้ว รวมทั้งหมด ประมาณ 4 ล้านคน แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ทำให้ต้องหาวิธีการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด บอร์ดของกสศ.ไม่ได้คิดเรียกร้องเงินจำนวนมาก โดยทางกสศ.ได้ศึกษางานขององค์กรวิจัยระดับโลก ล่าสุดศึกษาจากผู้ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ ปี 2562 ว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เงินคุ้มค่าเกิดผลกระทบกว้าง และในเร็วๆนี้จะมีนักวิจัยเจ้าของรางวัลโนเบลมาช่วยกสศ.ทำงานว่าจะทำอย่างไรให้เงินที่ได้รับคุ้มค่ามากที่สุด ที่สำคัญกสศ.ใช้งานวิจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่มุ่งเน้นการวิจัยตีพิมพ์ เพราะถ้าจะทุ่มงบให้ประชาชนทุนคนต้องใช้งบประมาณหลายสิบเท่าที่ได้รับในปัจจุบัน หน้าที่กสศ.จึงต้องชี้เป้าหมายว่าถ้าจะปฏิรูปประเทศลดเหลื่อมล้ำการศึกษาจะใช้แบบใดถึงสำเร็จ

นพ.สุภกร กล่าวว่า ส่วนเรื่องการประเมินผล เช่นโครงเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ซึ่งในปี 2561 ครอบคลุมงบกว่า 90% ปี 62 ครอบคลุมงบประมาณ 70% ซึ่งกสศ.วางระบบประเมินไว้จากฐานงานวิจัย 4โครงการ 1.ธนาคารโลก ซึ่งได้ประเมินว่าระบบมาตรการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข (CCT) จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งกสศ.ใช้แนวทางนี้ในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ ว่าเมื่อรับเงินอุดหนุนแล้วต้องมาโรงเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ80 2.วิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ว่าควรเติมงบประมาณให้กับเด็กกลุ่มนี้เท่าไหร่ 3.การวิจัยปฏิรูประบบการคัดกรองความยากจน สามารถชี้วัดดัชนีความยากจนตั้งแต่จนน้อยสุดถึงจนมากสุด ซึ่งนักเรียนที่มารับทุนต้องมีความยากจนร้อยเปอร์เซ็นต์ และ4.การวิจัยด้วยระบบสารสนเทศ ซึ่งแอปพลิเคชั่นในการติดตามประเมินผล จะตามดูเรื่องผลการเรียน อัตราการเจริญเติบโต น้ำหนักส่วนสูง ถือเป็น KPI ที่ติดตั้งในระบบของกสศ. อีกทั้งข้อมูลการช่วยเหลือเด็กยังสามารถส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มอนิเตอร์น้ำหนักส่วนสูง ส่งต่อให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องพัฒนาการด้านสุขภาพ ว่าสอดคล้องกับงบประมาณที่สนับสนุนไปหรือไม่ และระบบยังสามารถส่ง SMS ไปถึงผู้ปกครองได้ กรณีเกิดเหตุผิดปกติเช่น การขาดเรียน เป็นต้น ทำให้ครอบครัวมีส่วนดูแลบุตรหลานได้ และสุดท้ายยังสามารถตรวจสอบว่าได้รับทุนตรงตามเวลาและครบถ้วนหรือไม่

“กสศ.เน้นเรื่องคุณภาพไม่เน้นเรื่องปริมาณอย่างทุนสายอาชีพเราช่วยได้เพียงรุ่นละ 1% ของเด็กรุ่นเดียวกันที่มีความยากจน ถ้าไม่เน้นคุณภาพอาจต้องใช้เงินจำนวนมากและอาจไม่ได้ผล นอกจากนี้โครงการต่างๆของกสศ.จะเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะว่าการจัดงบประมาณอาจเสียเงินไป ดังนั้นการคิดโครงการแต่ละอย่างต้องตกผลึกและทำได้จริงไม่เป็นสเกลใหญ่” นพ.สุภกร กล่าว