ไม่พบผลการค้นหา
นอกเหนือจากคำอธิบายของจีนเรื่อง “เพื่อนในยามทุกข์ยาก คือเพื่อนแท้” ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิตาลียังมี 'ผลประโยชน์ที่ดีต่อกัน' เป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า

อิตาลีเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่จีนส่งความช่วยเหลือในการสู้กับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ทั้งการให้เวชภัณฑ์ ให้อุปกรณ์การแพทย์ รวมน้ำหนักบรรทุก 31 ตัน และส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ พร้อมด้วยทีมล่ามภาษาอิตาลี ในเดือนมีนาคมถึง 2 ทีม

ทั้งนี้ แม้ว่าจีนจะส่งความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ให้กับมิตรประเทศของจีนหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในขณะนี้มีเพียง 2 ประเทศในโลกเท่านั้นที่จีนจัดส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดไปช่วยเหลือ คือ อิหร่าน กับ อิตาลี

จีนประกาศว่าเหตุผลที่ช่วยเหลืออิหร่านอย่างทุ่มเทก็เพราะอิหร่านเป็นพันธมิตรสำคัญที่ยากจะหาประเทศอื่นใดเสมอเหมือน

ส่วนเหตุผลที่จีนประกาศว่าช่วยเหลืออิตาลีอย่างทุ่มเทนั้น จีนอธิบายว่าเพราะจีนจดจำถึงน้ำใจของอิตาลีที่เคยส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือจีนเมื่อครั้งที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่มณฑลเสฉวนของจีนในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งได้ช่วยชีวิตชาวจีนไว้ถึง 900 ราย โดยสถานทูตจีนประจำอิตาลีได้โพสต์ภาพทีมแพทย์อิตาลีเมื่อครั้งนั้น พร้อมทั้งข้อความภาษาอิตาเลียนว่า “เพื่อนในยามทุกข์ยาก คือเพื่อนแท้”

อย่างไรก็ดี ทีมแพทย์ที่ส่งไปช่วยเหลือชาวจีนในเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่มณฑลเสฉวนคราวนั้น มี 11 ทีม จาก ฮ่องกง มาเก๊า รัสเซีย คิวบา เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และ อิตาลี โดยทีมแพทย์ที่อยู่ช่วยเหลือยาวนานที่สุดหนักที่สุด คือทีมแพทย์จากเยอรมนี ซึ่งทำหน้าที่แพทย์สนามนาน 21 วัน

unsplash-แผนที่ ระบาด โควิด-19 วัดไข้-ไวรัสโคโรนา-อุณหภูมิร่างกาย-เทอร์โมมิเตอร์.jpg

ในปัจจุบัน ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐฯ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และอิตาลี ต่างก็เผชิญกับวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด แต่จีนเลือกที่จะให้ความช่วยเหลือในระดับที่ต่างกัน คือ ส่วนใหญ่จีนช่วยโดยให้ 'ของ' ไม่ให้ 'คน' มีเพียง 'อิตาลี' ที่จีนช่วยโดยให้ทั้ง 'ของ' ทั้ง 'คน'

ทั้งนี้ นอกเหนือจากคำอธิบายของจีนเรื่อง “เพื่อนในยามทุกข์ยาก คือเพื่อนแท้” ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิตาลีและผลประโยชน์ที่มีต่อกัน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มีน้ำหนักมากกว่า

ด้านการค้า อิตาลีเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน ในสหภาพยุโรปรองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส อิตาลีเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนมากเป็นอันดับที่ 3 ในสหภาพยุโรปรองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส และเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าไปจีนมากเป็นอันดับที่ 4 ในสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ รวมมูลค่าการค้าปีละราว 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

ด้านการลงทุน อิตาลีเป็นประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนมากเป็นอันดับ 3 ในสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส

จีนเริ่มเข้าไปลงทุนในอิตาลีตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยเงินลงทุน 0.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 จีนเพิ่มการลงทุนในอิตาลีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานในอิตาลีเป็นมูลค่า 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 จีนได้ขยายการลงทุนในอิตาลีอย่างมหาศาล เริ่มจาก ChemChina ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐได้เข้าถือครองหุ้นร้อยละ 16.89 ในบริษัท Pirelli ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มูลค่าของหุ้นจำนวนนี้อยู่ที่ 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เอกชนจีนได้เข้าไปลงทุนในอิตาลีในหลายภาคธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม การก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมแฟชั่น โรงแรม โรงภาพยนตร์ การธนาคาร กิจการด้านโทรคมนาคม

อิตาลี จีน.jpg

การลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนั้นทำให้รัฐบาลในขณะนั้นของอิตาลีหวาดระแวงจีน และได้ออกกฎหมายให้ทางการมีอำนาจตรวจสอบธุรกรรมการโอนเงินเข้าออกประเทศของบรรดาบรรษัทข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนในอิตาลี และยังกีดกันบริษัทหัวเว่ยของจีนไม่ให้มีส่วนในการสร้างโครงสร้างระบบ 5G ในอิตาลี สร้างความไม่พอใจให้กับจีนไม่น้อย

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าในเดือนมีนาคม ค.ศ.2018 รัฐบาลเก่าพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เปิดทางให้พรรคไฟว์สตาร์มูฟเมนต์ (Five Star Movement) ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล พรรคนี้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และมีนโยบายชัดแจ้งว่าต้องการจีนเป็นพันธมิตรในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของอิตาลี อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของทั้งสหภาพยุโรป และเป็นผลจากการที่โครงสร้างสังคมของอิตาลีเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคนชรามากกว่าคนวัยทำงาน

ดังนั้น ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2019 เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ รัฐบาลใหม่ของอิตาลีจึงได้ลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับจีนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เป็นการประกาศว่าอิตาลีจะร่วมมือกับจีนเต็มที่ในการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งและการค้า อิตาลีจึงกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 หรือ กลุ่มประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก ที่ลงนามเป็นพันธมิตรกับจีนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

โดยทั้งสองฝ่ายต่างอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์การค้าอันยาวนานที่มีต่อกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ และเชิดชู มาร์โค โปโล (Marco Polo) นักเดินทางและพ่อค้าชาวอิตาลีผู้บันทึกการเดินทางไปจีนจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ว่าเป็นบุคคลสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิตาลี ยิ่งเพิ่มบรรยากาศชวนฝันให้แก่การลงนามมากขึ้นไปอีก

การลงนามครั้งนั้นสร้างความปิติยินดีให้กับจีนอย่างยิ่ง

จีนไม่เพียงตระหนักว่าอิตาลีเป็นพันธมิตรของจีนในการเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังเล็งเห็นความสำคัญของอิตาลีในเชิงการเมืองโลกด้วย เพราะการลงนามครั้งนั้นมันเป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยสำคัญสะท้อนว่า มีประเทศใน G7 และเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ยอมรับบทบาทการเป็นผู้นำของจีนในการสร้างโครงการความร่วมมือซึ่งจะสร้างระเบียบอำนาจใหม่หรือโครงสร้างใหม่ให้แก่ระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก แทนที่ระเบียบอำนาจเก่าหรือโครงสร้างเก่าที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิตาลี จึงมิใช่แค่ “เพื่อนในยามทุกข์ยาก คือเพื่อนแท้” แต่ยังเป็นพันธมิตรที่มีผลประโยชน์ร่วมกันด้วย 

อ่านเพิ่มเติม: