ไม่พบผลการค้นหา
"ศิริกัญญา ตันสกุล" ยก 8 เหตุผล ไม่รับร่าง "พ.ร.บ.งบฯ" พร้อมเสนอ 4 ฐานคิดเป็นทางออก เพิ่มงบลงทุน-โครงการใกล้ตัว-ท้องถิ่นมีอำนาจ-สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า

น.ส.สิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกล่าวว่า โจทย์ประเทศไทยมี 5 โจทย์หลัก พรรคอนาคตใหม่มี 8 เหตุผลไม่รับร่าง และ 4 ข้อเสนอที่เป็นทางออกสำหรับการใช้งบประมาณดังกล่าว โจทย์ของประเทศไทยเวลานี้ คือ 1.วิกฤติเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อฟื้นปากท้องให้กินดีอิ่มนานได้เหมือนเดิม

2.คือระบบราชการรวมศูนย์ที่ไม่สามารถให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้ 

3.คือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องการเจตจำนงค์ทางการเมืองที่มั่นคงเด็ดขาด

4.คือ ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่ต้องเร่งฟื้นฟูและขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

5.คือ รัฐไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่คุ้มค่าและไม่เห็นผลประโยชน์ที่ชัดเจน

จากโจทย์ดังกล่าว นำมาสู่ 8 เหตุผลที่ไม่รับร่าง พ.ร.บ. เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ ได้แก่ 1.ร่างงบประมาณไม่แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจฐานราก สำหรับสิ่งที่รัฐบาลสนใจคือ การเติบโตของ GDP เท่านั้น ซึ่งพูดถึงเฉพาะเรื่องการลงทุนภาครัฐ การบริโภค การส่งออกจะฟื้นตัวขึ้น แต่ GDP ยังประกอบด้วยรายได้ครัวเรือน รายได้ค่าจ้าง รายได้เกษตรกร รายได้จากค่าเช่า รายได้จากกำไร รายได้จากดอกเบี้ย

ดังนั้น GDP โตก็เปรียบเสมือนชิ้นเค้กโตขึ้น แต่ในอีกด้านคือ กลับพบว่า แต่ละคนกลับได้รับชิ้นเค้กที่เล็กลง ซึ่งเมื่อพรรคอนาคตใหม่บอกว่าวิกฤติแล้วก็จะมีนักวิชาการหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกมาบอกว่า ยังไม่วิกฤติ เพราะ GDP ยังโต แต่นั่นเพราะเค้กใหญ่ขึ้นแต่ส่วนแบ่งที่คนในประเทศนี้ได้นั้นเล็กลง ทั้งรายได้ครัวเรือน ภาคเกษตร ค่าจ้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ดีข้อเสนอเรื่องนี้ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การรัดเข็มขัด เพราะการก่อหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเสมอไป ไม่อยากเห็นรัฐบาลมุ่งเน้นวินัยการคลังจนลืมไปว่ายังมีภาคเศรษฐกิจที่ยังต้องการกระตุ้นอยู่ และรัฐบาลยังมีวงเงินที่สามารถกู้ได้อีก 240,000 ล้านบาทตามกรอบวินัยการคลัง แต่การกู้ต้องทำให้เกิดรายได้และมีประสิทธิภาพ

พรรคอนาคตใหม่ขอเสนอการลงทุนที่ไม่ใช่เมกะโปรเจกต์ซึ่งไกลตัว แต่เป็นการลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ เช่น การลงทุนในโรงกำจัดขยะซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มาตรฐานมากถึงร้อยละ 80 หรือรถเมล์ร้อนร้อยละ 80 ที่รอการซ่อมและยังไม่มีกระทั่งรถเมล์แบบนี้ในต่างจังหวัด อาชีวะที่ยังต้องการอัพเกรดเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

งบท้องถิ่นเหมือนถูกโกง 3 เด้ง

เหตุผลที่ 2 รัฐราชการที่รวมศูนย์ งบประมาณที่ท้องถิ่นได้เหมือนโดนโกงถึง 3 เด้ง คือ เด้งแรก กฎหมายระบุเป้าหมายให้โอนรายได้สุทธิร้อยละ 35 ของรัฐบาลไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากปี 2544 ถึงวันนี้ ยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30

เด้งที่สอง คืองบผ่านที่ อปท.ไม่ได้มีอำนาจแม้แต่จะคิดโครงการใดๆ เพียงแค่เป็นที่ผ่านงบประมาณลงไปเท่านั้น งบประมาณประเภทนี้ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ค่าอาหารกลางวันเด็ก เบี้ยคนพิการ ค่าตอบแทน อสม. นมโรงเรียน รวมแล้วเป็นเม็ดเงินถึง 1.3 แสนล้านบาท หมายความว่าถ้าหักงบผ่านเหล่านี้ออกไป อปท.ก็เหลืองบเพียงประมาณร้อยละ 24.7 เท่านั้น  

เด้งที่สาม คือ การประมาณการรายได้ของ อปท. ซึ่งที่มารายได้มาจาก 3 ก้อน ได้แก่ รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง รายได้ที่รัฐแบ่งให้ และส่วนที่เป็นเงินอุดหนุน ซึ่งที่ผ่านมาพลาดเป้าหายไปประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท ในปี 2563 ไม่มีโอกาสที่รายได้จะเพิ่มขึ้น อย่างภาษีที่ดินที่เก็บในอัตราต่ำเตี้ยเรี่ยดินก็ไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ คือได้มาแค่ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น สรุปแล้วกลายเป็น อปท.ได้งบประมาณที่อยู่ในกระเป๋าจริงๆ ไม่ถึงร้อยละ 22 ตกเกณฑ์ขั้นต่ำเป้าหมายตาม พ.ร.บ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจด้วยซ้ำ 

“ในช่วงรัฐบาล คสช. ยังมีการแตกกิ่งก้านสาขาของรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค งบประมาณแทนที่จะยิงตรงไปยัง อปท. กลับเอามาพักไว้ที่จังหวัด งบส่วนนี้เติบโต 1.5 เท่า ถ้าจริงใจในการกระจายอำนาจ ท่านจะไม่ดึงงบกลับมาที่ส่วนภูมิภาคแบบนี้”

เบิกจ่ายไร้ประสิทธิภาพใช้สร้างถนน-หนี้ธกส.

เหตุผลที่ 3 คือการใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ พบว่าตั้งแต่ปี 2558-2562 อัตราการเบิกจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ซึ่งแค่ใช้งบลงทุนให้หมด GDP ก็โตขึ้นแล้ว แต่กลับใช้เหลือถึงร้อยละ 40 ทั้งนี้ หน่วยงานที่เบิกจ่ายได้ต่ำที่สุดคือ กองทัพบก รองลงมาคือสำนักปลัดสาธารณสุขที่ควรจะต้องเบิกจ่ายเพื่อลงทุนสร้างโรงพยาบาลและเครื่องมือแพทย์ รองลงมาเป็น สพฐ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพอากาศ ทั้งนี้ 3 ใน 5 เป็นหน่วยงานที่รับงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพตามนิยามของสำนักงบประมาณ แต่กลับได้งบประมาณเพิ่มขึ้นในปี 2563 จึงถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

เหตุผลที่ 4 ไม่สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการสร้างถนนและใช้หนี้ ธกส. ซึ่งประเด็นไม่ใช่ถนนที่ขาดแต่เป็นการขนส่งสาธารณต่างหากที่ขาด 

งบ 2.5 ล้านล้าน - สภาตรวจไม่ได้

เหตุผลที่ 5 การใช้งบประมาณแบบนี้ข้ามหัวสภา มีหลายรายการที่ใช้วิธีการแบบนี้ 2.5 ล้านล้านบาท คืองบประมาณที่สภาตรวจสอบไม่ได้ ทั้งเงินนอกงบประมาณ กองทุนหมุนเวียน งบกลางสำรองจ่ายฉุกเฉิน ภาระผูกพัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายภาษี เฉพาะภาระผูกพัน จะเห็นว่า อันดับหนึ่ง คือกระทรวงคมนาคม ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถือว่าสมเหตุสมผล อันดับสอง กระทรวงกลาโหม ไม่ทราบว่าต้องผูกพันอะไรไปข้างหน้ามากมายอาจต้องผ่อนจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์

อันดับสามคือ กระทรวงมหาดไทย ประเด็นก็คือ เมื่อกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งมีอำนาจที่จะสร้างงบผูกพันไปได้ก็จะไปเบียดบังโอกาสที่กระทรวงอื่นๆ จะใช้ลงทุนระยะยาวได้ ถ้ากระทรวงเกษตร ต้องการทำเส้นเลือดฝอยเพื่อให้การชลประทานไปสู่หมู่บ้านห่างไกลได้ ถ้าเต็มเพดานขนาดนี้เขาจะทำได้ไหม

เหตุผลที่ 6 พรรคราชการเข้มแข็ง พรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นผลจากการปฏิรูปการเมืองยุค คสช. รัฐธรรมนูญ 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอีกสาระพัดที่ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถทำนโยบายได้ มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่สามารถทำตามนโยบายหาเสียงได้ คือ สวัสดิการเด็ก อสม.และบัตรคนจน

ร่าง พ.ร.บ.ไม่ผ่านอย่าโทษฝ่ายค้าน 

เหตุผลที่ 7 สวัสดิการประชาชนกระพร่องกระแพร่งและแหว่งกลาง สิ่งที่จัดให้คือเด็กจน เรียนฟรีที่ไม่ฟรีจริงซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่เพิ่มเลยตลอดสิบปีที่ผ่านมา เบี้ยคนจน และเบี้ยยังชีพ 600 บาทที่ไม่พอยังชีพ 

เหตุผลที่ 8 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านเป็นความผิดของฝ่ายค้าน จะทำให้ลูกจ้าง ข้าราชการเดือดร้อน ซึ่งตอนนี้มีหลายกระทรวงที่ลูกจ้างกำลังจะถูกลอยแพเพราะงบประมาณที่ใช้ไปพลางก่อนไม่เพียงพอ เรื่องนี้พรรคอนาคตใหม่พูดมาตลอดว่าให้รีบทำเพราะอยากเห็น นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ ก็มาจากหลักเกณฑ์ของ ผอ.สำนักงบฯ เอง ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ.2561 ระบุให้สามารถใช้ของปีที่ผ่านมาไปพลางก่อนได้โดยการอนุมัติของนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีตรงไหนระบุว่าต้องใช้อย่างประหยัด ดังนั้น หากมีปัญหาอย่าโทษฝ่ายค้าน

เสนอ 4 ฐานคิด ทางออก "อนาคตใหม่" 

สำหรับทางออก พรรคอนาคตใหม่ เสนอ 1.ให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุน 2.ปรับจากเมกะโปรเจกต์เป็นการลงทุนเล็กๆ น้อยๆ แต่เพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจปากท้อง 3.เดิมรัฐส่วนกลางเป็นผู้จัดหา ต้องเปลี่ยนให้ท้องถิ่นเป็นผู้ใช้งบประมาณหรือเป็นผู้ลงทุนในเรื่องเหล่านี้ หากยังไม่มั่นใจในท้องถิ่นให้ใช้รูปแบบการเปิดโหวตก็ได้ และ 4.พรรคอนาคตใหม่ยังต้องการเห็นการจัดงบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันด้วย