ไม่พบผลการค้นหา
'บุญเลิศ' อดีต ส.ส.ร. 40 เสียใจ 'คณากร' ผู้พิพากษาฆ่าตัวตาย ขอบคุณที่แสดงความชื่นชม รธน. ฉบับปี40 เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เปิดเผยว่า ขอแสดงความเสียใจมายังภรรยา ลูกและญาติพี่น้องของนายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาที่เสียชีวิตจากการยิงตัวตาย ส่วนจะผิดถูกอย่างไรนั้น ก็สุดแท้แต่สังคมจะใช้วิจารณญาณตามข้อเท็จจริงแห่งการตัดสินใจ นายคณากรได้เขียนบันทึกส่วนตัว เขียนแถลงการณ์ลงในเฟซบุ๊กถึงสภาพปัญหาและเหตุผลต่างๆ รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตกเป็นผู้ต้องหากรณีถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวน และถูกพนักงานสอบสวน ตั้งข้อหาในคดีอาญา

นายบุญเลิศ กล่าวว่า ขอขอบคุณนายคณากร ที่ได้เขียนแสดงความชื่นชมรัฐธรรมนูญ 2540 โดยระบุว่า "ในอดีตที่เราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดยสสร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมา ท่านคงสงสัยว่า ขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เพราะอะไร หรือ ส.ส.ร.รู้ว่า การตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษา"

นายบุญเลิศ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ได้คุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการในฐานะผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี เนื่องด้วยลักษณะการใช้อำนาจดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฉะนั้นเพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถปฏิบัติหน้าที่ ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จำเป็นต้องมีหลักประกันให้ผู้พิพากษามีความอิสระปราศจากการแทรกแซงใดๆ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารหรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการด้วยกันเองซึ่งปรากฎในมาตรา 249 ที่ว่า

"ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 บทบัญญัตินี้ได้ถูกตัดทิ้งไป" นายบุญเลิศ กล่าว

อดีต สส.ร. 2540 กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีการเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย ต้นเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนการเคลื่อนไหว หากเป็นไปได้ควรยึดตามแนวทางที่ 240 เคยจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยผู้ร่างไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนได้เสียกับอำนาจทางการเมือง ที่สำคัญ ประชาชนมีส่วนร่วมร่างอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง