ไม่พบผลการค้นหา
อนาคตใหม่ ตอกกระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งวัตถุประสงค์ผิด และใช้งบประมาณสิ้นเปลืองแต่ไม่ได้ผลต่อการพัฒนาดิจิทัล แนะแก้กฎหมายให้เกิดการแข่งขัน

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในประเด็นของการใช้งบประมาณให้ทันต่อเทคโนโลยี โดยที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,897 ล้านบาท ซึ่งหากตัดกรมอุตุนิยมวิทยาออกไป จะเหลือ 2 ยุทธศาสตร์คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งที่ก่อนหน้านี้กระทรวงของบประมาณไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมีงบประมาณน้อยก็ต้องเล็งให้ตรงเป้าเพื่อนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัลจริงๆ แต่สิ่งที่ตนเห็นคือความซ้ำซ้อนของโครงการ เช่น โครงการ Government Cloud ของกระทรวงและของสำนักนายกฯ, และโครงการ Big Data Platform ของสำนักงานสถิติ กับสำนักนายกรัฐมนตรี 

ซึ่งที่ผ่านมามีบทเรียน "เน็ตประชารัฐ" ที่ซ้ำซ้อนกับโครงการของ กสทช. โครงการเน็ตประชารัฐในต้นทุนมากกว่าจุดละ 1 แสนบาทและมีสัญญาบำรุงรักษาที่สั้นกว่า จึงทำให้มีปัญหามากกว่า และโครงการเหล่านี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งตัวชี้วัดก็ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ตัวชี้วัดมูลค่า E-Commerce โต ร้อยละ 10 ซึ่งต่ำกว่าการเติบโตปกติ ตัวชี้วัดไม่ได้บอกว่ามูลค่าที่โตขึ้นนั้น ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเกี่ยวกับธุรกิจใหญ่หรือธุรกิจที่มาใช้บริการ E-Commerce และสุดท้ายคือ แพลตฟอร์มในการใช้ E-Commerce ของไทยอยู่ตรงไหนในตัวชี้วัด ทำให้ตั้งคำถามว่านโยบายที่กำลังใช้อยู่เอื้อให้กับแพลทฟอร์มประเทศไหน 

ตัวชี้วัดต่อมาบอกว่าสตาร์ทอัพต้องเพิ่มขึ้น 300 รายต่อ 4 ปี แต่ไม่ได้บอกว่าต้องอยู่รอดหรือไม่ นอกจากนี้ ตัวชี้วัดของกระทรวงยังต้องการ SMEs แค่ 20 รายที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจทั้งที่ในความเป็นจริงเกิดขึ้นเป็นพันราย ขณะเดียวกันการใช้งบประมาณในโครงการที่ไม่ตอบโจทย์และไม่ตรงประเด็น เช่น โครงการ World Expo 2020 และ Thailand Digital Big Bang ใช้งบในแต่ละโครงการหลายร้อยล้านบาท แต่ตั้งจุดประสงค์ว่าจะส่งผลให้คนที่ดูงานในประเทศดูไบมาเที่ยวไทยและจะได้ผลตอบแทนกว่าสองพันล้านบาท แต่ไม่เหมาะสมกับกระทรวงดิจิทัลฯ อีกทั้งการจัดงานใหญ่ๆ เหล่านี้ก็ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ มีการจัดงานโดยเอกชนจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามว่างานเหล่านี้สร้างเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือสร้างเสริมเศรษฐกิจออร์แกไนเซอร์ 

ขณะเดียวกันโครงการ Digital Park ที่รัฐบาลแนะนำนักลงทุนให้มาประมูลใน EEC มีตัวชี้วัดที่แตกต่างจากกระทรวงดิจิทัลฯ อย่างมาก เช่น เพิ่ม GDP 113,000 ล้านบาทต่อปี, พัฒนาการจ้างงานด้านดิจิทัล 100,000 งานต่อปี และเกิดการลงทุนด้านดิจิทัล 50,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่โครงการที่จัดทำโดยกระทรวงเองและใช้เงินภาษีของประชาชนมีตัวชี้วัดแค่ E-Commerce โต ร้อยละ 10, สตาร์ทอัพหน้าใหม่ 300 ราย, SMEs นำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธุรกิจ 20 ราย, และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งที่จุดประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติไม่ต้องใช้เงินก็ได้ แต่โครงการเหล่านี้กลับใช้เงินหลายร้อยล้านบาท

ทั้งนี้ มีตัวอย่างตัวชี้วัดจากองค์กรระดับโลกจำนวนมากมาให้ปรับใช้ และหากมีงบประมาณจำนวนน้อยควรนำเงินไปลงทุนในการแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการ Coding and AI camp ใช้เงินเพียง 30 ล้านบาทแต่สร้างคนได้เป็นพันคน หรือโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่ทำและประสบความสำเร็จในต่างประเทศก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในประเทศไทย เพราะถ้าหากต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 แต่ยังใช้ความคิดแบบเดิมๆ ก็ไม่สามารถไปถึงจุดนี้ได้ อย่างแรกที่ต้องทำคือแก้กฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการแข่งขันแล้วที่บอกว่าต้องการปั้นประเทศไทยให้เป็นยูนิคอร์น แต่ถ้าเรายังมีเป้าหมายแบบนี้ ทำแบบเดิมๆ ใช้งบแบบนี้ อย่าว่าแต่ยูนิคอร์นเลย แค่ม้านิลมังกรยังไม่ได้เห็น