ไม่พบผลการค้นหา
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19' เป็นวิกฤตด้านสุขภาพที่สร้างความกังวลให้คนทั่วโลก 'วอยซ์ ออนไลน์' จึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันตัวเองและรับมือ
อาการของโรคโควิด-19 มีอะไรบ้าง ?

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ว่า อาการของโรคประกอบไปด้วย การมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาการไอลักษณะแห้งๆ หายใจไม่สะดวก หายใจถี่ บางรายอาจมีอาการท้องเสีย ไปจนถึงอาการที่หนักขึ้น อย่างเช่น อาการปอดบวม อาการทางเดินหายใจผิดปกติเฉียบพลัน อาการไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิด

วารสารการแพทย์ The New England เผยแพร่รายงานของแพทย์ผู้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ติดเชื้อรายนี้ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อหลังเดินทางกลับจากอู่ฮั่นเมื่อเดือนมกราคม โดยในรายงานระบุถึงอาการและวิธีการรักษาของโรคโควิด-19 ไว้ดังนี้ 

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ชายคนนี้มาหาหมอด้วยอาการไข้เพียง 37.2 องศาเซลเซียส มีอาการไอ โดยหลังจากตรวจรอบแรกไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และไม่พบความผิดปกติของปอด แพทย์จึงให้ผู้ติดเชื้อกลับไปสังเกตอาการตัวเองที่บ้าน จนกระทั่งผลตรวจจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ชายคนดังกล่าวมีเชื้อโควิด-19 

ตลอดการรักษาพบว่าชายคนนี้มีอาการไอแห้ง และเมื่อเข้าวันที่ 2 ของการรักษา (21 ม.ค.) ก็มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่มีการหายใจติดขัดหรือเจ็บหน้าอกแต่อย่างใด แต่พบว่าผู้ป่วยมีเยื่อเมือกแห้ง

ขณะที่ผลจากแล็บในวันที่ 3 และ 5 พบว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวและภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างอ่อน และค่าการทำงานของตับมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ฟิล์ม x-ray ปอดในวันที่ 5 พบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการปอดอักเสบ และพบว่าค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดอยู่ในระดับต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหายใจเอง

infographic-กราฟิกอาการโรคโควิด-19 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

ในวันที่ 6 ของการรักษาตัว แพทย์ได้ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ และฟิล์ม x-ray ปรากฏให้เห็นร่องรอยของโรคปอดอักเสบที่ชัดขึ้นทั่วปอด แพทย์จึงเริ่มรักษาด้วยการให้ยาตามอาการต่างๆ รวมไปถึงยาต้านไวรัส จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 7 พบว่าผู้ป่วยยังไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ

จนกระทั่งวันที่ 8 (29 ม.ค.) อาการของผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้น เริ่มหายใจได้เอง ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดกลับมาอยู่ 94-96 เปอร์เซ็นต์ ร่องรอยของโรคปอดอักเสบในปอดล่างก็ไม่ปรากฏให้เห็น เหลือแต่เพียงอาการไอแห้งและมีน้ำมูกเท่านั้น

จากรายงานข้างต้นเห็นได้ชัดว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมุ่งทำลายปอดเป็นสำคัญ ขณะที่ปอดเป็นอวัยวะสำคัญในการรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ


ใครต้องตรวจโควิด-19 บ้าง ?

ข้อมูลของกรมการแพทย์เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 63 ระบุว่าผู้ที่จะต้องเข้ารับการตรวจโควิด-19 ต้องเป็น “ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์” คือ มีอาการและประวัติเสี่ยง ได้แก่ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจเช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก อย่างใดอย่างหนึ่ง และมีประวัติเสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ อย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่

  • เดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงที่มีรายงานการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019
  • ประกอบอาชีพสัมผัสกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง
  • ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันติดเชื้อโควิด-19
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ อีกประเภทที่เข้าเกณฑ์คือผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

  • มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยโควิด-19
  • เป็นบุคลากรทางการแพทย์
  • เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • เป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้  


ตรวจโควิด-19 ได้ที่ไหนและใช้สิทธิอะไรได้บ้าง ?

สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์ ในกรณีของประเทศไทย สามารถไปตรวจตามโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือประกันสังคมได้ฟรี และหากพบว่าติดเชื้อก็จะรักษาฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ แต่กังวลว่าตัวเองอาจติดเชื้อและต้องการตรวจโดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ตรวจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งก็มีคำแนะนำว่าในกรณีลักษณะนี้ให้กักตัวอยู่บ้าน 14 วันก่อนเพื่อสังเกตอาการ รวมถึงเป็นการลดความเสี่ยงของตัวเองที่อาจมีโอกาสรับเชื้อโรคเมื่อต้องเข้าไปในตามสถานพยาบาลต่างๆ

อินโฟโควิด

สำหรับผู้ที่เข้านิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค แพทย์ก็จะสัมภาษณ์และเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและคอส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ส่วนระยะเวลาในการทราบผลเท่าที่ปรากฏข้อมูลในไทยตอนนี้ มีรายงานตั้งแต่ภายใน 5-8 ชั่วโมง ไปจนถึง 12 ชั่วโมง ในบางรายอาจมีการเอ็กซ์เรย์ปอดร่วมด้วย โดยระหว่างรอผลตรวจว่าจะออกมาเป็นบวกหรือลบ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์จะถูกแยกไปที่ห้องแยกโรค หรือห้องความดันลบในโรงพยาบาล ป้องกันการแพร่เชื้อ 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 63 ระบุว่ามีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) 44 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกระทรวงสาธารสุข ซึ่งสามารถรับตัวอย่างที่โรงพยาบาลเก็บจากคนไข้มาตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง และห้องปฏิบัติการเครือข่ายอีก 29 แห่ง 


โควิด-19 รุนแรงแค่ไหน ?

นับตั้งแต่มีรายงานการระบาดในจีนครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งขึ้นเป็นจำนวนนับแสนคน องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ โดยจนถึงวันที่ 3 มี.ค.63 องค์การอนามัยโลกระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3.4 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ โดยผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้วมีแนวโน้มสูงกว่าคนทั่วไปที่จะเสียชีวิตจากโควิด-19 

อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ยังถือว่าน้อยกว่าโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS ) ที่ระบาดเมื่อปี 2545 และเกิดจากตระกูลไวรัสโคโรนาเช่นกัน โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคซาร์สนั้นสูงถึงเกือบร้อยละ 10 จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 ราย ในช่วงเวลาการระบาด ขณะที่โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome) ซึ่งระบาดเมื่องปี 2555 และเป็นการติดเชื้อจากไวรัสกลุ่มโคโรนาเช่นเดียวกัน มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 34.4 จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2,400 ราย 

แม้ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะแซงหน้าโรคซาร์สและเมอร์สไปไกล รวมถึงยังพบผู้ติดเชื้อในอย่างน้อย 160 ประเทศ แต่โอกาสหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็มีอยู่สูงมากเช่นกัน ข้อมูลกรมควบคุมโรคชี้ว่า โรคนี้หายได้เองในผู้ป่วยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 โดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อที่หายแล้วจะเป็นอีกได้หรือไม่นั้น ข้อมูลระบุว่าส่วนใหญ่หากติดเชื้อแล้วโดยทั่วไปเราจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ระยะหนึ่ง แต่เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงมากแล้วผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือไม่ 


ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ ?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ในจีนมีการใช้ยา Favilavir รักษาโควิด-19 รวมถึงมีรายงานการใช้ยาหลายขนาน เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ร่วมกับยาต้านไข้หวัดใหญ่ ยาต้านไข้มาลาเรีย เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการรักษาที่เชื่อถือได้ 

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยก็กำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้อยู่ ซึ่งถือเป็นข่าวดีเมื่อสื่ออังกฤษอย่าง The Guardian รายงานว่าความพยายามในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาโควิด-19 ดูจะเดินหน้าไปได้เร็วเมื่อเทียบกับการระบาดครั้งประวัติศาสตร์ของโรคอื่นๆ เช่น ไวรัสอีโบลา โดยมีบริษัทและสถาบันวิจัยประมาณ 35 แห่งทั่วโลกที่กำลังแข่งกันพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และมีอย่างน้อย4 ทีม ที่ได้วัคซีนทำการทดลองในสัตว์แล้ว และกำลังเตรียมการทดลองขนาดเล็กในคน 

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 63 สำนักข่าวเอพีรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าได้มีการเริ่มทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ในมนุษย์เป็นครั้งแรกที่ศูนย์วิจัยในเมืองซีแอตเทิล โดยวัคซีนดังกล่าวผลิตโดยบริษัท Moderna Inc. ในรัฐแมสซาชูเซตส์ และมีสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณ การทดลองนี้จะให้อาสาสมัครหนุ่มสาวสุขภาพดีกลุ่มแรกจำนวน 45 คน รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยยืนยันว่าผู้เข้าร่วมการทดลองไม่มีโอกาสติดเชื้อ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวไม่ได้มีส่วนประกอบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ เป้าหมายคือเพื่อทดสอบว่าวัคซีนไม่มีผลข้างเคียงที่น่ากังวล และจะทำการขยายการทดสอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลา 12-18 เดือน จึงจะสามารถยืนยันได้เต็มที่ถึงประสิทธิภาพของวัคซีน  


เบอร์ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืออะไรบ้าง ?
  • สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 
  • ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน 1111
  • สายด่วนปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 1378

ตัวอย่างของประเทศที่รับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมีอะไรบ้าง?

สิงคโปร์

ปัจจัย 4 ประการที่เป็นจุดแข็งของสิงคโปร์ คือ ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล, เทคโนโลยีที่ติดตั้งร่วมกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมีความทันสมัย, ประเทศมีขนาดเล็ก ทำให้ติดตามผู้ต้องสงสัยติดเชื้อได้ง่ายกว่าประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่และประชากรจำนวนมหาศาล ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ ระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้

นอกจากนั้น พรรครัฐบาลสิงคโปร์อยู่ในอำนาจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 2508 จึงมีความเป็นเอกภาพสูง การบริหารจัดการด้านต่างๆ ทำได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนระบบเทคโนโลยีในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิดหรือฐานข้อมูลออนไลน์จากสายการบินหรือบริษัทท่องเที่ยวเอกชน ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ประชากรในสิงคโปร์มีจำนวนประมาณ 5.7 ล้านคน และพื้นที่ทั่วประเทศราว 716 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบขนาดและจำนวนประชากร สิงคโปร์ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าฮ่องกง เขตบริหารพิเศษของจีน การจัดการและติดตามให้คำแนะนำประชากรในแต่ละพื้นที่จึงมีความครอบคลุมกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า

ที่สำคัญ สิงคโปร์เป็นประเทศร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย จึงสามารถประกาศห้ามชาวจีนทั้งจากเมืองอู่ฮั่นและเมืองอื่นๆ ในมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นต้นตอการแพร่ระบาด ไม่ให้เข้ามาในสิงคโปร์ได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่จีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น แต่ประเทศอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากยังไม่ประกาศห้ามชาวจีน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังประกาศจัดสรรงบประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.35 แสนล้านบาท) เพื่อรับมือกับผลกระทบจากไวรัสในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการขาดดุลงบประมาณ แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ


ไต้หวัน

ปลายเดือนม.ค. 2020 ไต้หวันประกาศปรับเงินชายผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับทางการเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 307,080 บาท โทษฐานที่เขาจงใจปกปิดอาการป่วยของตัวเองภายหลังเดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของไวรัส ขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคจัดตั้งศูนย์บัญชาการโรคระบาดเพื่อออกมาตรการรับมือโควิด-19 อย่างบูรณาการและเป็นระบบระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในวันที่ 20 ม.ค. 

ในวันที่ 26 ม.ค. ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้นหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรก ไต้หวันปรับมาตรการอย่างรวดเร็ว สั่งห้ามไม่ให้คนที่มาจากเมืองอู่ฮั่นเดินทางเข้าประเทศ ก่อนขยายมาตรการห้ามไม่ให้ทุกคนจากจีนเดินทางเข้ามา ยกเว้นประชาชนชาวไต้หวันเองเท่านั้น

ไต้หวันมีการประกาศใช้เทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลของนักเดินทาง โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศสแกนคิวอาร์โคดเข้าใช้แอปพลิเคชันรายงานประวัติการเดินทางและข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของตน เพื่อส่งไปรวบรวมที่ศูนย์ควบคุมโรค สำหรับใครก็ตามที่เพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงจำเป็นจะต้องกักตัวเพื่อดูอาการอยู่ที่บ้าน 14 วัน แม้ว่าจะไม่มีการแสดงอาการใดๆก็ตามโดยจะมีการตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องตรวจวัดอุณหภูมิให้กับลูกๆก่อนส่งข้อมูลให้กับทางโรงเรียน เพื่อเป็นการกรองผู้ป่วยอีขั้นหนึ่ง 

นอกจากนั้นไต้หวันประกาศสั่งห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัย จนสามารถเพิ่มการผลิตรายสัปดาห์เป็น 11 ล้านชิ้น โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขเผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่มการผลิตเป็น 15 ล้านชิ้นในอนาคตอันใกล้ 


เกาหลีใต้  

3 มี.ค. รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศทำสงครามกับโควิด-19 อย่างจริงจัง มีการสั่งทุ่มงบประมาณกว่า 775,000 ล้านบาทสู้กับโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลชี้ว่าการตรวจและค้นหาผู้ติดเชื้อในช่วงแรกเริ่มเป็นสิ่งสำคัญ เกาหลีใต้ได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่าย รวดเร็วและเป็นวงกว้าง ดังนั้นการยกระดับการค้นหาผู้ติดเชื้อจึงสำคัญ ซึ่งจะทำให้สามารถระบุจำนวนผู้ติดเชื้อได้และส่งผลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ใช้รูปแบบของระบบ drive-through เพื่อตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ ซึ่งระบบสามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้วันละหลายพันคน รวมไปถึงการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรีกับประชาชนทุกคน พร้อมยังออกมาตรการติดตามสมาชิกที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อทุกราย โดยเฉพาะสมาชิกลัทธิชินชอนจิที่มีมากกว่า 200,000 คนในเมืองแทกูและทางตอนเหนือของจังหวัดคยองซัง

วอชิงตันโพสต์กล่าวว่า การที่ประเทศเกาหลีใต้สามารถรับมือกับการระบาดได้อย่างเข้มแข็งนั้นเป็นเพราะการเปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ โดยความเป็นประชาธิปไตยก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างสิทธิของประชาชนกับความรับผิดชอบของรัฐบาลในการดูแลประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากรัฐบาลประชาธิปไตยได้มอบสัญญาประชาคมให้กับสังคมและประชาชนมอบความรับผิดชอบและความไว้วางใจในการทำงานให้กับรัฐบาลเช่นกัน

ทั้งนี้มาตรการขอรัฐบาลเกาหลีใต้ที่เน้นถึงการให้ข้อมูลและรายละเอียดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างโปร่งใส ทั้งการติดตามผู้ติดเชื้อด้วยระบบ GPS การอัปเดตของมูลของผู้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์และแสดงสถานที่หรือบริเวณที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไป ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและหลีกเลี่ยงบริเวณดังกล่าวที่มีผู้ติดเชื้อได้ โดยการใช้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และฐานข้อมูลกลาง (Big Data) เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาด ซึ่งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที


จีน

ดร.แดเนียล เคอร์เตสซ์ ตัวแทนจาก WHO กล่าวว่า 'ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีในการพยายามควบคุมการระบาด โดยมีการรับมือได้อย่างรวดเร็วและทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงได้ภายในระยะเวลาไม่นาน' 

ในรายงานของ WHO ระบุว่า จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์เป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรก เพื่อควบคุมแหล่งต้นกำเนิดของเชื้อและตัดวงจรการแพร่เชื้อต่างๆ ทั้งการใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างการปิดเมือง การห้ามประชาชนเดินทางหรือเคลื่อนย้ายถิ่น ในระยะที่สอง จีนดำเนินมาตรการชะลอความรุนแรงและความเร็วของการระบาด และในระยะที่สาม เพื่อการฟื้นฟูและการเตรียมกลับสู่สภาวะปกติ

บทเรียนจากจีนสำหรับประเทศที่การระบาดยังอยู่ในระยะที่สองอย่างไทยนั้น ควรจะต้องเริ่มใช้กลไกการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับประเทศ ให้มีการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งการให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน สอดส่องและค้นหาโรคในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มอื่นๆ รวมไปถึงการเตรียมแผนการและซักซ้อมการปฏิบัติมาตรการต่างๆ จนถึงระดับสูงสุด

ผู้แทนจาก WHO กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดของจีน สามารถเปลี่ยนการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมโรคระบาด การค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด และการที่ภาคประชาชนปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจีนก็มีส่วนช่วยให้จีนสามารถควบคุมการระบาดได้ง่ายขึ้น

จีนยังได้ร่วมมือ 'อาลีเพย์' สร้างคิวอาร์โค้ดบอกสถานะการติดเชื้อไวรัสฯ สถานะการอนุญาตเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประชาชนผ่านสมาร์ทโฟน โดย 'อาลีเพย์เฮลโค้ด' เริ่มให้บริการครั้งแรกทางตะวันออกของหางโจว ซึ่งเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง และมีการนำไปใช้แล้วกว่า 200 เมือง

โดยประชาชนจะต้องลงทะเบียนกับแอปกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของแอนท์ ไฟแนนซ์เชียล ที่ชื่อว่า 'อาลีเพย์' จากนั้นผู้ใช้งานก็จะได้คิวอาร์โค้ดที่แสดงสี 3 แบบ คือ เขียว เหลือง และแดง โดยสีที่ได้รับจะเป็นการแสดงสถานะสุขภาพของผู้ใช้งาน โดยสีเขียวหมายถึงสุขภาพปกติสามารถออกไปทำงานได้ ขณะที่ผู้ได้รับคิวอาร์โค้ดสีเหลืองแปลว่าให้กักตัวอยู่ในบ้าน 7 วัน และผู้ที่ได้รับโค้ดสีแดงต้องกักตัวประมาณ 2 สัปดาห์


ญี่ปุ่น

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ประกาศให้ประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ได้ฟรี ภายใต้สิทธิการดูแลของประกันสุขภาพแห่งชาติของญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นนโยบายดังกล่าวในวันที่ 6 มี.ค.2020

กลุ่มประชาชนที่สามารถเข้าใช้สิทธิได้ฟรีต้องเป็นคนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ กลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโรคปอด และกลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

ก่อนหน้านี้ 'ผู้ป่วย' สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่แพทย์ประจำตัวผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติจากศูนย์การแพทย์ท้องถิ่นเสียก่อน เนื่องจากต้องมีการดึงงบประมาณของสาธารณะมาใช้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก ประกอบกับสถานพยาบาลหลายแห่งไม่มีศักยภาพเพียงพอในการตรวจ จึงเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ และหลายครั้งที่ทางสถานพยาบาลและโรงพยาบาลจำเป็นจะต้องปล่อยผู้ที่อาจติดเชื้อไปโดยไม่ได้รับการตรวจ

ขณะที่ นายนาโอมิจิ ซุซุกิ ผู้ว่าการจังหวัดฮอกไกโด ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 28 ก.พ. หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นในพื้นที่ โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้าน ถ้าไม่จำเป็น แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการบังคับเข้มงวดแบบที่เกิดในหลายพื้นที่ของยุโรป ซึ่งหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกือบ 20 วัน

เขาระบุว่า มีสัญญาณว่าการแพร่ของเชื้อไวรัสลดลง ฮอกไกโดสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กังวลในตอนแรกว่าการแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้ระบบสาธารณสุขล่มและไม่สามารถรักษาชีวิตคนได้ จึงขอประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินวันที่ 19 มี.ค. ตามที่กำหนดเอาไว้ แต่ก็ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงออกจากบ้านหากยังรู้สึกกังวลเรื่องการติดโรค โดยนายนาโอมิจิยังกล่าวอีกว่าตอนนี้ฮอกไกโดสามารถสู้กับการระบาดของไวรัสได้เนื่องจากได้ขยายขีดความสามารถในการตรวจและมีเตียงรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล นับจากนี้จะเป็นการเดินหน้าไปสู่ขั้นตอนของการลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ ไปพร้อมกับการรักษากิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ


เราสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้อย่างไร ?

Voice Online รวบรวม 7 วิธีในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ 'โควิด-19' ประกอบไปด้วย การล้างมือให้ถูกวิธี การสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี การสร้างระยะห่างทางสังคม การไอและจามอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม การทำความสะอาดสมาร์ตโฟนเป็นประจำ การใช้ช้อนกลางแบบส่วนตัว และการไม่กักตุนอาหารเกินจำเป็น แต่ควรเตรียมสเบียงให้พร้อมสำรับผู้ที่ต้องกักตัวดูอาการ 14 วันโดยไม่มีคนดูแล