ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนา 71 ปีรัฐศาสตร์จุฬาฯ นักวิชาการชวนจับตา การดำเนินการทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวละครใหม่ หวังเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นใช้เวทีรัฐสภาต่อสู้ กระทบโครงสร้างใหญ่เพื่อเปลี่ยนรัฐรวมอำนาจที่ศูนย์กลาง พร้อมจับตาการต่อสู้ของอนาคตใหม่จะถูกระบบเก่ากลืนหรือไม่

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานครบรอบ 71 ปี คณะรัฐศาสตร์ โดยมีการบรรยาย “รัฐศาสตร์​ จุฬาฯ​ 71 ​ปีกับอนาคตประเทศไทยที่ดีกว่า” โดยศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการปกครอง​ คณะรัฐศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาทฤษฎีเชิงโครงสร้าง ในการใช้อธิบายหรือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งนักวิชาการมักยกมาอ้าง แต่ไม่ค่อยมีข้อเสนอรูปธรรมของวิธีการแก้ปัญหา พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างทั้ง กบฏ รศ.130 คณะราษฎร ยุคตุลา ซึ่งไม่ได้อาศัยโครงสร้างสังคมเก่าในการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเทียบกับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็น"ตัวละครทางการเมืองใหม่" ที่ต้องการเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นและน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้เวทีรัฐสภา ภายใต้โครงสร้างเดิมในการต่อสู้ ไม่ใช้แนวทางรุนแรงหรือสู้นอกโครงสร้างอย่างขบวนการในอดีต โดยยกคำให้สัมภาษณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยบอกว่า "แม้ไม่มีหัวหน้า คสช.แล้ว แต่ภายใต้โครงสร้างสังคมไทยที่เป็นอยู่ ก็จะผลิตคนแบบหัวหน้า คสช.ออกมาอีก" และมีคำถามที่ต้องติดตามต่อว่า การสู้ภายใต้โครงสร้างเก่า พรรคอนาคตใหม่จะถูกระบบกลืนหรือไม่ด้วย 

ชี้ 'อนาคตใหม่' หวังเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ของรัฐปลดแอกรวมศูนย์

ศาสตราจารย์ ไชยันต์ เห็นว่า การดำเนินการทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ สะท้อนอะไรหลายอย่าง ทั้งการไม่ใช้สรรพนาม ลุงป้าน้าอาก็มองว่า เป็นจุดที่ทำให้เกิดการอุปถัมภ์ ซึ่งหากทำได้จริง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางวัฒนธรรม, การแต่งกายของ ส.ส.ในสภา ที่เป็นสัญลักษณ์ สะท้อนความตั้งใจเปลี่ยนเเปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป การกระจายอำนาจ ที่กระทบโครงสร้างใหญ่ไม่ให้รัฐส่วนกลางรวมศูนย์อำนาจ ตลอดจนผู้ที่อาจเป็นแนวร่วมของพรรค อย่างนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาฯ นักกิจกรรมผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยที่เสนอให้ยกเลิกการหมอบกราบถวายบังคม และอื่นๆ ที่ล้วนเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม

ศาสตราจารย์ ไชยันต์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ทำ น่าจะสอดคล้องกับนักทฤษฎีโครงสร้างสมัยใหม่ ที่ได้เสนอว่า เมื่อไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ ก็ต้องคิดจากจุดเล็กๆในองค์กรเล็กๆก่อนและการเปลี่ยนแปลงอ่านเริ่มจากจุดเล็กๆ เพื่อนำไปสู่โครงสร้าง  

'สุริชัย' อนาคตใหม่ แลนด์สไลด์ เหตุคนไม่ไว้ใจผู้มีอำนาจ

ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กล่าวถึงวิชารัฐศาสตร์ในโลกที่ไม่แน่นอน ที่มีความเหลื่อมล้ำกับความเสี่ยงหลายมิติ ซึ่งไม่มีทางมีความยั่งยืนได้ แต่สังคมต้องการความยั่งยืนในบริบทเช่นนี้ และมองว่า ปัจจุบันสังคมอยู่ในยุคที่ "ผู้มีอำนาจเล่นการเมืองบนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจคนอื่น" อย่างประธานาธิบดีส���รัฐอเมริกา หรือคนอื่นๆ พร้อมเทียบเคียงกับการครองอำนาจของ คสช.ตลอด 5 ปี มีการคิดยุทธศาสตร์ชาติ และชูการปฏิรูปหลายอย่าง ที่อ้างถึงการเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น แต่หลังการเลือกตั้งพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ กลับได้คะแนนน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ เกิดปรากฎการณ์พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ฐานเสียงเยอะมาก ท่ามกลางความยากเย็นในกติกาแข่งขันและระบบการเมือง ซึ่งนักรัฐศาสตร์จะไม่ให้ความสนใจพรรคนี้ไม่ได้ 

ศาสตราจารย์สุริชัย มองว่า การได้คะแนนเสียงจำนวนมากของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ใช่จากนโยบายที่ถูกใจ แต่มาจากคนหวาดระแวงหรือไม่ไว้ใจผู้มีอำนาจที่เป็นฝ่ายตรงข้าม และตามหลักวิชา การใช้อำนาจบังคับไม่มีทางทำให้คนหันหน้าเข้าหากันได้ และในสังคมยังมีอำนาจที่ผูกโยง พึ่งพาอาศัยหรือความเป็นพี่เป็นน้อง อย่างนักศึกษาร่วมรุ่น หรือ จปร.รุ่นต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการไปสู่อนาคตที่ดีกว่า หรือหาทางออกให้ประเทศและในเรื่องต่างๆ แต่ละคน แต่ละฝ่าย ต้องหาจุดร่วมในการพูดคุยกัน ไม่ควรมีข้อสรุปของแต่ละคนไว้แล้ว และต้องใช้หลายองค์ประกอบในการหาทางออก จะมองหรือใช้เพียงองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้ 

'สุรชาติ' ย้ำจุฬาฯ เสาหลักแผ่นดินไม่ทำอะไรไม่ต่างเสาหลักปักขี้เลน

ศาสตราจารย์ สุรชาติ​ บำรุงสุข​ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ​ ระบุว่า โลกอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ Disrupt ด้วย ซึ่งได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคน รวมถึงเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนด้วยทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต กิจกรรมและองค์ความรู้กระจัดกระจาย ขณะที่การบูรณาการแทบทำไม่ได้จริง และท่ามกลางองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น วิชารัฐศาสตร์จะช่วยสังคมอย่างไร รวมถึงจุฬาฯ ที่อ้างตัวว่าเป็น "เสาหลักของแผ่นดิน" เพราะถ้าไม่ทำอะไร มีแค่วาทกรรมก็ไม่ต่างจาก "เสาหลักปักขี้เลน" จึงต้องสร้างองค์ความรู้ เป็นมันสมอง หรือ think tank ให้สังคมด้วย 

ศาสตราจารย์สุรชาติ​ ย้ำว่า สถาบันการศึกษาต้องเป็นองค์กรที่ช่วยขบคิดสำหรับอนาคต ซึ่งในต่างประเทศมีองค์กรใหม่ๆที่เกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อรับกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ Disrupt นี้ แม้กระทั่งวิกฤต สงครามการค้า การเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจว่าจะจบลงและกระทบกับไทยอย่างไร, การจัดการปัญหา จุดสิ้นสุดหรือผลกระทบกรณีการชุมนุมฮ่องกง รวมทั้งศัพท์ใหม่ที่ได้จากผู้บัญชาการทหารบกไม่นานมานี้ คือ "สงครามไฮบริด" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตัวแบบกระบวนทัศน์สงครามที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นแบบพันทาง ซึ่งสถาบันการศึกษาจะต้องช่วยทำความเข้าใจให้กับสังคม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง