ไม่พบผลการค้นหา
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิดทำการ 7 วันระหว่าง 16-22 มี.ค. 2563 เพื่อฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อและทำความสะอาด หลังพบบุคลากรของคณะติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 คน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศมาตรการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) รายที่ 1 เนื่องด้วยในวันที่ 15 มี.ค. 2563 ทางคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแจ้งว่ามีบุคลากรของคณะคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จากการตรวจโดยการเก็บสารคัดหลั่งบริเวณส่วนหลังโพรงจมูกและบริเวณคอหอยไปตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งให้ผลเป็นบวก ขณะนี้บุคลากรคนดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินตามมาตรการที่คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของมหาวิทยาลัยได้เตรียมการไว้ ดังต่อไปนี้

1. ได้ติดต่อกับโรงพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาบุคลากรคนดังกล่าว เพื่อยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยโรค COVID–19 และในกรณีที่มีการยืนยันการติดเชื้อจะประสานกับทางโรงพยาบาลในการให้การดูแลรักษาตามมาตรฐานอย่างดีที่สุด

2. ได้เริ่มดำเนินการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคลากรคนดังกล่าว ทั้งคณาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่ของคณะนิติศาสตร์ และสมาชิกในครอบครัวมารับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์บริการสุขภาพของจุฬาฯ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและให้คำแนะนำต่อไป

3. ให้คณะนิติศาสตร์ปิดทำการเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ (ตั้งแต่วันที่ 16 – 22 มี.ค. 2563) เพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและทำความสะอาดตามมาตรฐานทางสาธารณสุขทั่วพื้นที่อาคารพินิตประชานาถ และอาคารเทพทวาราวดี และให้งดการเรียนการสอนทุกช่องทางรวมทั้งช่องทางออนไลน์ การประชุม การนัดหมาย การพบปะ การจัดกิจกรรมทุกรายการ เพื่อลดความเสี่ยงของการสัมผัสระหว่างบุคคล และเอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสำหรับคณะและมหาวิทยาลัยในการควบคุมภาวะการแพร่ระบาด

4. ทำการสอบสวนวงจรการแพร่กระจายเชื้อของบุคลากรคนดังกล่าว เพื่อสามารถกำหนดให้บุคลากรและนิสิตจุฬาฯ ที่อยู่ในสถานที่เดียวกับบุคลากรผู้นี้ ภายในระยะเวลา 14 วัน ก่อนวันที่ 15 มี.ค. 2563 ลาหยุดเพื่อกักบริเวณดูอาการเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่ 15 มี.ค. 2563 โดยไม่ถือเป็นวันลา หากมีอาการน่าสงสัยว่าจะติดเชื้อ ทุกคนในข่ายดังกล่าวสามารถติดต่อศูนย์บริการสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอรับการตรวจคัดกรองโดยทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

หากพบว่ามีคณาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากการสัมผัสกับบุคลากรคนดังกล่าว ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดีจะส่งตัวและรับผิดชอบดูแลการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ภายหลังได้มีการออกประกาศเรื่องแนวทางการจัดการเรียนการสอนในกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ อันสืบเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (ฉบับที่ 1) ว่า ด้วยปรากฎว่าบัดนี้เชื้อโรคดังกล่าวได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง และมีผู้ติดเชื้อโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์ และกรณีที่มีปัญหาหรือเกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้คณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการได้ตามที่เห็นสมควร