ไม่พบผลการค้นหา
Talking Thailand - หมุดคณะราษฎร(2)หาย แต่ฝังในใจคนไทย และแชร์ไปทั่วโลกออนไลน์แล้ว - Short Clip
Sep 21, 2020 15:21

รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 21 กันยายน 2563

ตื่นเช้ามา ‘หมุดคณะราษฎร’ หายไปจากสนามหลวง ‘เพนกวิน’ ไม่ผิดคาด ยิ้มเยาะคนทำ-คนสั่งการ ต้องคำสาป เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ชี้ไม่มีหมุด ไม่เป็นไร เชื่อว่าหมุดถูกฝังอยู่ในใจคนไทยไปแล้ว ปล่อยไฟล์ต้นแบบหมุดให้ดาวน์โหลดไปหล่อหมุดปัก แปะตรงไหนก็ได้ทั่วประเทศ หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์ ตอนนี้แชร์หมุดรูปแบบต่างๆ กันสนุกสนาน

หลังมีรายงานว่า เช้าวันนี้ "หมุดคณะราษฎร 2563 " ที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ติดตั้งลงบนพื้นสนามหลวงเมื่อเช้าวานนี้ ได้ถูกถอนออกไปแล้ว

ทีมข่าว Voice TV ไปตรวจสอบ พบว่า จุดที่ปักหมุดถูกโบกปูนซีเมนต์ทับ / ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานว่า เมื่อช่วงเวลา 22.00 น. ของเมื่อคืนนี้ มีการปิดพื้นที่ เคลียร์คนออกและห้ามไม่ให้บุคคลอื่นเข้า บริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวง

เมื่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ ประจำสนามหลวงได้รับคำตอบว่าไม่ทราบว่าหมุดถูกเอาออกไปตอนไหน เพราะว่าพึ่งเข้าเวรในช่วงเช้า แต่เมื่อคืนนี้มีการเคลียร์คนออกจริง เพราะเป็นช่วงที่ปิดทำการตามปกติในเวลา 4 ทุ่ม

ขณะที่ บรรยากาศที่สนามหลวงวันนี้ เปิดบริการตามปกติ มีเจ้าหน้าที่ของกทม. มาดูเเลความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ ขณะเดียวกันก็มีประชาชนนักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนที่ทราบข่าวว่าหมุดถูกรื้อออกไปแล้ว เข้ามาถ่ายภาพ

ด้านพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตำรวจ สน.ชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบหมุดคณะราษฎร 2563 ก่อนจะรื้อถอดหมุดดังกล่าวออก และส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม พร้อมแจ้งความดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ข้อหาบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน

ด้านนายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร เข้าแจ้งความดำเนินคดีและให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม กรณีมีการขุดเจาะ ปักหมุดที่เรียกว่า หมุดคณะราษฎร หมุดที่2 ของการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ก.ย.

โดยระบุว่า วันนี้ได้รับการเร่งรัดจากอธิบดีกรมศิลปากร ให้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมและทำการฝังหมุดลงบนพื้นภายในท้องสนามหลวง / โดยนำหลักฐานเป็นเอกสารขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และ ภาพถ่ายขณะขุดเจาะพื้น ที่ปรากฎตามสื่อมวลชน มามอบให้กับตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม / ซึ่งขณะนี้พบความผิดตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 10 ห้ามไม่ให้ผู้ใดซ่อมแซมแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือถอนต่อเติมทำลายหรือเคลื่อนย้ายสิ่งใดๆภายในพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ / ส่วนข้อหาบุกรุกสถานที่นั้นจากการพูดคุยกับตำรวจเบื้องต้น ยังไม่พบความผิดชัดเจน ต้องให้พนักงานสอบสวนพิจารณาถึงความผิดอีกครั้งหนึ่ง

ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ยืนยันการเข้าแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้ไม่ได้รับความกดดันจากฝ่ายใด เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่สามารถทำได้ และไม่ได้เข้าข้างใดข้างหนึ่ง

เมื่อถามว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฎ บริเวณแยกหลักสี่ที่หายไปเกือบ 2 ปีกว่านั้น นายสถาพร กล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้าว่าหายไปไหน แต่ทราบว่ามีหนังสือให้สำนักงานเขตต่างๆ มาดูแล เพราะเคยมีการทำเรื่องขออนุญาตเคลื่อนย้าย

เมื่อถามว่า การถอดหมุดคณะราษฎร แล้วเปลี่ยนเป็นหมุดหน้าใสที่ลานพระบรมรูปทรงม้านั้น ถือเป็นโบราณวัตถุหรืออะไรที่กรมศิลป์ต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายสถาพร กล่าวว่า กรมศิลป์ไม่ได้รับผิดชอบดูแลหากมีการทุบทำลายหมุดดังกล่าว ก็เป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะรับผิดชอบต่อไป

ก่อนหน้านั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือต่อกรมศิลปากร / ร้องเอาผิดแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาตร์และการชุมนุม นำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงและ มีการปักหมุดคณะราษฏร 2563 ลงบนพื้นซีเมนต์ กลางสนามหลวง เนื่องจากสนามหลวงเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ มาตั้งแต่ปี 2520

ทางสมาคมเห็นว่า แกนนำ ซึ่งมีรายชื่อที่ได้รวบรวมมาทั้งหมด 18 คน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว และตนได้นำรายชื่อทั้ง 18 คนมามอบให้กับทาง กรมศิลปากร ไว้เป็นพยานหลักฐานนำไปสู่การแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ส่วนกรณีความเห็นของ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่โพสต์ข้อความบน Facebook ตั้งข้อสังเกตว่าการปักหมุดคณะราษฎร์ 63 นั้น เป็นการเจาะบนพื้นซีเมนต์ที่พึ่งสร้างมาใหม่ ไม่ส่งผลกระทบต่อสนามหญ้า ที่มีมาดั้งเดิมของสนามหลวง จึง จะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.โบราณสถานฯหรือไม่ นายศรีสุวรรณมองว่า จะสร้างมากี่วันกี่เดือนกี่ปีก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินของโบราณสถาน ใครจะกระทำการใดๆ จะต้องมีการขออนุญาตต่อกรมศิลปากรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง จะอ้างว่าสร้างมานานหรือเพิ่งสร้างแต่อย่างใดนั้นกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ ใครไปดำเนินการใดๆก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโบราณสถาน

จากนั้น นายศรีสุวรรณเดินทางไปยังสำนักงานเขตพระนคร เพื่อยื่นหนังสือเอาผิด แกนนำด้วยเช่นกัน ในฐานร่วมกันกระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง ได้นัด นายอานนท์ นำภา , นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน , นายปิยรัฐ จงเทพ , น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง มาส่งตัว พร้อมสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องให้พนักงานอัยการพิจารณา คดีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง กรณีจัดการชุมนุมปราศรัยหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อ 20 ก.ค. 63

นายพริษฐ์ กล่าวถึงกรณีหมุดคณะราษฏร 2563 ที่ถูกเจ้าหน้าที่ถอนออกไปจากสนามหลวงในช่วงกลางดึกที่ผ่านมาว่า ไม่แปลกใจ แต่เชื่อว่าสำหรับหมุดคณะราษฏร 2563 มันได้ถูกปักลงกลางใจกลุ่มผู้ชุมนุมทุกคน และต่อจากนี้จะทำการจะมีการแจกไฟล์แบบ หมุดคณะราษฏร 2563 เพื่อให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม นำไปหล่อ และไปปักตามที่ต่างๆ ที่อยากปัก

กรณีถูกแจ้งความเรื่องการปักหมุด บุกรุกโบราณสถานนั้น มองว่า สนามหลวงเป็นสถานที่ที่ประชาชนคนไทยสามารถใช้ได้อย่างเสรี ตั้งแต่อดีต ทั้งการเล่นหรือการพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงการชุมนุมที่แสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองก็หลายครั้ง แต่มาในรัฐบาลนี้กลับพยายามยึดสนามหลวงให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว และปิดกั้นการเข้าถึงของประชาชน

อีกทั้งปูนที่ทางกลุ่มแกนนำเจาะเพื่อฝังหมุดคณะราษฎร ก็ไม่ได้มองว่าเป็นโบราณสถานหรือโบราณวัตถุเพราะปูนเพิ่งเทมาเพียงสามปี ขณะที่ทางกลุ่มแกนนำกลับมองว่าตัวหมุดคณะราษฎร์ 2563 น่าจะเป็นศิลปะวัตถุที่ทางกรมศิลปากร ควรจะต้องเข้ามาดูแลรักษามากกว่าการดำเนินคดี

สำหรับหนังสือข้อเรียกร้องที่ยื่นไป เชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะไปไม่ถึงมือคนที่ตนเองตั้งใจไว้ แต่ทางแกนนำได้ อ่านคำเรียกร้องต่อหน้าสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้ถึงเจตนารมย์และข้อเรียกร้องแล้ว / โดยไม่ได้มีการกำหนด ระยะเวลาของคำตอบที่ได้แต่เชื่อว่าจากข้อเรียกร้องทั้งหมดในส่วนประเด็นการถอดถอนนายกรัฐมนตรีน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะขณะนี้นายกรัฐมนตรีขาดเสถียรภาพทางการเมือง

สำหรับการชุมนุมครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.ย.นี้ทราบว่าเป็นของกลุ่ม ประชาชนปลดแอกซึ่งส่วนตัวไม่ทราบเวลาแต่ทราบว่าสาเหตุที่ต้องมีการชุมนุมในวันดังกล่าวเพราะทางรัฐสภามีการพิจารณาญัตติการ แก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งต้องมีการแสดงพลังให้เห็นว่ามวลชนมีความตั้งใจที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขและป้องกันการเพิกเฉย หรือทำให้ ญัตติตกลงไป

ส่วนในวันที่ 14 ต.ค.ตนเองอยากขอเชิญชวนให้ผู้ที่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้หยุดงานเพื่อแสดงพลังให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของทางรัฐบาลซึ่งการหยุดงานจะหยุดงานเพื่ออยู่บ้านเฉยๆ หรือจะออกไปเที่ยวก็ได้ ส่วนทางแกนนำจะมีการจัดกิจกรรมให้มวลชนเข้ามาร่วมหรือไม่ ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยหารือร่วมกันระหว่างแกนนำซึ่งจะมีความชัดชัดเจนต่อไป


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog