ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - 'สตรีมเมอร์จีน' กับอิสรภาพออนไลน์ที่มีข้อจำกัด - Short Clip
Feb 1, 2019 06:11

หนึ่งในประเทศที่มีกิจกรรมออนไลน์เฟื่องฟูที่สุด คือ ประเทศจีน ที่ใครก็ตามที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตล้วนมีโอกาสในการ 'ไลฟ์สตรีม' จนเป็นที่นิยม แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ 'สตรีมเมอร์จีน' แตกต่างจากสตรีมเมอร์ในประเทศอื่น ๆ คือ ข้อจำกัดที่รัฐบาลกำหนดไว้ ทำให้การนำเสนอคอนเทนต์ออนไลน์ไม่มีอิสรภาพอย่างที่ควรจะเป็น

การใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป การใช้โซเชียลมีเดีย รวมไปถึงการชอปปิงออนไลน์ ดูจะเป็นสิ่งที่ชาวจีน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือเขตที่ไกลความเจริญออกไป สามารถเข้าถึงได้ และคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็เลือกที่จะนำเสนอเรื่องส่วนตัว ความชอบ หรือความถนัด ในไลฟ์สตรีมช่องทางต่าง ๆ จนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ไปเสียแล้ว แต่ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวจีนไม่ได้มาพร้อมอิสรภาพในการใช้เท่าที่ควร โดยล่าสุด สตรีมเมอร์จีนถูกกำหนดให้ต้องมี Dress Code หรือ แนวทางปฏิบัติในการแต่งตัว แม้จะไม่ได้เจาะจงรายละเอียดมากนัก แต่ก็ทำให้อุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของจีนต้อง 'สะดุด' เล็กน้อย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสตรีมเมอร์กลุ่มหนึ่งเป็นที่นิยมหรือดึงดูดผู้ชมได้จากการแต่งตัว

ทั้งนี้ แนวทางใหม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะควบคุมอุตสาหกรรมบันเทิงของรัฐบาล ซึ่งข้อกำหนดเบื้องต้นที่สตรีมเมอร์ในประเทศจีนต้องหลีกเลี่ยงมี

1) ต้องไม่สวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นหรือเปิดเผยร่างกายจนเกินไป ต้องไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแนบไปกับร่างกายหรือโปร่งใสเห็นเนื้อหนัง รวมถึงต้องไม่สวมใส่สีเนื้อ ชุดชั้นใน และ 'ยูนิฟอร์มเซ็กซี่' ระหว่างการไลฟ์สตรีมด้วย ทำให้สตรีมเมอร์ต้องเลือกเสื้อผ้าอย่างรอบคอบขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดเหล่านี้ ใช้กับสตรีมเมอร์ผู้หญิงเท่านั้น และสตรีมเมอร์ชายยังสามารถสวมใส่ 'ชุดพยาบาลสุดฮอต' ได้ หากพวกเขาต้องการ นอกจากนี้ ข้อกำหนดใหม่ยังระบุให้สตรีมเมอร์ต้องไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่มีข้อความหรือข้อมูลที่ขัดต่อระเบียบใด ๆ ของรัฐบาล เช่น เสื้อยืดที่มีคำว่า Free Tibet เป็นต้น

2) ต้องไม่ 'กระซิบ' ในไลฟ์สตรีม แม้ว่าผู้รับชมไลฟ์สตรีมหรือพอดแคสต์จำนวนหนึ่งจะมีภาวะ ASMR ซึ่งย่อมาจาก Autonomous Sensory Meridian Response หรือก็คือ การตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกโดยอัตโนมัติ ทั้งจากการมองเห็น ได้ยิน สัมผัส จนเกิดภาวะผ่อนคลายทางอารมณ์ และมีสตรีมเมอร์จำนวนมาก ไม่เพียงแต่ในจีน แต่ทั่วโลก ที่เน้นการใช้เสียง ในการนำเสนอตัวเอง เช่น การเกา การเคาะไมโครโฟน การใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ทำให้เกิดเสียงต่าง ๆ รวมไปถึง 'การกระซิบ' ด้วย ซึ่งสำหรับทางการจีนแล้ว การกระซิบถือเป็นการกระตุ้นเร้าทางเพศอย่างหนึ่ง หรือพูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ 'เซ็กซี่เกินไป' ทำให้หน่วยงานต่อต้านสื่อลามกต้องคัดกรองคอนเทนต์ ASMR จำนวนมากออกจากระบบ แม้ว่าตัวสตรีมเมอร์เองจะยืนยันว่าคอนเทนต์ไม่มีความเซ็กซี่เลยแม้แต่น้อยก็ตาม ถือเป็นการแบน 'สิ่งที่ส่อไปในเชิงเพศ' ต่อจากมาตรการเมื่อหลายปีที่แล้ว ที่รัฐบาลประกาศแบนการรับประทานกล้วยอย่างเซ็กซี่ทางไลฟ์สตรีม

3) ต้องไม่แปลหรือถอดความเพลงชาติไปในทางที่ไม่ดี ก่อนหน้านี้ เคยมีวัยรุ่นจีนไลฟ์สตรีมตัวเองร้องเพลงชาติ ขณะสวมใส่ที่คาดผมเขากวางเรนเดียร์ ที่ทำให้เธอเสมือนกลายเป็น 'ศัตรูต่อรัฐ' ในสายตาคนจำนวนมากไปทันที โดยที่ไลฟ์นั้นของเธอก็ต้องจบลงภายในระยะเวลาไม่นาน และตัวโพสต์ก็ต้อง 'ปลิว' ไปในเวลาต่อมา กรณีที่ว่านี้เกิดขึ้นกับ หยาง ข่ายลี่ ที่มีผู้ติดตาม 2 ล้านคน แต่จำนวนผู้ติดตามกลับไม่ช่วยเธอนัก และแพลตฟอร์มที่เธอใช้ไลฟ์ก็ตัดเธอออกจากระบบในที่สุด แม้เธอจะให้สัญญาว่าจะกลับไปดูสารคดีรักชาติ และหาความรู้ด้านอุดมการณ์ทางการเมืองเพิ่มเติมแล้วก็ตาม ซึ่งหยางไม่ใช่คนเดียวที่ถูก 'ทำโทษ' เช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีไลฟ์สตรีมเมอร์ถูกจำคุก 15 วัน ฐานะดูหมิ่นเพลงชาติมาแล้ว อย่างไรก็ตาม โทษที่ทั้งคู่ได้รับถือว่าไม่หนักหนาเลย ในสายตาของชาวจีนส่วนใหญ่ และในสายตาของรัฐ เนื่องจากกฎหมายระบุให้การดูหมิ่นเพลงชาติมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี

4 ) ห้ามเล่นมุกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับการที่มุก 'โฮโลคอสต์' หรือ เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ในจีนเอง การนำส่วนใดส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มีล้อเลียน ล้อเล่น หรือกล่าวติดตลก ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เช่นกัน เช่นที่สตรีมเมอร์ เฉิน อี้เฝอ ซึ่งเป็นที่รักของแฟน ๆ ถูกขุดคลิปเก่า 2 ปีก่อนหน้าขึ้นมาแฉ โดยเป็นคลิปที่เธอล้อเลียนการบุกจีนของกองทัพญี่ปุ่น รวมไปถึงการสังหารหมู่หนานจิง (Nanjing Massacre) ด้วย ทำให้เธอถูกแบนจากแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ทันที และยังถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากชาวเน็ตทั่วประเทศ ซึ่งบางแพลตฟอร์มก็จะมีโครงการพาสตรีมเมอร์ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อให้ซึมซับบรรยากาศและได้ความรู้ รวมถึง 'จดจำ' สิ่งที่ควรต้องจดจำในฐานะชาวจีนให้ได้

5) ห้าม 'แม่วัยใส' ไลฟ์สตรีม สำหรับแพลตฟอร์มที่โด่งดังในหมู่คนชนบทและรายได้น้อย ก่อนหน้านี้ เริ่มมีเทรนด์ที่รัฐบาลเป็นห่วง นั่นก็คือ การที่ Teenage Moms หรือ 'แม่วัยใส' ออกมาไลฟ์สตรีมชีวิตตัวเอง เช่นที่แม่อายุ 14 ปี เริ่มไลฟ์สตรีมจนมีคนติดตามมากมาย ขณะที่ แม่วัยใสที่เป็นที่นิยมที่สุด 'หยาง ชิงหนิง' ก็อายุเพียง 19 ปี และมีผู้ติดตามมากถึง 45 ล้านคนทีเดียว ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลออกมากล่าวโจมตีเทรนด์ดังกล่าวอย่างรุนแรง ก็ทำให้แพลตฟอร์มนี้ออกมาแถลงการณ์ขอโทษ พร้อมทั้งยอมรับว่าแม่วัยใสเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม สำหรับกรณีดังกล่าว หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวแพลตฟอร์มว่าพยายามทำให้แม่วัยใสดูเป็นเรื่องดีและเป็นที่นิยม หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนให้ความเห็นว่า เด็กผู้หญิงในชนบทจำนวนมากยังไม่มีความรู้เรื่องการคุมกำเนิดอย่างเพียงพอ และควรแก้ไขตรงจุดนั้นเสียมากกว่า

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog