ไม่พบผลการค้นหา
เอกชนกังวลเศรษฐกิจไทยทรุดต่อ ปัจจัยลบจากการระบาดรอบใหม่ พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมนำเสนอแนวทางแก้ไขให้กับรัฐบาล

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. มองว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกเม.ย.จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน 

โดยจะกระทบแผนการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยและทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้าทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งกระทบอย่างมากต่อกำลังซื้อเพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน

สุพันธ์ มงคลสุธี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

สุพันธุ์ ชี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศโดยรวม และการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค 

นอกจากนี้ การแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัคซีนจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

"เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป"

ที่ประชุม กกร. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.0% อย่างไรก็ตาม ประมาณการนี้ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายและมาตรการของรัฐที่มีขนาดกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจ

หากไม่มีเม็ดเงินดังกล่าว จีดีพีจะไม่ขยายตัวหรือเติบโต 0% ด้านการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4.0% ถึง 6.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

ตรวจโควิด swap

โดย กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังล่าช้าและแผนงานยังไม่ชัดเจน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานใน 4 ด้าน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

  • 1. คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
  • 2.คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน
  • 3. คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบ Vaccine Passport เพื่อใช้แสดงในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ
  • 4. คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชนในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้วกว่า 5 ล้านโดส มาฉีดให้ฟรี และขอให้ อย. ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาภาครัฐได้อำนวยความสะดวกในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมกับ จะจัดหาวัคซีน COVID-19 อีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติม 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ ภาครัฐดำเนินการไว้แล้ว ซึ่งภาคเอกชนนำโดย กกร. จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย เพื่อช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล