ไม่พบผลการค้นหา
6 พรรคฝ่ายค้าน นำโดย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 13 พ.ค. 2564

เพื่อขอให้ไต่สวนและมีความเห็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 

มาตรา 26, 47, 53, 55, 62, 164, 234 และมาตรา 235 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542, พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520, พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (1), (2) และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เป็น “ภาคต่อ” ของการที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นั่งเรียงหน้ากระดาน จี้ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลุกออกจากตำแหน่งด้วยการ “ลาออก” หลังบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด เป็นผลให้ไวรัสระบาดไปทั่วประเทศ หนักยิ่งกว่า 2 ระลอกแรก 

ประเสริฐ ฝ่ายค้าน ยื่น ปปช  58AD4DF6-9CD9-426B-96CF-E716FDF0BA53.jpeg

เรื่องของเรื่อง 6 พรรคฝ่ายค้าน เปิดรัฐธรรมนูญ 2560 ของ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และพวก ค้นพบว่ามาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การรักษาโควิด-19 ของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนไม่น้อย ที่ยังต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 

สะท้อนจาก “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องออกมาส่งสัญญาณเตือน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 11 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า 

“รัฐบาลจะดูแลค่ารักษาพยาบาล ออกค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนทุกคนตามสิทธิตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การรับวัคซีนการชดเชยกรณีได้รับ ผลข้างเคียงการฉีดวัคซีน และการรักษาพยาบาล ในกรณีโรงพยาบาลเอกชน รัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่าย ไปที่ รพ.เอกชน เพิ่มร้อยละ 25 ทุกรายการ”

“หากมีประกันส่วนบุคคล ให้โรงพยาบาลเรียกเก็บประกันส่วนบุคคลก่อน ที่เหลือให้เรียกเก็บกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่เกิด ความเสียหายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง เสียอวัยวะ พิการ ทุพพลภาพถาวร หรือ เสียชีวิต สามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาได้จาก สปสช. ได้” 

แต่เมื่อการรักษาพยาบาลก่อนหน้านี้ยังมี “ค่าส่วนต่าง” เท่ากับว่า ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 53 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมีกรณีปมขายหน้ากากเกินราคาตั้งแต่โควิด-19 รอบแรก ที่ถูกพ่วงอยู่ในคำร้องไปด้วย 

จึงเข้าข่าย ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยได้ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ตามขั้นตอนเรื่องของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะมี ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูล หากมีความผิดจริง จะเทียบได้กับเคสรุกป่า “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ 

ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 กำหนดว่า เมื่อมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ ถูกกล่าวหา แล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นและจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้

ประยุทธ์  วัคซีน ลาดพร้าว เซ็นทรัล 8000000.jpg

มาตรา 76 “มาตรฐานทางจริยธรรม” อันเป็นต้นเรื่องของ “มาตรฐานจริยธรรม” ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” และคณะเขียนขึ้นมานั้น ต้องการยกระดับต่อมจริยธรรม ตั้งแต่ข้าราชการ องค์กรอิสระ ไปจนถึงนักการเมือง 

“กำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินต้องยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยกำหนดหลักการเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชน ไม่ใช่เป็นผู้ปกครองประชาชนอย่างเช่นในอดีต และในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกัน เพื่อให้การใช้ทรัพยากรมี ประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”

“และกำหนดให้การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐต้อง เป็นไปตามระบบคุณธรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการ แต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

“รวมทั้งกำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทาง จริยธรรมเป็นกฎหมายกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว อันจะทำให้การบริหารงาน บุคคลของหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีเอกภาพและมีแนวปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน”

“หลักการให้หน่วยงานของรัฐทำงานอย่างบูรณาการ ร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และ การกำหนดให้มีประมวลจริยธรรมเป็นหลักการสำคัญที่ใช้กับองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐทั้งปวง”

เรื่องการบริหารโควิดผิดพลาด - ถูกฝ่ายค้านนำไปร้องต่อ ป.ป.ช. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

ซ้ำ คดีเก่าที่มีอยู่แล้วคือ บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ ในค่ายทหาร ที่เป็นชนักติดหลัง พล.อ.ประยุทธ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง